รู้จักกับ..กฎหมายควบคุมสื่อ

by admin on กรกฎาคม 12, 2018

ปัญหาสื่อละเมิดจริยธรรม สื่อขาดความเป็นมืออาชีพ เป็นปัญหาหลักที่กำลังบั่นทอนวงการสื่อสารมวลชนในปัจจุบัน องค์กรวิชาชีพสื่อที่มีอยู่ก็ไม่สามารถกำกับ หรือควบคุมกันเองได้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ

แนวทางสำคัญในแก้ปัญหาตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนที่รัฐบาลแต่งตั้งขึ้น คือ การผลักดันร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ และรณรงค์ให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อเพื่อตรวจสอบสื่อโดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ซึ่งจำนวนไม่น้อยขาดความรับผิดชอบ และละเมิดผู้อื่น

นายจิรชัย มูลทองโร่ย ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ขยายความในหนังสือวันนักข่าวประจำปี 2561 ในหัวข้อ “สื่อมืออาชีพ” จัดทำโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถึงภารกิจที่กรรมการปฏิรูปประเทศเสนอให้รัฐบาลผลักดัน มีอยู่ 2 เรื่อง ดังที่ได้กล่าวข้างต้น ในส่วนของ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพฯ มีข้อเสนอให้เปลี่ยนชื่อเป็น ร่าง พ.ร.บ.กำกับจริยธรรมสื่อ

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน

–  เนื้อหาร่างกฎหมายดังกล่าวมีทั้งหมด 97 มาตรา หลักการสำคัญกำหนดให้มีการกำกับ ตรวจสอบสื่อในด้านจริยธรรม

–  กำหนดให้การจัดตั้งองค์กรวิชาชีพเพื่อกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชนต้องไปจดแจ้งกับสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ

–  ให้มีการจัดตั้ง “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” โดยให้มีอำนาจขึ้นทะเบียน ออก และเพิกถอนในอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและรับคำร้องอุทธรณ์ในกรณีผู้เสียหายอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากองค์กรวิชาชีพ

–  คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ประกอบด้วยผู้แทนสมาชิกสภาวิชาชีพ 5 คน ปลัดกระทรวง 4 คนจากสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงดิจิทัลฯ กระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงการคลัง แล้วไปเลือกกกรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 คน รวมเป็น 13 คน

–  สภาสื่อมวลชนแห่งชาติมีอำนาจสั่งปรับองค์กรสื่อมวลชนต่างๆ ที่ไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของสภาฯ ในอัตราสูงสุดถึง 150,000 บาท

นายจิรชัย กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ฝ่ายสื่อไม่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาเป็นกรรมการสภาวิชาชีพสื่อฯ เพราะกลัวรัฐแทรกแซง ครอบงำ แต่ยอมให้เข้ามาได้ในนามสื่อของรัฐแทน เช่น ตัวแทนสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที อสมท หรือช่อง 5 แต่ไม่ให้ระดับอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์มาเป็นกรรมการ อย่างไรก็ตามมองว่า ตำแหน่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ถือเป็นคนกลางที่สุดที่น่าจะเข้ามาได้เพื่อเป็นประธานคัดเลือกตัวแทนคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ เนื่องจากเคยนั่งเก้าอี้มาก่อน การทำงานไม่เข้าใครออกใคร อีกประเด็นที่จะไม่มีแน่ๆในร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างที่สื่อกังวล คือการขึ้นทะเบียนสื่อมวลชน แต่จะให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติที่จะตั้งขึ้นตามกฎหมายเป็นผู้กำหนด

นายจิรชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาสื่ออยากจะดูแลกันเอง ไม่อยากให้ภาครัฐเข้ามากำกับ สื่อกลัวไปหมด กลัวภาครัฐเข้ามาชี้นำ บังคับ ข่มขู่ ควบคุม แต่ถามว่า สื่อกำกับกันเองได้หรือไม่ ความจริงถ้าสื่อตั้งใจและมีเจตนาเดียวกันที่จะให้วิชาชีพตัวเองโปร่งใส มีเสรีภาพ ก็ต้องดูแลกันเองให้ได้ การกำกับกันเองอยู่ที่ความตั้งใจของสื่อว่าจะทำให้สังคมของสื่อเข้มแข็งปราศจากการครอบงำอื่นได้หรือไม่ แต่เชื่อว่า ทำได้แน่ อีกทั้งที่ผ่านมาสื่อพยายามสร้างกลไกกำกับขึ้นมาภายใน เช่น ผู้ตรวจการของสื่อแต่ละสังกัด เช่น ไทยพีบีเอส สปริงนิวส์ ไทยรัฐ แต่ทำกันเองเงียบๆ ไม่ได้ประกาศออกสู่สังคมให้ประชาชนทราบว่า หากมีเรื่องใดที่ประชาชนอยากจะร้องเรียนว่าสื่อมีปัญหา ก็ให้แจ้งมาที่สังกัดนั้นๆได้ ดังนั้น ร่างกฎหมายฉบับนี้จะช่วยแก้ปัญหาการกำกับกันเองของสื่อให้ดีขึ้น

การปฏิรูปสื่ออีกเรื่อง คือ การรู้เท่าทันสื่อ ประชาชนจะต้องรู้ว่าสื่อไหนให้ข่าวออกมาแล้วควรจะเชื่อหรือแชร์ ในส่วนนี้แม้จะมีหลายภาคส่วนดำเนินการอยู่ กองทุนสื่อที่เกี่ยวข้องก็มีมากมาย แต่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศอยากให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพเพื่อดูว่าแผนการเรียนรู้เพื่อรู้เท่าทันสื่อจะทำในมิติไหน เช่น ในโซเชียลมีเดีย ส่วนการรู้เท่าทันสื่อในอีกด้านคือ ในฐานะผู้บริโภคก็ต้องทำคู่ขนานกันไป ปัจจุบันมี 8 กระทรวง 20 กรมที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคก็ต้องมีบทบาท เช่น สื่อใดโฆษณาเกินจริงหรือไม่ ต้องลงโทษตรงนี้อย่างไร ทั้งหมดต้องขับเคลื่อนและบูรณาการด้วยกัน

นายจิรชัย กล่าวสรุปว่า ความจริงกฎกติกาของสื่อมีอยู่แล้ว และกฎหมายที่สื่อต้องเข้าไปเกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้รายงานข่าวละเมิดจริยธรรม ก็มีหลายฉบับ การปฏิรูปครั้งนี้นอกจากจะต้องมีกฎหมายใหม่มาบังคับใช้แล้ว จะต้องทำให้กลไกกำกับที่มีอยู่แล้วแต่ถูกเก็บอยู่ในลิ้นชักออกมาวางบนโต๊ะให้ได้เพื่อให้ประชาชนเห็น

นายจิรชัยยังกล่าวต่ออีกว่า “ขณะนี้คุณภาพของสื่อที่ออกมาในสายตาของสังคมแย่มาก ไม่มีอะไรเลย เพราะเขาเน้นเรตติ้ง เขาต้องหากินเองเพื่อความอยู่รอด ไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพ เนื้อหา ตรงนี้ก็คือส่วนที่รัฐต้องสนับสนุน ผมคุยกันแล้ว เห็นว่า เมื่อรัฐอยากให้สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม ส่งเสริมวัฒนธรรมก็ต้องมาดูกันว่าจะช่วยสื่อได้ตรงไหนเพื่อไม่ให้สื่อตระเวนหาโฆษณา ซึ่งกสทช.มีกองทุนอยู่ รัฐไม่จำเป็นต้องเอางบประมาณจากรัฐมาจัดสรรให้”

 

ที่มา: โพสต์ทูเดย์ , สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

Leave a Comment

Previous post:

Next post: