หมวด ๒
คณะกรรมการ
มาตรา ๒๔ ให้คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ให้ความเห็นชอบในกรณีที่พระราชบัญญัตินี้กำหนดไว้ให้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ
(๒) เสนอความเห็นหรือให้คำแนะนำต่อรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงและประกาศเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
(๓) รับรองวิทยฐานะสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามมาตรฐานการศึกษาที่กระทรวงกำหนด
(๔) ออกระเบียบและข้อบังคับเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
(๕) เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกิจการของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่สิทธิของบุคคลทั่วไป ในการนี้จะระบุชื่อสถาบันอุดมศึกษาเอกชนด้วยก็ได้
(๖) ปฏิบัติงานอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ
มาตรา ๒๕ ให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาทำหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของคณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๒๖ ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการอื่น หรือคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้ และเมื่อได้ดำเนินการประการใดแล้วให้รายงานให้คณะกรรมการทราบด้วย
การประชุมของคณะกรรมการอื่น หรือคณะอนุกรรมการ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๒๗ ให้คณะกรรมการ คณะกรรมการอื่น และคณะอนุกรรมการ มีอำนาจเรียกบุคคลใดๆ มาให้ถ้อยคำหรือแจ้งให้บุคคลใดๆ ส่งเอกสารหรือหลักฐานที่จำเป็นแก่การดำเนินการตามอำนาจและหน้าที่
หมวด ๓
การดำเนินงาน
มาตรา ๒๘ ให้มีสภาสถาบันในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแต่ละแห่งประกอบด้วย
(๑) นายกสภาสถาบัน ซึ่งผู้รับใบอนุญาตเสนอชื่อ
(๒) อธิการบดี เป็นกรรมการสภาสถาบันโดยตำแหน่ง
(๓) กรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่น้อยกว่าเจ็ดคนแต่ไม่เกินสิบสี่คนซึ่งผู้รับใบอนุญาตเสนอชื่อ ทั้งนี้ ให้มีคณาจารย์ประจำอย่างน้อยหนึ่งคน
(๔) กรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินสามคนซึ่งรัฐมนตรีเลือกจากบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะกรรมการเห็นชอบ
ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งนายกสภาสถาบันตาม (๑) และกรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิตาม (๓) และ (๔)
ให้สภาสถาบันเลือกกรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิคนหนึ่งเป็นอุปนายกสภาสถาบันเพื่อทำหน้าที่แทนนายกสภาสถาบัน เมื่อนายกสภาสถาบันไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบัน
ให้สภาสถาบันแต่งตั้งผู้บริหารของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนคนหนึ่งเป็นเลขานุการ โดยคำแนะนำของอธิการบดี
มาตรา ๒๙ เมื่อรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการสภาสถาบันตามมาตรา ๒๘ (๑) และกรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๒๘ (๓) และ (๔) แล้ว ให้นายกสภาสถาบันจัดให้มีการประชุมกรรมการสภาสถาบันเพื่อแต่งตั้งอธิการบดี
การประชุมกรรมการสภาสถาบันครั้งแรกให้ดำเนินการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนได้รับแจ้งคำสั่งแต่งตั้งนายกสภาสถาบัน และกรรมการสภาสถาบัน ผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๒๘
มาตรา ๓๐ กรรมการสภาสถาบันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องมีสัญชาติไทย
กรรมการสภาสถาบันต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรีและต้องไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี
ผู้รับใบอนุญาตซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาอาจได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสภาสถาบันตามมาตรา ๒๘ (๓) หรือ (๔) ได้ แต่ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามวรรคสอง
มาตรา ๓๑ นายกสภาสถาบันและกรรมการสภาสถาบันตามมาตรา ๒๘ (๓) และ (๔) มีวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
มาตรา ๓๒ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๓๑ นายกสภาสถาบันและกรรมการสภาสถาบันตามมาตรา ๒๘ (๓) หรือ (๔) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) เป็นบุคคลล้มละลาย คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๔) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๕) รัฐมนตรีสั่งให้ออกเมื่อเห็นว่าขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๓๐
(๖) รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามมาตรา ๘๖
ในกรณีที่นายกสภาสถาบันหรือกรรมการสภาสถาบันตามมาตรา ๒๘ (๓) หรือ (๔) พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ รัฐมนตรีอาจแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติตามมาตรา ๓๐ เป็นนายกสภาสถาบันหรือกรรมการสภาสถาบันแทนได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา ๒๘ และให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเพียงเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน
ในกรณีที่รัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการสภาสถาบันเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการสภาสถาบันซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเพียงเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการสภาสถาบันที่แต่งตั้งไว้แล้ว
ในกรณีที่กรรมการสภาสถาบันพ้นจากตำแหน่งตามวาระ แต่ยังมิได้แต่งตั้งกรรมการสภาสถาบันขึ้นใหม่ ให้กรรมการสภาสถาบันซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งซึ่งพ้นจากตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการสภาสถาบันขึ้นใหม่
มาตรา ๓๓ ให้นายกสภาสถาบันเป็นผู้เรียกประชุมกรรมการสภาสถาบัน
การประชุมกรรมการสภาสถาบันต้องมีกรรมการสภาสถาบันมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสภาสถาบันทั้งหมด
ให้นายกสภาสถาบันเป็นประธานในที่ประชุม ในกรณีที่นายกสภาสถาบันไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้อุปนายกสภาสถาบันทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ถ้านายกสภาสถาบันและอุปนายกสภาสถาบันไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการสภาสถาบันซึ่งมาประชุมเลือกกรรมการสภาสถาบันคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก
กรรมการสภาสถาบันคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
ให้มีการประชุมกรรมการสภาสถาบันอย่างน้อยปีละสี่ครั้ง
มาตรา ๓๔ สภาสถาบันมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง
(๑) อนุมัติแผนพัฒนาของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
(๒) ออกข้อกำหนด ระเบียบ และข้อบังคับเกี่ยวกับการดำเนินงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
(๓) จัดสรรทุนออกเป็นกองทุนประเภทต่างๆ และออกข้อบังคับเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินของกองทุน
(๔) อนุมัติแผนการเงิน งบดุล งบการเงินประจำปีของกองทุนประเภทต่างๆ
(๕) อนุมัติการโอนเงินของกองทุนประเภทหนึ่งไปเป็นของกองทุนอีกประเภทหนึ่ง
(๖) อนุมัติหลักสูตรและการปรับปรุงหลักสูตรตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด
(๗) อนุมัติการรับนักศึกษา การให้ประกาศนียบัตร อนุปริญญา ปริญญา หรือประกาศนียบัตรบัณฑิต
(๘) อนุมัติการให้ปริญญากิตติมศักดิ์แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ
(๙) อนุมัติการจัดตั้ง ยุบ รวม และเลิกส่วนงานภายใน
(๑๐) อนุมัติความร่วมมือทางวิชาการหรือความร่วมมืออื่นกับสถาบันการศึกษาหรือบุคคลใดตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด
(๑๐/๑) อนุมัติการลงทุนหรือร่วมลงทุนกับนิติบุคคลหรือหน่วยงานอื่นเพื่อดำเนินกิจการที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับกิจการของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือนำผลการค้นคว้าวิจัยไปเผยแพร่หรือหาประโยชน์เพื่อเป็นรายได้ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
(๑๑) สนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาเอกชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาโดยระดมทรัพยากรบุคคลจากในประเทศและต่างประเทศ การนำประสบการณ์ ความรอบรู้ ความชำนาญและภูมิปัญญาของบุคคลดังกล่าวมาใช้เพื่อเพิ่มคุณภาพบัณฑิต
(๑๒) อนุมัติการรับหรือการเข้าสมทบกับสถาบันการศึกษาในประเทศหรือต่างประเทศตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด
(๑๓) พิจารณาเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการในการแก้ไขข้อกำหนดตามมาตรา ๑๑ วรรคสาม
(๑๔) พิจารณาเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งและถอดถอนศาสตราจารย์และศาสตราจารย์พิเศษ
(๑๕) แต่งตั้งและถอดถอนอธิการบดี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ และถอดถอนคณาจารย์ประจำตามมาตรา ๙๗
(๑๖) ให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งและถอดถอนรองอธิการบดี และผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า
(๑๗) ให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งและถอดถอนรองศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ
(๑๘) ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาหรือให้ทุนการศึกษาแก่ผู้ด้อยโอกาสและบุคคลผู้มีความสามารถพิเศษ
(๑๙) ออกข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเกี่ยวกับการกำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน สวัสดิการ ประโยชน์เกื้อกูลอื่น วินัย หลักเกณฑ์ การจ้าง และการเลิกจ้างของผู้บริหาร คณาจารย์ ผู้ช่วยอาจารย์และเจ้าหน้าที่
(๒๐) พัฒนาความสามารถของคณาจารย์ บุคลากรและคุณภาพของบัณฑิตเพื่อการผลิตบุคลากรที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ
(๒๑) ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย การฝึกอบรมคณาจารย์และบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการชุมชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน
(๒๒) ส่งเสริมสนับสนุนการผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการและประสานความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถานประกอบการกับสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
(๒๓) ให้มีระบบประกันคุณภาพภายในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน โดยให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการประเมินคุณภาพสถาบันอุดมศึกษาตามข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
(๒๔) พิจารณาวิธีที่จะทำให้การศึกษา การวิจัย และการฝึกอบรมของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเจริญก้าวหน้าและมีคุณภาพทางวิชาการยิ่งขึ้น
(๒๕) ปฏิบัติหน้าที่อื่นเกี่ยวกับกิจการของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มิได้ระบุให้เป็นหน้าที่ของผู้ใดโดยเฉพาะ
มาตรา ๓๕ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ สภาสถาบันจะแต่งตั้งคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเพื่อให้กระทำการใดๆ ตามที่มอบหมายก็ได้ และเมื่อได้ดำเนินการประการใดแล้วให้รายงานให้สภาสถาบันทราบ ทั้งนี้ ให้นำมาตรา ๓๓ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๓๖ ให้มีคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการประจำสถาบันอุดมศึกษาเอกชนประกอบด้วย
(๑) ประธานกรรมการ ซึ่งสภาสถาบันแต่งตั้งจากกรรมการสภาสถาบัน
(๒) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้นจำนวนไม่น้อยกว่าหกคนแต่ไม่เกินสิบสองคน
ให้อธิการบดีแต่งตั้งคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนคนหนึ่งเป็นเลขานุการ
คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการได้มาของกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการประจำสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๓๗ กรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการประจำสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามมาตรา ๓๖ มีวาระการดำรงตำแหน่งสามปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
การแต่งตั้งกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการประจำสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ซึ่งพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ และการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการประจำสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเมื่อดำรงตำแหน่งครบวาระ ให้นำมาตรา ๓๒ วรรคสอง และวรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๓๘ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการประจำสถาบันอุดมศึกษาเอกชนมีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(๑) พิจารณาเกี่ยวกับตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
(๒) พิจารณาและวินิจฉัยเกี่ยวกับการอุทธรณ์ตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
(๓) พิจารณาเทียบตำแหน่งทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนอื่นเข้าสู่ระบบของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
การประชุมและการดำเนินงานของคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการประจำสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
Next Page
[1] [2] [3] [4] [5] [6] |