Follow Us  


Support:

Sponsorship and Management of the website is performed by Chaninat & Leeds a law firm composed of licensed Thailand Lawyers and international lawyers in Thailand.




 

 

3 พฤษภาคม 2556

พระราชบัญญัติ
สถาบันอุดมศึกษาเอกชน
พ.ศ. ๒๕๔๖
                  
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๖
เป็นปีที่ ๕๘ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
 
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
 
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๕ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
 
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
 
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖"
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน
ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๒๒
(๒) พระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕
มาตรา ๔ ให้สถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามพระราชบัญญัตินี้ และคงมีสภาพเป็นนิติบุคคล
 
มาตรา ๕ ในพระราชบัญญัตินี้
"สถาบันอุดมศึกษาเอกชน" หมายความว่า สถานศึกษาของเอกชนที่ให้การศึกษาระดับปริญญาแก่บุคคลตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไป
"ผู้รับใบอนุญาต" หมายความว่า ผู้ซึ่งได้นำทุนมาจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนและได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน และหมายความรวมถึงผู้รับโอนใบอนุญาตจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
"ใบอนุญาต" หมายความว่า ใบอนุญาตจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
"คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการการอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ
"สภาสถาบัน" หมายความว่า สภาสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
"กรรมการสภาสถาบัน" หมายความว่า กรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
"คณาจารย์" หมายความว่า ศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์พิเศษ รองศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ อาจารย์ และอาจารย์พิเศษ ซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการสอนและการวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
"นักศึกษา" หมายความว่า ผู้ซึ่งเข้ารับการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ซึ่งสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าขั้นพื้นฐานตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ หรือเทียบเท่า หรือผู้ซึ่งสภาสถาบันอนุมัติให้เข้าศึกษาได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด
"พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
"กระทรวง" หมายความว่า กระทรวงศึกษาธิการ
"รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๖ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่สถานศึกษาของเอกชนที่จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระดับปริญญา เว้นแต่สถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ
 
มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวง และประกาศ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

หมวด ๑
การจัดตั้งและเปิดดำเนินการ

มาตรา ๘ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนเป็นสถานศึกษาและวิจัย มีวัตถุประสงค์ในการให้การศึกษาส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน ทำการวิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ
 
มาตรา ๙ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนมีสามประเภทคือ
(๑) มหาวิทยาลัย
(๒) สถาบัน
(๓) วิทยาลัย
ลักษณะของมหาวิทยาลัย สถาบัน และวิทยาลัย ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
มาตรา ๑๐ การจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามมาตรา ๙ ต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ
การขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
มาตรา ๑๑ ในการขอรับใบอนุญาต ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องเสนอโครงการจัดตั้งข้อกำหนดและสาขาวิชาที่จะเปิดสอนมาพร้อมกับคำขอด้วย
ข้อกำหนดของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อและประเภท
(๒) วัตถุประสงค์
(๓) ที่ตั้งและแผนผังแสดงบริเวณและอาคาร
(๔) รายละเอียดเกี่ยวกับที่ดินตามมาตรา ๑๒
(๕) ทุนจากผู้ขอรับใบอนุญาตและโครงการใช้จ่าย
(๖) ตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์
(๗) ครุยวิทยฐานะและเข็มวิทยฐานะ
(๘) โครงการจัดการศึกษาและอุปกรณ์หลักในการจัดการศึกษา
(๙) โครงการจัดหาและพัฒนาผู้บริหาร คณาจารย์และเจ้าหน้าที่
(๑๐) หลักสูตร การสอน และการวัดผลการศึกษา
(๑๑) อัตราค่าเล่าเรียน ค่าบำรุง และค่าธรรมเนียมต่างๆ
(๑๒) วิธีการรับนักศึกษาและให้นักศึกษาพ้นสภาพ
(๑๓) เครื่องแบบนักศึกษาหรือการแต่งกายของนักศึกษา
(๑๔) การกำหนดตำแหน่ง คุณสมบัติของผู้บริหาร คณาจารย์และเจ้าหน้าที่ การกำหนดอัตราเงินเดือน ค่าสอน ค่าชดเชย ค่าตอบแทน หลักเกณฑ์การจ้างและเลิกจ้าง และสวัสดิการของผู้บริหาร คณาจารย์ ผู้ช่วยอาจารย์และเจ้าหน้าที่
(๑๕) รายการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
การแก้ไขข้อกำหนดของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามวรรคสองต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ เว้นแต่ (๘) (๙) (๑๐) (๑๑) (๑๒) (๑๓) (๑๔) และ (๑๕) ให้ได้รับความเห็นชอบจากสภาสถาบัน และต้องแจ้งให้คณะกรรมการทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สภาสถาบันให้ความเห็นชอบ
 
มาตรา ๑๒ ผู้ขอรับใบอนุญาตต้อง
(๑) เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่จะใช้เป็นที่จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
(๒) เป็นผู้มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่า เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้วจะสามารถโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนได้ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๑๖ หรือ
(๓) เป็นผู้เช่าที่ดินจากส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีหลักฐานแสดงให้เห็นว่า เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้วจะสามารถโอนสิทธิตามสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวให้แก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนได้ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๑๖
ที่ดินตามวรรคหนึ่งต้องมีลักษณะและเนื้อที่ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
มาตรา ๑๓ เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว ให้สถาบันอุดมศึกษาเอกชนเป็นนิติบุคคลนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต และให้ผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้แทนของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้นจนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งอธิการบดี
 
มาตรา ๑๔ การเปลี่ยนชื่อหรือเปลี่ยนประเภทสถาบันอุดมศึกษาเอกชนซึ่งได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๓ แล้ว ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ
การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
มาตรา ๑๕ การอนุญาต การเพิกถอนการอนุญาต การเปลี่ยนชื่อ และการเปลี่ยนประเภทสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
มาตรา ๑๖ เมื่อได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๓ แล้ว ให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการดังนี้
(๑) กรณีผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามมาตรา ๑๒ (๑) ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยปลอดจากภาระผูกพันใดๆ ให้แก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นและรัฐมนตรีอนุญาตให้ขยายเวลาออกไปได้ แต่ต้องไม่เกินสามสิบวัน
(๒) กรณีผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้มีหลักฐานตามมาตรา ๑๒ (๒) ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยปลอดจากภาระผูกพันใดๆ ให้แก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นและรัฐมนตรีอนุญาตให้ขยายเวลาออกไปได้ แต่ต้องไม่เกินหกสิบวัน
(๓) กรณีผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้เช่าที่ดินตามมาตรา ๑๒ (๓) ต้องโอนสิทธิการเช่าที่ดินดังกล่าวโดยปลอดจากภาระผูกพันใดๆ ให้แก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาตเว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นและรัฐมนตรีอนุญาตให้ขยายเวลาออกไปได้ แต่ต้องไม่เกินสามสิบวัน
(๔) โอนเงินและทรัพย์สินอื่นซึ่งเป็นทุนนอกจากที่ดินให้แก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนภายในหกสิบวัน
ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) แล้วแต่กรณี ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจเพิกถอนใบอนุญาตได้
 
มาตรา ๑๗ การโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามมาตรา ๑๖ (๑) และ (๒) และการบริจาคอสังหาริมทรัพย์ให้แก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ให้ได้รับยกเว้นภาษีอากรกรณีโอนอสังหาริมทรัพย์โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามประมวลรัษฎากร และได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
 
มาตรา ๑๘ (ยกเลิก)
 
มาตรา ๑๙ การแบ่งส่วนงานและการจัดระบบบริหารงานภายใน ให้เป็นไปตามระเบียบหรือข้อบังคับของสภาสถาบัน
 
มาตรา ๒๐ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนอาจจัดการศึกษาในสาขาวิชาใดนอกสถานที่ตั้งได้ รูปแบบ วิธีการจัด การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๒๑ ชื่อสถาบันอุดมศึกษาเอกชนต้องใช้อักษรไทยและต้องใช้คำว่า "มหาวิทยาลัย""สถาบัน" หรือ "วิทยาลัย" นำหน้าชื่อ
ชื่อสถาบันอุดมศึกษาเอกชนจะใช้อักษรต่างประเทศด้วยก็ได้ โดยได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ
 
มาตรา ๒๒ ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามพระราชบัญญัตินี้ ใช้คำว่า "มหาวิทยาลัย""สถาบัน" หรือ "วิทยาลัย" หรือคำในภาษาต่างประเทศที่มีความหมายอย่างเดียวกันประกอบชื่อ ในดวงตรา ป้ายชื่อ ข้อบังคับ ระเบียบ จดหมาย เอกสาร หรือสื่ออย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๒๓ กิจการของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ ทั้งนี้ ผู้ปฏิบัติงานของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนต้องได้รับผลประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน
การคุ้มครองการทำงาน และผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง

Next Page
[1]  [2]  [3]  [4]  [5]  [6]

 

For any submissions, comments, or questions, e-mail the Thailand Law Forum at: info@thailawforum.com Please read our Disclaimer.

© Copyright Thailand Law Forum, All Rights Reserved
(except where the work is the individual works of the authors as noted)