ข้อ 30
ลักษณะอันเป็นความลับของคำขอระหว่างประเทศ
(1) (เอ) ภายใต้บังคับของบทบัญญัติในอนุวรรค (บี) ห้ามมิให้สำนักระหว่างประเทศและองค์กรตรวจค้นระหว่างประเทศอนุญาตให้บุคคลหรือองค์กรใดเข้าถึงคำขอระหว่างประเทศก่อนมีการประกาศโฆษณาระหว่างประเทศของคำขอนั้น เว้นแต่ผู้ยื่นคำขอร้องขอหรืออนุญาตให้ทำได้
(บี) ห้ามมิให้นำบทบัญญัติในอนุวรรค (เอ) มาใช้บังคับกับการจัดส่งไปยังองค์กรตรวจค้นระหว่างประเทศที่มีอำนาจหน้าที่ การจัดส่งตามที่บัญญัติในข้อ 13 และการสื่อสารตามที่บัญญัติในข้อ 20
(2) (เอ) ห้ามมิให้สำนักงานในประเทศยินยอมให้บุคคลภายนอกเข้าถึงคำขอระหว่างประเทศก่อนถึงวันที่กำหนดดังต่อไปนี้ แล้วแต่ว่าวันใดจะเกิดขึ้นก่อน เว้นแต่ผู้ยื่นคำขอร้องขอหรืออนุญาตให้ทำได้
(i) วันประกาศโฆษณาระหว่างประเทศของคำขอระหว่างประเทศ
(ii) วันที่ได้รับการสื่อสารเกี่ยวกับคำขอระหว่างประเทศตามข้อ 20
(iii) วันที่ได้รับสำเนาคำขอระหว่างประเทศตามข้อ 22
(บี) บทบัญญัติในอนุวรรค (เอ) จะต้องไม่ขัดขวางสำนักงานในประเทศใดๆ ที่จะแจ้งให้บุคคลภายนอกทราบว่าสำนักงานนั้นได้รับการมอบหมาย หรือที่จะประกาศโฆษณาข้อเท็จจริงเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลหรือการประกาศโฆษณาดังกล่าวอาจมีแต่เพียงข้อมูลดังต่อไปนี้ก็ได้กล่าวคือ การบ่งชี้สำนักงานรับคำขอ ชื่อผู้ยื่นคำขอ วันยื่นคำขอระหว่างประเทศหมายเลขคำขอระหว่างประเทศ และชื่อการประดิษฐ์
(ซี) บทบัญญัติในอนุวรรค (เอ) จะต้องไม่ขัดขวางสำนักงานที่ได้รับมอบหมายใดๆ
ในการอนุญาตให้มีการเข้าถึงคำขอระหว่างประเทศเพื่อประโยชน์ขององค์กรในกระบวนการ
ยุติธรรม
(3) บทบัญญัติในวรรค (2) (เอ) ให้ใช้บังคับกับสำนักงานรับคำขอใดๆ เว้นแต่จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดส่งตามที่บัญญัติในข้อ 12 (1)
(4) เพื่อประโยชน์แห่งข้อนี้ คำว่า “การเข้าถึง” หมายความรวมถึงวิธีการใดๆ ที่บุคคลภายนอกได้รับรู้ ซึ่งรวมถึงการสื่อสารเฉพาะรายและการประกาศโฆษณาเป็นการทั่วไป แต่
ทั้งนี้ ห้ามมิให้สำนักงานในประเทศใดๆ ประกาศโฆษณาคำขอระหว่างประเทศหรือคำแปลของคำขอระหว่างประเทศเป็นการทั่วไป ก่อนการประกาศโฆษณาระหว่างประเทศ หรือก่อนหน้าวันสิ้นสุดระยะเวลา 20 เดือนนับแต่วันยื่นคำขอครั้งแรก ถ้าไม่มีการประกาศโฆษณาระหว่างประเทศก่อนวันสิ้นสุดระยะเวลา 20 เดือนนับแต่วันยื่นคำขอครั้งแรก
หมวด 2
การตรวจสอบเบื้องต้นระหว่างประเทศ
ข้อ 31
การแสดงความจำนงให้ตรวจสอบเบื้องต้นระหว่างประเทศ
(1) ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอแสดงความจำนง ให้ตรวจสอบเบื้องต้นระหว่างประเทศแก่คำขอระหว่างประเทศของผู้ยื่นคำขอตามที่กำหนดในบทบัญญัติดังต่อไปนี้และข้อบังคับ
(2) (เอ) ผู้ยื่นคำขอซึ่งมีภูมิลำเนาหรือมีสัญชาติตามที่กำหนดในข้อบังคับของรัฐภาคีที่ผูกพันตามความในหมวด 2 ซึ่งได้ยื่นคำขอระหว่างประเทศที่สำนักงานรับคำขอของรัฐนั้นหรือที่กระทำการแทนรัฐนั้น อาจแสดงความจำนงให้ตรวจสอบเบื้องต้นระหว่างประเทศก็ได้
(บี) สมัชชาอาจอนุญาตให้บุคคลผู้มีสิทธิยื่นคำขอระหว่างประเทศแสดงความจำนงให้ตรวจสอบเบื้องต้นระหว่างประเทศได้ แม้ว่าบุคคลนั้นจะเป็นผู้มีภูมิลำเนาหรือสัญชาติของประเทศที่มใช่รัฐภาคีแห่งสนธิสัญญาฉบับนี้ หรือมิใช่รัฐที่ผูกพันตามความในหมวด 2
(3) การแสดงความจำนงให้ตรวจสอบเบื้องต้นระหว่างประเทศนั้น ให้จัดทำโดยแยกต่างหากจากคำขอระหว่างประเทศ คำร้องต้องมีรายละเอียดและใช้ภาษาและรูปแบบตามที่กำหนด
(4) (เอ) การแสดงความจำนงจะต้องระบุชื่อรัฐภาคีต่างๆ ที่ผู้ยื่นคำขอประสงค์จะใช้ผลของการตรวจสอบเบื้องต้นระหว่างประเทศในรัฐนั้น (“รัฐที่ถูกเลือก”) การเลือกรัฐภาคีเพิ่มเติมอาจทำได้ในภายหลัง การเลือกอาจเลือกได้เฉพาะรัฐภาคีที่ถูกมอบหมายแล้วตามข้อ 4 เท่านั้น (บี) ผู้ยื่นคำขอที่กล่าวถึงในวรรค (2) (เอ) อาจเลือกรัฐภาคีใดที่ผูกพันตามความในหมวด 2 ก็ได้ แต่ผู้ยื่นคำขอที่กล่าวถึงในวรรค (2) (บี) อาจเลือกได้เฉพาะรัฐภาคีที่ผูกพันตามความในหมวด 2 ที่ประกาศว่ารัฐนั้นพร้อมที่จะถูกเลือกโดยผู้ยื่นคำขอเหล่านั้นแล้วเท่านั้น
(5) การแสดงความจำนงจะต้องชำระค่าธรรมเนียมตามที่กำหนด ภายในกรอบเวลาที่กำหนด
(6) (เอ) การแสดงความจำนงให้ยื่นต่อองค์กรตรวจสอบเบื้องต้นระหว่างประเทศที่มีอำนาจหน้าที่ซึ่งกล่าวถึงในข้อ 32
(บี) การเลือกในภายหลังให้ยื่นต่อสำนักระหว่างประเทศ
(7) สำนักงานที่ถูกเลือกแต่ละแห่งต้องได้รับแจ้งการเลือกนั้น
ข้อ 32
องค์กรตรวจสอบเบื้องต้นระหว่างประเทศ
(1) การตรวจสอบเบื้องต้นระหว่างประเทศ ให้ดำเนินการโดยองค์กรตรวจสอบเบื้องต้นระหว่างประเทศ
(2) ในกรณีของการแสดงความจำนงที่กล่าวถึงในข้อ 31 (2) (เอ) ให้สำนักงานรับคำขอและในกรณีของคำร้องที่กล่าวถึงในข้อ 31 (2) (บี) ให้สมัชชา ระบุชื่อองค์กรตรวจสอบเบื้องต้นระหว่างประเทศแห่งหนึ่งหรือหลายแห่งที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบเบื้องต้นระหว่างประเทศตามข้อตกลงที่ใช้บังคับระหว่างองค์กรตรวจสอบเบื้องต้นระหว่างประเทศและสำนักระหว่างประเทศ
(3) ให้นำบทบัญญัติข้อ 16 (3) มาใช้บังคับกับองค์กรตรวจสอบเบื้องต้นระหว่างประเทศโดยอนุโลม
ข้อ 33
การตรวจสอบเบื้องต้นระหว่างประเทศ
(1) วัตถุประสงค์ของการตรวจสอบเบื้องต้นระหว่างประเทศ คือ เพื่อจัดทำความเห็นเบื้องต้นโดยไม่มีผลผูกมัดต่อปัญหาที่ว่า การประดิษฐ์ที่ขอถือสิทธินั้นเป็นการประดิษฐ์ใหม่ มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น (ไม่เป็นที่ประจักษ์โดยง่าย) และสามารถประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรมได้หรือไม่
(2) เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบเบื้องต้นระหว่างประเทศ ให้ถือว่าการประดิษฐ์ที่ขอถือสิทธิเป็นการประดิษฐ์ใหม่ ถ้าการประดิษฐ์นั้นไม่เป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้วตามที่กำหนดในข้อบังคับ
(3) เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบเบื้องต้นระหว่างประเทศ ให้ถือว่าการประดิษฐ์ที่ขอถือสิทธิมีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ถ้าพิจารณาจากงานที่ปรากฏอยู่แล้วตามที่กำหนดในข้อบังคับการประดิษฐ์ดังกล่าวไม่เป็นที่ประจักษ์โดยง่ายต่อบุคคลผู้มีความชำนาญในสาขานั้น ณ วันที่เกี่ยวข้องตามที่กำหนด
(4) เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบเบื้องต้นระหว่างประเทศ ให้ถือว่าการประดิษฐ์ที่ขอถือสิทธิสามารถประยุกต์ใช้ได้ในทางอุตสาหกรรม ถ้าหากตามลักษณะของการประดิษฐ์นั้น สามารถทำหรือใช้ (ในด้านเทคโนโลยี) ในอุตสาหกรรมไม่ว่าประเภทใด คำว่า “อุตสาหกรรม” ให้เป็นที่เข้าใจในความหมายกว้างที่สุด ดังเช่นที่ใช้ในอนุสัญญากรุงปารีสว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินอุตสาหกรรม
(5) หลักเกณฑ์ที่อธิบายข้างต้นมีไว้เพื่อประโยชน์ในตรวจสอบเบื้องต้นระหว่างประเทศเท่านั้น รัฐภาคีใดๆ อาจบังคับใช้หลักเกณฑ์ที่เพิ่มเติมหรือแตกต่างไปจากนี้เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยว่า การประดิษฐ์ที่ขอถือสิทธินั้นขอรับสิทธิบัตรในรัฐนั้นได้หรือไม่
(6) การตรวจสอบเบื้องต้นระหว่างประเทศ ให้พิจารณาเอกสารทั้งหมดที่อ้างอิงในรายงานการตรวจค้นระหว่างประเทศ และอาจพิจารณาเอกสารเพิ่มเติมที่เห็นว่าเกี่ยวข้องกับกรณีนั้นๆ ด้วยก็ได้
Next Page
[1] [2] [3] [4] [5] [6] [7] [8] [9] [10] [11] [12] [13] [14] [15] |