Follow Us  


Support:

Sponsorship and Management of the website is performed by Chaninat & Leeds a law firm composed of licensed Thailand Lawyers and international lawyers in Thailand.




 

 

หมวด ๖
การเข้าควบคุมสถาบันการเงิน

มาตรา ๑๐๐ ในหมวดนี้
"สถาบันคุ้มครองเงินฝาก" หมายความว่า สถาบันคุ้มครองเงินฝากตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
 
มาตรา ๑๐๑ เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งควบคุมสถาบันการเงินใดแล้ว ให้แจ้งคำสั่งเป็นหนังสือให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากและสถาบันการเงินนั้นทราบ และปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานของสถาบันการเงินนั้น รวมทั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษาและในสื่อใด ๆ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
ในกรณีที่สถาบันการเงินตามวรรคหนึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งคำสั่งเป็นหนังสือแก่ตลาดหลักทรัพย์ด้วย
 
มาตรา ๑๐๒ เมื่อมีการออกคำสั่งควบคุมสถาบันการเงินใดแล้ว ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินนั้น ซึ่งประกอบด้วยประธานกรรมการหนึ่งคนและกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่าสองคนแต่ไม่เกินสี่คน โดยให้มีกรรมการที่สถาบันคุ้มครองเงินฝากเสนอชื่ออย่างน้อยหนึ่งคน
ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศแต่งตั้งกรรมการคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน
มติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
 
มาตรา ๑๐๓ กรรมการควบคุมสถาบันการเงินจะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับกรรมการของสถาบันการเงินตามมาตรา ๒๔ และไม่มีผลประโยชน์ขัดแย้งกับอำนาจหน้าที่ในฐานะกรรมการควบคุมสถาบันการเงิน
ให้กรรมการควบคุมสถาบันการเงินมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับกรรมการของสถาบันการเงิน
 
มาตรา ๑๐๔ เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยได้แจ้งคำสั่งควบคุมแก่สถาบันการเงินใดห้ามมิให้กรรมการ พนักงาน และลูกจ้าง ของสถาบันการเงินดำเนินกิจการของสถาบันการเงินนั้นต่อไปเว้นแต่จะได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงิน
ให้คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานควบคุมสถาบันการเงินคนหนึ่งหรือหลายคนเพื่อปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินกิจการของสถาบันการเงินที่ถูกคำสั่งควบคุมได้ทุกประการ และให้ประธานกรรมการเป็นผู้แทนของสถาบันการเงินนั้น
ให้กรรมการ พนักงาน และลูกจ้าง ของสถาบันการเงินที่ถูกควบคุม
(๑) จัดการเพื่อปกปักรักษาทรัพย์และประโยชน์ของสถาบันการเงินไว้
(๒) รายงานกิจการและมอบสินทรัพย์พร้อมด้วยข้อมูล บัญชี เอกสาร ดวงตรา หรือหลักฐานอื่นอันเกี่ยวกับกิจการและสินทรัพย์ของสถาบันการเงินให้แก่คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินโดยไม่ชักช้า
ให้ผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือเอกสารของสถาบันการเงินแจ้งการครอบครองให้คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินทราบโดยไม่ชักช้า
 
มาตรา ๑๐๕ ในกรณีที่คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินเห็นว่า เงินฝากของสถาบันการเงินที่ถูกควบคุมมีภาระดอกเบี้ยสูงเกินสมควรและไม่เป็นธรรม คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝากมีอำนาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวได้ ทั้งนี้ ต้องประกาศให้ผู้ฝากเงินทราบก่อน และจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้เมื่อพ้นระยะเวลาเจ็ดวันนับแต่วันประกาศ
 
มาตรา ๑๐๖ ในกรณีที่คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินเห็นว่า ความผูกพันตามสัญญาของสถาบันการเงินที่ถูกควบคุมมีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้ คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินอาจทำความตกลงกับเจ้าของทรัพย์สิน คู่สัญญา หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อลดภาระดังกล่าวได้
 
มาตรา ๑๐๗ ในกรณีที่คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินเห็นว่า สัญญาจ้างผู้บริหารของสถาบันการเงินที่ถูกควบคุมมีเงื่อนไขที่ไม่เหมาะสม หรือกำหนดค่าตอบแทน หรือสิทธิประโยชน์สูงเกินสมควร หรือสถาบันการเงินที่ถูกควบคุมได้รับความเสียหายจากการบริหารหรือการละเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้บริหารสถาบันการเงิน ให้คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินมีอำนาจเลิกจ้าง ระงับหรือลดการจ่ายค่าตอบแทนหรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แก่ผู้บริหารดังกล่าวได้
 
มาตรา ๑๐๘ ในกรณีที่คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินเห็นสมควรให้มีการควบหรือโอนกิจการของสถาบันการเงิน ในการควบหรือโอนกิจการดังกล่าวให้นำบทบัญญัติในส่วนที่ ๙ การควบ โอน และเลิกกิจการของหมวด ๓ มาใช้บังคับ โดยอนุโลม ทั้งนี้ ให้ถือว่ามติของคณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินเป็นมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น และให้คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินมีอำนาจดำเนินการแทนคณะกรรมการของสถาบันการเงินนั้น
 
มาตรา ๑๐๙ ให้คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินรายงานต่อธนาคารแห่งประเทศไทยว่าสมควรจะให้สถาบันการเงินที่ถูกคำสั่งควบคุมดำเนินกิจการต่อไปหรือไม่ พร้อมทั้งข้อมูลทางการเงินและเหตุผลประกอบ ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงิน เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากธนาคารแห่งประเทศไทย
ในกรณีที่คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินเห็นสมควรให้สถาบันการเงินดำเนินกิจการต่อไปให้คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินเสนอโครงการแก้ไขฟื้นฟูสถาบันการเงินดังกล่าวต่อธนาคารแห่งประเทศไทย โครงการแก้ไขฟื้นฟูสถาบันการเงินอย่างน้อยต้องประกอบด้วยรายการดังต่อไปนี้
(๑) ขั้นตอนที่จะทำให้มีเงินกองทุนเพียงพอ
(๒) ระดับเงินกองทุนที่คาดว่าจะดำรงในแต่ละไตรมาส
(๓) แผนธุรกิจ
(๔) ระยะเวลาการดำเนินการให้สำเร็จตามโครงการซึ่งจะต้องไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินรายงานต่อธนาคารแห่งประเทศไทยตามวรรคหนึ่ง
(๕) แผนการควบรวมกิจการหรือโอนกิจการ (ถ้ามี)
เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับรายงานจากคณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้รายงานต่อรัฐมนตรีเพื่อทราบโดยไม่ชักช้า
 
มาตรา ๑๑๐ ในกรณีที่คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินรายงานว่าสมควรจะให้สถาบันการเงินที่ถูกคำสั่งควบคุมดำเนินกิจการต่อไปได้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องมีคำสั่งเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับรายงานดังกล่าวภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับรายงานจากคณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงิน
ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นชอบกับรายงานของคณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการไปตามโครงการแก้ไขฟื้นฟูสถาบันการเงินตามที่คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินเสนอ ในการนี้ จะมีคำสั่งเลิกควบคุมก็ได้ และให้ประกาศคำสั่งเลิกควบคุมในราชกิจจานุเบกษาและในสื่อใด ๆ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งไม่เห็นชอบกับรายงานของคณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงิน หรือโครงการแก้ไขฟื้นฟูสถาบันการเงินไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งปิดกิจการของสถาบันการเงินนั้น
เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งปิดกิจการตามวรรคสามแล้ว ให้เสนอรัฐมนตรีเพิกถอนใบอนุญาตของสถาบันการเงินนั้น
 
มาตรา ๑๑๑ กรณีที่คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินรายงานว่าสถาบันการเงินที่ถูกควบคุมไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งปิดกิจการของสถาบันการเงินนั้นและให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและในสื่อใด ๆ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งปิดกิจการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้เสนอรัฐมนตรีเพิกถอนใบอนุญาตของสถาบันการเงินนั้น
 
มาตรา ๑๑๒ เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งปิดกิจการของสถาบันการเงินใดตามมาตรา ๑๑๐ วรรคสาม หรือมาตรา ๑๑๑ วรรคหนึ่ง และรัฐมนตรีเพิกถอนใบอนุญาตแล้วให้ชำระบัญชีสถาบันการเงินนั้น
 
มาตรา ๑๑๓ ในกรณีที่สถาบันการเงินถูกควบคุมหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต ห้ามมิให้ผู้ที่ซื้อหุ้นกู้หรือตราสารหนี้อื่น หรือผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ของสถาบันการเงินนั้นในภายหลังเหตุดังกล่าวนำหุ้นกู้ ตราสารหนี้ หรือสิทธิเรียกร้องที่ได้รับโอนมานั้น มาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่ผู้นั้นมีอยู่กับสถาบันการเงิน
 
มาตรา ๑๑๔ เพื่อประโยชน์ในการเข้าควบคุมสถาบันการเงินตามหมวดนี้ ให้คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินหรือพนักงานควบคุมสถาบันการเงินที่ได้รับมอบอำนาจมีอำนาจสั่งให้บุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำ หรือให้แสดง หรือส่งข้อมูล บัญชี เอกสาร ดวงตรา หรือหลักฐานอื่นอันเกี่ยวกับกิจการและสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกควบคุมภายในเวลาที่คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินหรือพนักงานควบคุมสถาบันการเงินกำหนด
 
มาตรา ๑๑๕ ให้กรรมการควบคุมสถาบันการเงินและพนักงานควบคุมสถาบันการเงินได้รับเงินค่าตอบแทนตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
 
มาตรา ๑๑๖ ค่าใช้จ่ายและเงินค่าตอบแทนในการควบคุมสถาบันการเงินใดให้จ่ายจากสินทรัพย์ของสถาบันการเงินนั้น
 
มาตรา ๑๑๗ มิให้นำบทบัญญัติในหมวด ๓ การกำกับสถาบันการเงิน เว้นแต่ส่วนที่ ๘ การจัดทำบัญชี การรายงาน และผู้สอบบัญชี มาใช้กับสถาบันการเงินในระหว่างที่ถูกควบคุมตามหมวดนี้
 
มาตรา ๑๑๘ เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งให้สถาบันการเงินดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด หรือได้รับรายงานเกี่ยวกับสถาบันการเงินตามความในหมวดนี้ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานต่อรัฐมนตรีเพื่อทราบโดยไม่ชักช้า

หมวด ๗
การกำกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

มาตรา ๑๑๙ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้แก่
(๑) สถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
(๒) นิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
 
มาตรา ๑๒๐ เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลระบบสถาบันการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายจัดตั้งสถาบันการเงินเฉพาะกิจ อาจมอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทำหน้าที่ดังต่อไปนี้ทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน ตามที่กฎหมายได้กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีผู้รักษาการได้
(๑) กำกับดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของสถาบันการเงินเฉพาะกิจนั้น
(๒) มีอำนาจสั่งให้ชี้แจงข้อเท็จจริงและแสดงความคิดเห็น รวมทั้งแต่งตั้งบุคคลเพื่อตรวจสอบและรายงานกิจการหรือทรัพย์สินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
(๓) มีอำนาจแต่งตั้งหรือถอดถอนบุคคลใดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ รวมทั้งกำหนดค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์อื่นใดให้แก่บุคคลดังกล่าว
(๔) กำหนดแนวนโยบายเพื่อให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจดำเนินการหรือถือปฏิบัติ
(๕) มีอำนาจสั่งให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจต้องปฏิบัติหรือยับยั้งการกระทำของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ขัดต่อนโยบายของรัฐบาลหรือมติคณะรัฐมนตรี
ในการกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจตามวรรคหนึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี อาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจต้องปฏิบัติเพิ่มเติมหรือให้นำบทบัญญัติใดของพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจนั้นได้

Next Page
[1]  [2]  [3]  [4]  [5]  [6]  [7]  [8]  [9]

 

For any submissions, comments, or questions, e-mail the Thailand Law Forum at: info@thailawforum.com Please read our Disclaimer.

© Copyright Thailand Law Forum, All Rights Reserved
(except where the work is the individual works of the authors as noted)