Follow Us  


Support:

Sponsorship and Management of the website is performed by Chaninat & Leeds a law firm composed of licensed Thailand Lawyers and international lawyers in Thailand.




 

 

13 พฤษภาคม 2556

พระราชบัญญัติ
เงินตรา
พ.ศ. ๒๕๐๑
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๑
เป็นปีที่ ๑๓ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
 
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยเงินตรา
 
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้
 
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.๒๕๐๑"
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติเงินตรา พุทธศักราช ๒๔๗๑
(๒) พระราชบัญญัติเงินตราแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๓
(๓) พระราชบัญญัติเงินตราแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๕
(๔) พระราชบัญญัติเงินตรา (ฉบับที่ ๔) พุทธศักราช ๒๔๗๙
(๕) พระราชบัญญัติเงินตรา (ฉบับที่ ๕) พุทธศักราช ๒๔๘๒
(๖) พระราชบัญญัติเงินตรา (ฉบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๔๘๓
(๗) พระราชบัญญัติเงินตรา (ฉบับที่ ๗) พุทธศักราช ๒๔๘๔
(๘) พระราชบัญญัติเงินตรา (ฉบับที่ ๘) พุทธศักราช ๒๔๘๕
(๙) พระราชบัญญัติเงินตรา (ฉบับที่ ๙) พุทธศักราช ๒๔๘๕
(๑๐) พระราชบัญญัติเงินตรา (ฉบับที่ ๑๐) พุทธศักราช ๒๔๘๗
(๑๑) พระราชบัญญัติระบบเงินตราชั่วคราว (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๐๑
 
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
"กองทุนการเงิน" หมายความว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศตามข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินระหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิก
"ใบสำคัญสิทธิซื้อส่วนสำรอง" หมายความว่า ใบสำคัญสิทธิซื้อส่วนสำรองที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยการให้อำนาจปฏิบัติการเกี่ยวกับกองทุนการเงินและธนาคารระหว่างประเทศ
"ซื้อหรือขายทันที" หมายความว่า ซื้อหรือขายโดยโอนตามคำสั่งทางโทรเลข
"หลักทรัพย์ต่างประเทศ" หมายความว่า
(๑) หลักทรัพย์ของรัฐบาลต่างประเทศหรือของสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก
(๒) หลักทรัพย์ที่รัฐบาลต่างประเทศหรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกค้ำประกันการชำระหนี้ตามหลักทรัพย์นั้น
(๓) ตราสารที่สถาบันการเงินระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกออกให้เป็นหลักฐานว่า ผู้ถือตราสารได้มีส่วนร่วมกับสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกในการให้กู้ยืมเงินแก่รัฐบาลสมาชิก หรือองค์การของรัฐบาลสมาชิกของสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกตามจำนวนดังระบุไว้ในตราสารนั้น
"อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด" หมายความว่า ความยิ่งหย่อนแห่งน้ำหนักและเนื้อโลหะของเหรียญกษาปณ์จากอัตราที่กำหนด
"เงินตราที่พึงเปลี่ยนได้" หมายความว่า เงินตราของประเทศที่รับปฏิบัติแล้วตามพันธะที่ตั้งไว้ตามหมวด ๘ แห่งข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
"ใบสำคัญสิทธิพิเศษถอนเงิน" หมายความว่า ใบสำคัญสิทธิพิเศษถอนเงินที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยการให้อำนาจและกำหนดการปฏิบัติบางประการเกี่ยวกับสิทธิพิเศษถอนเงินในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
"พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
"รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

หมวด ๑
เงินตราและหน่วยของเงินตรา

มาตรา ๖ เงินตราได้แก่เหรียญกษาปณ์และธนบัตร
 
มาตรา ๗ หน่วยของเงินตราเรียกว่า "บาท" หนึ่งบาทแบ่งเป็นหนึ่งร้อยสตางค์
คำว่า "บาท" นั้น จะใช้เครื่องหมาย "บ." แทนก็ได้
 
มาตรา ๘ ค่าเสมอภาคของบาทได้แก่ค่าของบาทที่กำหนดโดยเทียบกับหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินหรือเทียบกับเงินตราสกุลอื่น หรือเทียบกับค่าที่คำนวณได้จากเงินตราสกุลอื่นหลายสกุลรวมกัน หรือเทียบกับหน่วยเทียบอื่นที่กองทุนการเงินกำหนดขึ้น การกำหนดค่าเสมอภาคของบาทดังกล่าวให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา
ในกรณีที่มีการกำหนดค่าเสมอภาคของบาทตามวรรคหนึ่ง เมื่อมีเหตุสมควรรัฐมนตรีอาจประกาศให้ระงับใช้ค่าเสมอภาคของบาทชั่วคราว เป็นเวลาไม่เกินเก้าสิบวัน โดยจะประกาศให้ใช้ระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราระบบใดตามที่เห็นสมควรในระหว่างนั้น ด้วยหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้ โดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย
ในกรณีที่ไม่มีการกำหนดค่าเสมอภาคของบาทตามวรรคหนึ่ง รัฐมนตรีอาจประกาศให้ใช้ระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราระบบใดได้ตามที่เห็นสมควรโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย
 
มาตรา ๙ ห้ามมิให้ผู้ใดทำ จำหน่าย ใช้ หรือนำออกใช้ซึ่งวัตถุหรือเครื่องหมายใดๆ แทนเงินตรา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี
 
มาตรา ๑๐ ให้กระทรวงการคลังจัดทำและนำออกใช้ซึ่งเหรียญกษาปณ์
เหรียญกษาปณ์ตามวรรคหนึ่ง แต่ละชนิด ราคา ที่นำออกใช้ ให้มีได้เพียงขนาดเดียว และจะมีขนาดเท่ากับเหรียญกษาปณ์ชนิด ราคา อื่นไม่ได้เว้นแต่กรณีการจัดทำและนำออกใช้เป็นเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก หรือเหรียญกษาปณ์ที่ใช้แทนเหรียญกษาปณ์ที่ถอนคืน
ชนิด ราคา โลหะ อัตราเนื้อโลหะ น้ำหนัก ขนาด ลวดลาย และลักษณะอื่นๆ (ถ้ามี) ของเหรียญกษาปณ์รวมทั้งอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด ให้กำหนดโดยกฎกระทรวง
มาตรา ๑๑ เหรียญกษาปณ์เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายไม่เกินจำนวนที่กำหนดโดยกฎกระทรวง
 
มาตรา ๑๒ เหรียญกษาปณ์ชำรุดไม่เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย
เหรียญกษาปณ์ต่อไปนี้เป็นเหรียญกษาปณ์ชำรุด
(๑) เหรียญกษาปณ์ที่ถูกตัด หรือถูกตอก หรือถูกตี หรือถูกกระทำด้วยประการใดๆ ให้บุบสลาย หรือชำรุดจนเสียรูป หรือลวดลายลบเลือน หรือเปลี่ยนแปลงในดลภาค หรือบิดงอ หรือทำให้น้ำหนักลดลง ไม่ว่าโดยเหตุใดในลักษณะที่ปรากฏโดยชัดแจ้ง
(๒) เหรียญกษาปณ์ที่สึกหรอไปตามธรรมดาจนมีน้ำหนักลดลงเกินกว่าสองเท่าครึ่งของอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด
 
มาตรา ๑๓ ให้กระทรวงการคลังรับแลกเปลี่ยนเหรียญกษาปณ์ชำรุดตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) เหรียญกษาปณ์ชำรุดที่จะรับแลกเปลี่ยนได้ ต้องเป็นเหรียญกษาปณ์ที่มิใช่เหรียญกษาปณ์ทองคำ เหรียญกษาปณ์เงิน หรือเหรียญกษาปณ์ขัดเงา
(๒) เหรียญกษาปณ์ที่ชำรุดตามมาตรา ๑๒ วรรคสอง (๑) ให้รับแลกเปลี่ยนได้ครึ่งราคาของเหรียญกษาปณ์นั้น ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
(๓) เหรียญกษาปณ์ที่ชำรุดตามมารตรา ๑๒ วรรคสอง (๒) ให้รับแลกเปลี่ยนได้เต็มราคาของเหรียญกษาปณ์นั้น
พนักงานเจ้าหน้าที่และสถานที่รับแลกเปลี่ยนเหรียญกษาปณ์ชำรุดตามวรรคหนึ่ง (๒) และ (๓) ให้เป็นไปตามกำหนดในกฎกระทรวง
 
มาตรา ๑๓ ทวิ เมื่อเห็นสมควร รัฐมนตรีมีอำนาจถอนคืนเหรียญกษาปณ์ที่ออกใช้ ชนิดและราคาใดๆ โดยให้นำมาแลกเปลี่ยนกับธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์อื่นได้
การถอนคืนเหรียญกษาปณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งอย่างน้อยต้องมีข้อกำหนด ดังต่อไปนี้
(๑) ชนิด ราคา และลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ถอนคืน
(๒) ระยะเวลาให้นำเหรียญกษาปณ์ที่ถอนคืนมาแลกเปลี่ยนกับธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์อื่น ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงใช้บังคับ
(๓) พนักงานเจ้าหน้าที่และสถานที่รับเหรียญกษาปณ์ที่ถอนคืน
เหรียญกษาปณ์ที่นำมาแลกเปลี่ยน ถ้าเป็นเหรียญกษาปณ์ชำรุดตามมาตรา ๑๒ วรรคสอง ให้รับแลกเปลี่ยนตามมาตรา ๑๓
มาตรา ๑๓ ตรี เหรียญกษาปณ์ที่ได้รับจากการถอนคืนตามมาตรา ๑๓ ทวิวรรคสอง (๒) รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้กรมธนารักษ์นำไปยุบหลอมหรือทำลายเพื่อนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นหรือจำหน่ายต่อไปได้ หรือสั่งให้กรมธนารักษ์จัดการจำหน่ายโดยให้ผู้ซื้อต้องนำไปยุบหลอมหรือทำลายตามเงื่อนไขที่อธิบดีกรมธนารักษ์กำหนด และต้องยุบหลอมหรือทำลายภายใต้การควบคุมและตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่รัฐมนตรีกำหนด
เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาให้แลกเปลี่ยนเหรียญกษาปณ์ที่ถอนคืนตามที่กำหนดในกฎกระทรวงตามมาตรา ๑๓ ทวิ วรรคสอง (๒) บรรดาเหรียญกษาปณ์ที่ถอนคืนไม่เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย
เหรียญกษาปณ์ที่ชำระหนี้ไม่ได้ตามกฎหมายเพราะพ้นกำหนดระยะเวลาการถอนคืน ถ้าผู้ใดนำเหรียญกษาปณ์มาขอแลกเปลี่ยนกับธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์อื่นโดยแสดงเหตุผลและความจำเป็น ให้กระทรวงการคลังรับแลกเปลี่ยนตามมาตรา ๑๓ ทวิ ได้ตลอดไป
 
มาตรา ๑๔ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจจัดทำจัดการ และนำออกใช้ซึ่งธนบัตรของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทยได้ต่อไป
ให้รัฐมนตรีประกาศ ชนิด ราคา สี ขนาด และลักษณะอื่นๆ ของธนบัตรที่จะออกใช้ในราชกิจจานุเบกษา เว้นแต่ในกรณีที่จะนำออกใช้ซึ่งธนบัตรถอนคืน
 
มาตรา ๑๕ ธนบัตรเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายโดยไม่จำกัดจำนวน
 
มาตรา ๑๖ ห้ามมิให้นำออกใช้ซึ่งธนบัตร เว้นแต่เป็นการแลกเปลี่ยนทันที กับ
(๑) ธนบัตรที่นำออกใช้ไปก่อนแล้ว ซึ่งถอนคืนจากธนบัตรออกใช้ หรือ
(๒) สินทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมีค่าเท่ากันและระบุไว้ในมาตรา ๓๐ ซึ่งจะต้องรับขึ้นบัญชีทุนสำรองเงินตราที่รักษาไว้ตามมาตรา ๒๖
ธนบัตรได้ชื่อว่าออกใช้นับแต่เวลาที่นำออกใช้และก่อนถอนคืน
 
มาตรา ๑๗ ธนบัตรที่ถอนคืนจากธนบัตรออกใช้จะเลิกใช้และทำลายเสีย หรือจะเก็บไว้ และนำออกใช้อีกก็ได้
 
มาตรา ๑๘ ธนบัตรชำรุดไม่เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายธนบัตรต่อไปนี้ เป็นธนบัตรชำรุด
(๑) ธนบัตรครึ่งฉบับ คือครึ่งหนึ่งของธนบัตรซึ่งได้ถูกแยกตรงกลาง หรือใกล้กับกลางเป็นสองส่วนตามยืน
(๒) ธนบัตรต่อท่อนผิด คือ ธนบัตรซึ่งมีส่วนของธนบัตรฉบับอื่นมาต่อเข้าเป็นฉบับเดียวกัน หรือ
(๓) ธนบัตรขาดวิ่นหรือลบเลือน คือ ธนบัตรซึ่งส่วนหนึ่งขาดหาย หรือมีเหตุที่ทำให้อ่านข้อความหรือตัวเลขไม่ได้ความ
 
มาตรา ๑๙ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรับแลกเปลี่ยนธนบัตรชำรุดตามข้อจำกัดหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
มาตรา ๒๐ เมื่อเห็นสมควร รัฐมนตรีมีอำนาจถอนคืนธนบัตรออกใช้ชนิดและราคาใดๆ โดยให้นำมาแลกเปลี่ยนกับธนบัตรอื่นได้
การถอนคืนธนบัตรออกใช้ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ในประกาศถอนคืนธนบัตรออกใช้อย่างน้อยต้องมีข้อความดังต่อไปนี้
(๑) ชนิดและราคาของธนบัตรที่ถอนคืน
(๒) ระยะเวลาให้นำส่งธนบัตรที่ถอนคืนซึ่งต้องกำหนดไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
(๓) พนักงานเจ้าหน้าที่และสถานที่รับธนบัตรที่ถอนคืน
 
มาตรา ๒๑ เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ได้กำหนดให้นำส่งธนบัตรที่ถอนคืน ตามความในมาตรา ๒๐ บรรดาธนบัตรที่รัฐมนตรีประกาศถอนคืนไม่เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย แต่ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรับแลกเปลี่ยนกับธนบัตรอื่นได้ภายในสองปี นับแต่วันที่ธนบัตรถอนคืนตกเป็นเงินที่ชำระหนี้ไม่ได้ตามกฎหมาย
 
มาตรา ๒๒ บรรดาธนบัตรที่ตกเป็นเงินที่ชำระหนี้ไม่ได้ตามกฎหมายตามความในมาตรา ๒๑ ซึ่งมิได้นำมาแลกเปลี่ยนกับธนบัตรอื่นภายในเวลาที่กำหนดให้นำมาแลกเปลี่ยนได้ ให้ถือว่าเป็นธนบัตรที่ถอนคืนแล้วจากธนบัตรออกใช้และจะโอนสินทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่งที่มีค่าเท่ากันซึ่งถือไว้เป็นทุนสำรองเงินตราตามมาตรา ๒๖ ให้เป็นรายได้ของแผ่นดินก็ได้

Next Page
[1]  [2]

 

For any submissions, comments, or questions, e-mail the Thailand Law Forum at: info@thailawforum.com Please read our Disclaimer.

© Copyright Thailand Law Forum, All Rights Reserved
(except where the work is the individual works of the authors as noted)