Follow Us  


Support:

Sponsorship and Management of the website is performed by Chaninat & Leeds a law firm composed of licensed Thailand Lawyers and international lawyers in Thailand.




 

 

หมวด ๘
บทกำหนดโทษ

มาตรา ๑๒๑ ผู้ใดประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์โดยมิได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท
 
มาตรา ๑๒๒ สถาบันการเงินใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งพันบาทตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
 
มาตรา ๑๒๓ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่
 
มาตรา ๑๒๔ สถาบันการเงินใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๓ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง มาตรา ๓๗ มาตรา ๘๑ หรือมาตรา ๘๒ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ ข้อกำหนดหรือหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามมาตรา ๑๕ วรรคสอง มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง มาตรา ๓๗ หรือมาตรา ๘๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละสามพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
 
มาตรา ๑๒๕ สถาบันการเงินใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๐ มาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๒ มาตรา ๓๘ มาตรา ๔๐ วรรคหนึ่ง มาตรา ๔๑ มาตรา ๔๔ มาตรา ๔๗ หรือมาตรา ๘๔ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ ข้อกำหนด หรือหลักเกณฑ์ที่กำหนดตาม มาตรา ๓๘ มาตรา ๓๙ มาตรา ๔๐ วรรคสอง มาตรา ๔๑ มาตรา ๔๖ มาตรา ๔๗ หรือมาตรา ๘๔ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
 
มาตรา ๑๒๖ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๔ มาตรา ๕๔ หรือมาตรา ๕๖ หรือบริษัทแม่ของสถาบันการเงินที่ปฏิบัติฝ่าฝืนมาตรา ๕๕ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปีหรือปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกไม่เกินวันละสามพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ แล้วแต่กรณี
 
มาตรา ๑๒๗ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๖ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละสามพันบาทจนกว่าจะได้มีการปฏิบัติให้ถูกต้อง
 
มาตรา ๑๒๘ สถาบันการเงินใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๖ มาตรา ๒๔ มาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๙ มาตรา ๓๐ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๔๓ มาตรา ๔๘ มาตรา ๔๙ มาตรา ๕๐ มาตรา ๕๑ มาตรา ๕๘ มาตรา ๕๙ มาตรา ๖๐ มาตรา ๖๑ มาตรา ๖๒ มาตรา ๖๓ มาตรา ๖๔ มาตรา ๖๖ มาตรา ๖๗ มาตรา ๖๘ มาตรา ๗๑ มาตรา ๗๓ วรรคหนึ่ง มาตรา ๗๔ มาตรา ๗๘ มาตรา ๘๐ มาตรา ๙๓ มาตรา ๙๔ หรือมาตรา ๙๕ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ ข้อกำหนด หลักเกณฑ์ เงื่อนไข หรือคำสั่งที่กำหนดตามมาตรา ๙ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง มาตรา ๑๖ มาตรา ๒๙ มาตรา ๓๐ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ วรรคหนึ่ง มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๔๒ มาตรา ๔๓ มาตรา ๔๘ มาตรา ๔๙ มาตรา ๕๐ มาตรา ๕๑ มาตรา ๕๘ มาตรา ๕๙ มาตรา ๖๐ มาตรา ๖๑ มาตรา ๖๒ มาตรา ๖๓ มาตรา ๖๔ มาตรา ๖๖ มาตรา ๖๗ มาตรา ๗๑ มาตรา ๗๓ วรรคหนึ่ง มาตรา ๗๔ วรรคสอง มาตรา ๗๘ มาตรา ๘๐ มาตรา ๘๙ มาตรา ๙๐ (๑) (๓) และ (๔) มาตรา ๙๕ หรือมาตรา ๙๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
 
มาตรา ๑๒๙ ในกรณีที่มีการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๒๐ มาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒ มาตรา ๓๔ มาตรา ๔๘ มาตรา ๔๙ มาตรา ๕๐ หรือมาตรา ๕๙ แล้วแต่กรณี โดยที่สถาบันการเงินสามารถพิสูจน์ได้ว่าได้ใช้ความระมัดระวังด้วยความรอบคอบในการตรวจสอบผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ไม่สามารถทราบและป้องกันมิให้เกิดการฝ่าฝืนดังกล่าวได้ ให้ถือว่าสถาบันการเงินมิได้กระทำความผิดตามมาตราดังกล่าว
 
มาตรา ๑๓๐ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามมาตรา ๕๖ หรือมาตรา ๕๗ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
 
มาตรา ๑๓๑ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๐๔ หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินหรือพนักงานควบคุมสถาบันการเงินตามมาตรา ๑๑๔ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกไม่เกินวันละสามพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่
 
มาตรา ๑๓๒ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๑๒๑ หรือมาตรา ๑๒๓ เป็นนิติบุคคล กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดนั้น
ภายใต้บังคับมาตรา ๑๓๙ ในกรณีที่สถาบันการเงินกระทำความผิดตามมาตรา ๑๒๒ มาตรา ๑๒๔ มาตรา ๑๒๕ หรือมาตรา ๑๒๘ กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินนั้น ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดนั้น
 
มาตรา ๑๓๓ ความผิดตามมาตรา ๑๒๒ มาตรา ๑๒๔ มาตรา ๑๒๕ มาตรา ๑๒๘ และมาตรา ๑๓๒ วรรคสอง ถ้ามิได้ฟ้องต่อศาลหรือมิได้มีการเปรียบเทียบตามมาตรา ๑๕๖ ภายในสองปีนับแต่วันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยตรวจพบการกระทำความผิด หรือภายในห้าปีนับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ
 
มาตรา ๑๓๔ ผู้ใดให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จต่อผู้ตรวจการสถาบันการเงินหรือคณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงิน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา ๑๓๕ ผู้ใดขัดขวางหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ตรวจการสถาบันการเงิน คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงิน หรือพนักงานควบคุมสถาบันการเงิน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา ๑๓๖ ผู้ใดไม่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ตรวจการสถาบันการเงิน บุคคลตามมาตรา ๘๕ วรรคสาม คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงิน หรือพนักงานควบคุมสถาบันการเงิน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา ๑๓๗ ผู้ใดถอน ทำให้เสียหาย ทำลาย หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งตราหรือเครื่องหมายซึ่งผู้ตรวจการสถาบันการเงิน คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงิน หรือพนักงานควบคุมสถาบันการเงินได้ประทับหรือหมายไว้ที่สิ่งนั้น ๆ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
 มาตรา ๑๓๘ ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินหรือเอกสารใด ๆ อันผู้ตรวจการสถาบันการเงิน คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงิน หรือพนักงานควบคุมสถาบันการเงินได้ยึด อายัด รักษาไว้ หรือสั่งให้ส่งเพื่อเป็นพยานหลักฐานหรือเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จะรักษาทรัพย์สินหรือเอกสารนั้นไว้เอง หรือสั่งให้ผู้นั้นหรือผู้อื่นส่งหรือรักษาไว้ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา ๑๓๙ ในกรณีที่สถาบันการเงินใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๖ มาตรา ๕๐ มาตรา ๖๖ มาตรา ๘๐ มาตรา ๙๓ มาตรา ๙๔ หรือมาตรา ๙๕ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ ข้อกำหนด หลักเกณฑ์ หรือคำสั่งที่กำหนดตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๖ มาตรา ๕๐ มาตรา ๖๖ มาตรา ๗๑ มาตรา ๘๐ มาตรา ๙๐ หรือมาตรา ๙๕ กรรมการ ผู้จัดการหรือผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดนั้น
 
มาตรา ๑๔๐ กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แก่ประชาชนทราบ และโดยการหลอกลวงดังกล่าวนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ประชาชนผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท
 
มาตรา ๑๔๑ กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินผู้ใดซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของสถาบันการเงินหรือทรัพย์สินที่สถาบันการเงินเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใด ๆ โดยทุจริตจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของสถาบันการเงิน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท
 
มาตรา ๑๔๒ กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของสถาบันการเงินหรือซึ่งสถาบันการเงินเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท
 
มาตรา ๑๔๓ กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินผู้ใดเอาไปเสีย ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินอันสถาบันการเงินมีหน้าที่ดูแลหรือที่อยู่ในความครอบครองของสถาบันการเงิน ถ้าได้กระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินห้าแสนบาท
 มาตรา ๑๔๔ กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้ โดยรู้ว่าเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินหรือเจ้าหนี้ของบุคคลอื่น ซึ่งจะใช้สิทธิของเจ้าหนี้สถาบันการเงินบังคับการชำระหนี้จากสถาบันการเงิน หรือใช้หรือน่าจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ เพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท
(๑) ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์สินของสถาบันการเงิน หรือ
(๒) ลงบัญชีหรือกระทำการอื่นใดซึ่งทำให้ปรากฏว่าสถาบันการเงินเป็นหนี้ซึ่งไม่เป็นความจริง
 
มาตรา ๑๔๕ กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินผู้ใดกระทำการหรือไม่กระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการเสียหายแก่สถาบันการเงิน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท
 
มาตรา ๑๔๖ กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินผู้ใดกระทำหรือยินยอมให้กระทำการดังต่อไปนี้เพื่อลวงให้สถาบันการเงินหรือผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ หรือลวงบุคคลใด ๆ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท
(๑) ทำให้เสียหาย ทำลาย เปลี่ยนแปลง ตัดทอน หรือปลอมบัญชี เอกสารหรือหลักประกันของสถาบันการเงินหรือที่เกี่ยวกับสถาบันการเงิน
(๒) ลงข้อความเท็จหรือไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชี หรือเอกสารของสถาบันการเงิน หรือ
(๓) ทำบัญชีไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นปัจจุบัน หรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง
 
มาตรา ๑๔๗ ความผิดตามมาตรา ๑๔๐ มาตรา ๑๔๑ มาตรา ๑๔๒ มาตรา ๑๔๓ มาตรา ๑๔๔ มาตรา ๑๔๕ หรือมาตรา ๑๔๖ หากผู้กระทำเป็นพนักงานของสถาบันการเงินต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น
 
มาตรา ๑๔๘ ผู้สอบบัญชี หรือผู้ประเมินราคา หรือผู้ชำนาญการเฉพาะด้านผู้ใดปฏิบัติงานสอบบัญชีเพื่อแสดงความเห็นต่องบการเงินไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายว่าด้วยผู้สอบบัญชีหรือข้อกำหนดเพิ่มเติมตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด หรือทำรายงานเท็จหรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖๙ หรือมาตรา ๗๐ หรือมาตรา ๗๑ หรือประเมินราคาทรัพย์สินโดยไม่สุจริต แล้วแต่กรณี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา ๑๔๙ ผู้ใดก่อให้กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินหรือผู้ชำนาญการเฉพาะด้านของสถาบันการเงิน กระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๐ มาตรา ๑๔๑ มาตรา ๑๔๒ มาตรา ๑๔๓ มาตรา ๑๔๔ มาตรา ๑๔๕ มาตรา ๑๔๖ หรือมาตรา ๑๔๘ ไม่ว่าด้วยการใช้ สั่ง ขู่เข็ญ จ้าง หรือด้วยวิธีอื่นใด ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น
 
มาตรา ๑๕๐ ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่กรรมการ ผู้จัดการ ผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงิน ผู้สอบบัญชี หรือผู้ชำนาญการเฉพาะด้านของสถาบันการเงิน กระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๐ มาตรา ๑๔๑ มาตรา ๑๔๒ มาตรา ๑๔๓ มาตรา ๑๔๔ มาตรา ๑๔๕ มาตรา ๑๔๖ หรือมาตรา ๑๔๘ ไม่ว่าก่อนหรือขณะกระทำความผิด ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ เว้นแต่ผู้นั้นมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้น
 
มาตรา ๑๕๑ ความผิดมาตรา ๑๔๐ มาตรา ๑๔๑ มาตรา ๑๔๒ มาตรา ๑๔๓ มาตรา ๑๔๔ มาตรา ๑๔๕ มาตรา ๑๔๖ หรือมาตรา ๑๔๘ มาตรา ๑๔๙ และมาตรา ๑๕๐ เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา ให้พนักงานอัยการมีอำนาจเรียกทรัพย์สิน หรือราคาหรือค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายแทนผู้เสียหายด้วย และให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล
 
มาตรา ๑๕๒ ในกรณีที่ปรากฏว่าบุคคลใดกระทำความผิดตามมาตรา ๑๔๐ มาตรา ๑๔๑ มาตรา ๑๔๒ มาตรา ๑๔๓ มาตรา ๑๔๔ มาตรา ๑๔๕ มาตรา ๑๔๖ หรือมาตรา ๑๔๘ มาตรา ๑๔๙ และมาตรา ๑๕๐ และธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่าหากปล่อยเนิ่นช้าไว้อาจเกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชน ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของบุคคลนั้นหรือทรัพย์สินซึ่งตามกฎหมายอาจถือได้ว่าเป็นของบุคคลนั้น หรือตามพฤติการณ์ที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นของบุคคลนั้น แต่จะยึดหรืออายัดทรัพย์สินเกินกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวันไม่ได้ เว้นแต่ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาล ให้คำสั่งยึดหรืออายัดดังกล่าวยังคงมีผลต่อไปจนกว่าศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น ในกรณีมีเหตุจำเป็นทำให้ไม่สามารถฟ้องคดีภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันได้ ศาลที่มีเขตอำนาจอาจสั่งขยายระยะเวลาออกไปอีกตามคำขอของธนาคารแห่งประเทศไทยได้
ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง
การกำหนดวิธีการในการดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินและการกำหนดจำนวนเงินที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีพและเลี้ยงดูครอบครัวของบุคคลที่ถูกยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
ผู้ใดทำลาย ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ โอนให้แก่บุคคลอื่นหรือกระทำการใด ๆ ให้เสียหายแก่ทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท
 
มาตรา ๑๕๓ ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลตามมาตรา ๑๕๒ จะหลบหนีออกนอกราชอาณาจักร ศาลอาญาโดยคำร้องขอของธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจสั่งห้ามมิให้บุคคลนั้นออกนอกราชอาณาจักรไว้ก่อนได้
ในกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติโดยคำร้องขอของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือบุคคลที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมอบหมาย มีอำนาจสั่งห้ามมิให้บุคคลตามมาตรา ๑๕๒ ออกนอกราชอาณาจักรไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวได้เป็นเวลาไม่เกินสิบห้าวันจนกว่าศาลอาญาจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งของศาลอาญาตามวรรคหนึ่งหรือของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตามวรรคสองหรือผู้ให้ความช่วยเหลือบุคคลดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท
 
มาตรา ๑๕๔ ผู้ใดล่วงรู้กิจการของสถาบันการเงินใดเนื่องจากการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดในกฎหมายหรือเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการช่วยเหลือผู้ที่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดในกฎหมาย อันเป็นกิจการที่ตามปกติวิสัยจะพึงสงวนไว้ไม่เปิดเผย ถ้าผู้นั้นนำไปเปิดเผยแก่บุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่การเปิดเผยในกรณี ดังต่อไปนี้
(๑) การเปิดเผยตามหน้าที่หรือเพื่อประโยชน์แก่การสอบสวนหรือการพิจารณาคดี
(๒) การเปิดเผยเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
(๓) การเปิดเผยแก่ผู้สอบบัญชีของสถาบันการเงินนั้นหรือหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับสถาบันการเงินนั้น
(๔) การเปิดเผยข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับสถาบันการเงิน หรือธุรกิจทางการเงิน ตามข้อตกลงที่มีระหว่างกัน
(๕) การเปิดเผยเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขฐานะการดำเนินงานของสถาบันการเงินนั้น
(๖) การเปิดเผยเพื่อประโยชน์ในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน
(๗) การเปิดเผยความลับของลูกค้าสถาบันการเงินที่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนแล้ว
(๘) การเปิดเผยความลับของลูกค้าของสถาบันการเงินซึ่งลูกค้าดังกล่าวให้ความยินยอมแล้ว
(๙) การเปิดเผยให้แก่บริษัทที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจทางการเงินเดียวกัน
(๑๐) การเปิดเผยเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
 
มาตรา ๑๕๕ ผู้ใดล่วงรู้หรือได้มาซึ่งความลับของสถาบันการเงินโดยเหตุที่เป็นผู้มีอำนาจในการจัดการหรือเป็นพนักงาน และเปิดเผยความลับนั้นในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับการเปิดเผยตามกรณีในมาตรา ๑๕๔ วรรคสอง
 
มาตรา ๑๕๖ ความผิดตามมาตรา ๑๒๒ มาตรา ๑๒๔ มาตรา ๑๒๕ มาตรา ๑๒๘ มาตรา ๑๓๒ วรรคสอง และมาตรา ๑๓๙ ให้คณะกรรมการที่รัฐมนตรีแต่งตั้งมีอำนาจเปรียบเทียบได้
คณะกรรมการที่รัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งให้มีจำนวนสามคน โดยอย่างน้อยต้องเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหนึ่งคน
เมื่อคณะกรรมการได้ทำการเปรียบเทียบ และผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

บทเฉพาะกาล

มาตรา ๑๕๗ ให้ถือว่าธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ แล้วแต่กรณีอยู่แล้วในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประเภทนั้นตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๑๕๘ บรรดากฎกระทรวง ประกาศกระทรวงการคลัง และประกาศ หนังสือเวียน คำสั่ง หรือข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ บรรดาที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะได้มีการออกประกาศ หรือคำสั่งตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๑๕๙ สถาบันการเงินใดได้รับการผ่อนผันให้ลงทุน หรือซื้อ หรือมีหุ้นเกินอัตราส่วนตามมาตรา ๓๔ อยู่แล้วในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้สถาบันการเงินมีสิทธิถือหรือมีไว้ต่อไปตามหลักเกณฑ์ที่ได้รับการผ่อนผัน แต่ต้องไม่เกินกำหนดห้าปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ในกรณีที่สถาบันการเงินใดได้รับผ่อนผันให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ เกินอัตราส่วนตามมาตรา ๕๐ อยู่แล้วในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้สถาบันการเงินนั้นคงให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำ
ธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ ตามสัญญาที่ผูกพันไว้แล้วต่อไปได้จนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ตามที่ระบุในสัญญาดังกล่าว
สถาบันการเงินใดให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ แก่บุคคลใดและผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าวรวมกันเกินอัตราที่กำหนดตามมาตรา ๔๙ หรือมาตรา ๕๐ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยการให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์หรือกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น สถาบันการเงินดังกล่าวจะให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อแก่บุคคลหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าวอีกไม่ได้ และต้องดำเนินการเพื่อทำให้การให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำ
ธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อดังกล่าวเป็นไปตามที่บัญญัติในมาตรา ๔๙ หรือมาตรา ๕๐ โดยเร็ว แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
สถาบันการเงินใดได้รับผ่อนผันให้มีไว้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์อยู่แล้วในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้สถาบันการเงินดังกล่าวมีไว้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นต่อไปได้ตามหลักเกณฑ์ที่ได้รับการผ่อนผันนั้น
 
มาตรา ๑๖๐ บริษัทเงินทุนใดที่ได้รับใบอนุญาตอยู่แล้วในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ประกอบธุรกิจได้ตามที่ได้รับอนุญาตไว้แล้ว
 
มาตรา ๑๖๑ บริษัทที่มิได้ประกอบธุรกิจทางการเงิน แต่ได้รับการผ่อนผันให้ถือหุ้นในสถาบันการเงินใดเกินอัตราที่กำหนดในมาตรา ๑๘ อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ถือหุ้นของสถาบันการเงินนั้นได้ต่อไป และอาจซื้อหุ้นเพิ่มทุนเพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นที่มีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับได้ แต่ถ้าได้จำหน่ายหุ้นนั้นไปเท่าใดให้คงมีสิทธิถือหุ้นเกินอัตราที่กำหนดได้เท่าจำนวนหุ้นที่เหลืออยู่นั้น
ห้ามมิให้บริษัทตามวรรคหนึ่งซื้อหุ้นของสถาบันการเงินที่ตนถืออยู่เพิ่ม เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ได้รับการผ่อนผันตามวรรคหนึ่ง
 
มาตรา ๑๖๒ บุคคลใดถือหุ้นหรือมีไว้ซึ่งหุ้นของสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่งเกินอัตราที่กำหนดตามมาตรา ๑๘ เนื่องจากการนับรวมหุ้นที่ผู้ที่เกี่ยวข้องถืออยู่หรือมีไว้อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยการถืออยู่หรือมีไว้ซึ่งหุ้นของสถาบันการเงินดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ให้คงมีสิทธิถือหรือมีไว้ซึ่งหุ้นนั้นได้ต่อไป แต่ถ้าได้จำหน่ายหุ้นนั้นไปเท่าใดก็ให้คงมีสิทธิถือหรือมีไว้ซึ่งหุ้นนั้นเกินอัตราที่กำหนดได้เท่าจำนวนหุ้นที่เหลือ และให้บุคคลดังกล่าวต้องดำเนินการเพื่อให้การถือหรือมีไว้ซึ่งหุ้นดังกล่าวเป็นไปตามที่บัญญัติในมาตรา ๑๘ โดยเร็วแต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
 
มาตรา ๑๖๓ ในขณะที่ยังมิได้จัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก หากมีบทบัญญัติมาตราใดในพระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้เป็นภารกิจและอำนาจหน้าที่ของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ให้ภารกิจและอำนาจหน้าที่ดังกล่าวเป็นของกระทรวงการคลังจนกว่าจะมีการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากขึ้น

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ และกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ แล้วแต่กรณี จึงทำให้การกำกับดูแลแตกต่างกัน แต่โดยที่การดำเนินกิจการของสถาบันการเงินควรมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ประสบปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงอันมีผลกระทบโดยตรงต่อสถาบันการเงิน และกระทบกระเทือนความเชื่อมั่นของประชาชนและผู้ฝากเงินที่มีต่อระบบสถาบันการเงินโดยรวม ดังนั้น สมควรปรับปรุงมาตรการในการกำกับดูแลสถาบันการเงินดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์และกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และรวมเป็นฉบับเดียวกัน เพื่อให้การควบคุมดูแลเป็นมาตรฐานเดียวกัน ตลอดจนแก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษสำหรับความผิดที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

Index Page
[1]  [2]  [3]
  [4]  [5]  [6]  [7]  [8]  [9]

 

For any submissions, comments, or questions, e-mail the Thailand Law Forum at: info@thailawforum.com Please read our Disclaimer.

© Copyright Thailand Law Forum, All Rights Reserved
(except where the work is the individual works of the authors as noted)