25 เมษายน 2556
พระราชบัญญัติ
ควบคุมยุทธภัณฑ์
พ.ศ. ๒๕๓๐
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๐
เป็นปีที่ ๔๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. ๒๕๓๐"
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พุทธศักราช ๒๔๗๖
บรรดาบทกฎหมาย กฎ ข้อบังคับอื่นที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
"ยุทธภัณฑ์" หมายความว่า อาวุธ เครื่องอุปกรณ์ของอาวุธ สารเคมี สารชีวะ สารรังสี หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่อาจนำไปใช้ในการรบหรือการสงครามได้ ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามมาตรา ๗
"สั่งเข้ามา" หมายความว่า สั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยุทธภัณฑ์
"นำเข้ามา" หมายความว่า นำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยุทธภัณฑ์
"ผลิต" หมายความว่า ทำ ประกอบ ซ่อมแซม เปลี่ยนลักษณะ ผสม แปรสภาพปรุงแต่ง หรือแบ่งบรรจุซึ่งยุทธภัณฑ์
"มี" หมายความว่า มีกรรมสิทธิ์หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยุทธภัณฑ์
"คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการควบคุมยุทธภัณฑ์
"พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
"รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ และยกเว้นค่าธรรมเนียม กำหนดกิจการอื่นและออกประกาศ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
ในส่วนที่เกี่ยวกับการศุลกากร ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
หมวด ๑
บททั่วไป
มาตรา ๖ พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่
(๑) ยุทธภัณฑ์ของราชการทหารหรือตำรวจ
(๒) ยุทธภัณฑ์ของส่วนราชการ องค์การของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือสภากาชาดไทยทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
(๓) ยุทธภัณฑ์ประจำอากาศยานหรือเรือเดินทะเลตามปกติที่ได้แสดงและให้พนักงานศุลกากรตรวจตามกฎหมายแล้ว
(๔) ยุทธภัณฑ์ประจำยานพาหนะที่ใช้เพื่อการรบของต่างประเทศ ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรโดยทางราชการ
(๕) อาวุธซึ่งผู้ได้รับใบอนุญาตตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๓๗ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ มีไว้ในครอบครองโดยได้รับอนุญาตตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๓๗ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙
มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดว่า อาวุธ เครื่องอุปกรณ์ของอาวุธ สารเคมี สารชีวะ สารรังสี หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่อาจนำไปใช้ในการรบหรือการสงครามได้ชนิดใดเป็นยุทธภัณฑ์
หมวด ๒
คณะกรรมการควบคุมยุทธภัณฑ์
มาตรา ๘ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการควบคุมยุทธภัณฑ์" ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นประธานกรรมการ เจ้ากรมเสมียนตรา เจ้ากรมพระธรรมนูญ เจ้ากรมการอุตสาหกรรมทหาร เจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหาร เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก เจ้ากรมสรรพาวุธทหารเรือ เจ้ากรมสรรพาวุธทหารอากาศ เจ้ากรมวิทยาศาสตร์ทหารบก เจ้ากรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ ผู้บัญชาการศูนย์วิทยาศาสตร์และพัฒนาระบบอาวุธกองทัพอากาศ ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน กับผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินสามคนเป็นกรรมการ และผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหมเป็นกรรมการและเลขานุการ
มาตรา ๙ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี
กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
มาตรา ๑๐ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก หรือ
(๓) รัฐมนตรีให้ออก
เมื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ รัฐมนตรีอาจแต่งตั้งผู้อื่นเป็นกรรมการแทนได้
ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งเพิ่มขึ้นหรือแต่งตั้งแทน ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งนั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้ว
มาตรา ๑๑ การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก
กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา ๑๒ ให้คณะกรรมการมีหน้าที่
(๑) ให้คำวินิจฉัยชี้ขาดแก่ส่วนราชการ องค์การของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจว่าอาวุธ เครื่องอุปกรณ์ของอาวุธ สารเคมี สารชีวะ สารรังสี หรือเครื่องมือเครื่องใช้ใดเป็นยุทธภัณฑ์หรือไม่
(๒) เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีในการประกาศกำหนดยุทธภัณฑ์ตามมาตรา ๗
(๓) เสนอแนะหรือให้คำปรึกษาแก่รัฐมนตรีหรือปลัดกระทรวงกลาโหมในเรื่องที่เกี่ยวกับการควบคุมยุทธภัณฑ์
(๔) พิจารณากลั่นกรองการขออนุญาตและเสนอแนะแก่ปลัดกระทรวงกลาโหมในการอนุญาตตามมาตรา ๑๕ ตามที่ได้รับมอบหมาย
(๕) เสนอแนะหรือให้คำปรึกษาแก่รัฐมนตรีในเรื่องการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่
(๖) ปฏิบัติการอื่นตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย
มาตรา ๑๓ ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณา หรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้
ให้นำมาตรา ๑๑ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม
มาตรา ๑๔ ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งเอกสารหรือวัตถุใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่คณะกรรมการพิจารณามาเพื่อประกอบการพิจารณาได้
การส่งหนังสือเรียก ให้นำไปส่งในเวลากลางวันระหว่างพระอาทิตย์ขึ้น และพระอาทิตย์ตก หรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ หรือสำนักทำการงานของผู้รับ
Next Page
[1] [2] [3] |