เรียนรู้เรื่องหลักประกันทางธุรกิจ

by admin on มีนาคม 21, 2016

ในที่สุดพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจก็คลอดออกมาเมื่อปลายปี 2558 อย่างสมบูรณ์ หลังจากอยู่ในรูปแบบของร่างกฎหมายมานานนับสิบปี และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2559 ที่ใกล้จะถึงนี้ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มาขยายข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยใช้ทรัพย์สินมาเป็นหลักประกันการชำระหนี้ จากแต่เดิมผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถนำทรัพย์สินอื่นที่ใช้ในการประกอบธุรกิจอื่นนอกจากอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์มีทะเบียนบางประเภทมาใช้เป็นประกันการชำระหนี้ในลักษณะผู้ให้หลักประกันไม่ต้องส่งมอบการครอบครองทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับหลักประกันได้ ทั้งที่ทรัพย์สินนั้นมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และกระบวนการบังคับจำนองมีความล่าช้าเป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้นเพื่อรองรับการนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาใช้เป็นประกันหนี้โดยไม่ต้องส่งมอบการครอบครองแก่เจ้าหนี้ แต่ก่อนกฏหมายจะมีผลบังคับใช้ คำถามคือแล้วพระราชบัญญัตินี้มีเพื่ออะไร และมีประโยชน์อย่างไร?

กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ คือ กฎหมายที่ออกมาเพื่อรองรับให้ผู้ประกอบการสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินได้ โดยไม่ต้องส่งมอบการครอบครองให้แก่เจ้าหนี้

ทรัพย์สินที่สามารถนำมาเป็นหลักประกันได้ ได้แก่ กิจการ สิทธิเรียกร้อง ทรัพย์สินทางปัญญา สังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ และทรัพย์สินอื่นๆตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เป็นต้น เพื่อเป็นการขยายการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบขนาดกลางและรายย่อย ทั้งนี้ สัญญาหลักประกันทางธุรกิจต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน

ผู้ให้หลักประกันเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ โดยผู้ให้มีสิทธิใช้สอยทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันได้ และต้องจัดทำบัญชีทรัพย์สินและให้ผู้รับเข้าตรวจ ในขณะที่ผู้รับหลักประกันจะต้องเป็นธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์หรือบริษัทประกอบธุรกิจประกันชีวิต มีหน้าที่ยื่นจดทะเบียนสัญญาหลักประกัน ณ สำนักงานทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากหลักประกันก่อนเจ้าหนี้อื่น

การบังคับหลักประกันกระทำได้สองวิธี ได้แก่ บังคับหลักประกันที่เป็นทรัพย์สิน และ บังคับหลักประกันที่เป็นกิจการ

การบังคับหลักประกันที่เป็นทรัพย์สิน เจ้าหนี้สามารถนำทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันออกจำหน่าย หรือเอาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันหลุดเป็นสิทธิของตนเองได้

ในขณะที่การบังคับหลักประกันที่เป็นกิจการ จะต้องมีคนกลางซึ่งได้รับอนุญาต โดยมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เรียกว่า ผู้บังคับหลักประกัน ซึ่งอาจจะเป็นนิติบุคคลก็ได้และให้ใบอนุญาตมีอายุ 3 ปี เมื่อมีเหตุให้บังคับหลักประกันตามสัญญา ให้ผู้รับหลักประกันมีหนังสือแจ้งไปที่ผู้บังคับหลักประกัน เมื่อผู้บังคับหลักประกันได้รับหนังสือแล้วให้กำหนดวัน เวลา สถานที่ และให้ไต่สวนข้อเท็จจริงโดยเร็ว ซึ่งต้องไม่เกินเจ็ดวันเมื่อผู้บังคับหลักประกันได้รับหลังสือ รวมถึง ห้ามผู้ให้หลักประกันจำหน่ายจ่ายโอนกิจการที่เป็นหลักประกัน เว้นแต่ กิจการนั้นทรัพย์สินมีสภาพเป็นของสดของเสียได้ หรือหากหน่วงช้าไว้จะเสี่ยงต่อความเสียหายหรือค่าใช้จ่าย หรือผู้ให้หลักประกันได้วางเงินประกันหรือให้หลักประกันเพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดจากการจำหน่ายจ่ายโอนกิจการก็ได้

การสิ้นสุดสัญญาหลักประกัน มีได้หลายกรณี ได้แก่

  1. หนี้ที่ประกันระงับสิ้นไป
  2. ไถ่ถอนทรัพย์สิน
  3. จำหน่ายทรัพย์สิน
  4. ผู้รับและผู้ให้หลักประกันตกลงกันเป็นหนังสือให้ยกเลิกสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ

จะเห็นได้ว่าประโยชน์ของพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจมีหลากหลายประกัน ได้แก่

  1. ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและต้นทุนดอกเบี้ยต่ำลง
  2. ผู้ประกอบการมีโอกาสในการขยายธุรกิจ และพัฒนาสินค้าและบริการให้มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องส่งมอบการครอบครองในทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้
  3. ขจัดแหล่งทุนนอกระบบ
  4. สถาบันทางการเงินมีหลักประกันในการชำระหนี้ตามกฎหมายเพิ่มมากขึ้น สามารถขยายการให้สินเชื่อ และก่อให้เกิดสินเชื่อรายใหม่เพิ่มมากขึ้น
  5. ธนาคารมีความมั่นคง เนื่องจากมีโอกาสที่จะได้รับการชำระหนี้มากขึ้น
  6. เศรษฐกิจมีการเจริญเติบโต เป็นการเพิ่มโอกาสและเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยมีในการแข่งขันมากขึ้น
  7. ลดภาระทางศาลและค่าใช้จ่ายในกระบวนการบังคับคดี
  8. สนับสนุนการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญา

สาระสำคัญของพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 สรุปได้ดังนี้

  1. สัญญาหลักประกันทางธุรกิจ คือ สัญญาซึ่งคู่สํญญาฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า ผู้ให้หลักประกัน ตราทรัพย์สินไว้แก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับหลักประกัน เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ของผู้ให้หลักประกัน หรือ บุคคลอื่นโดยไม่จำเป็นต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้นแก่ผู้รับหลักประกัน
  2. ผู้รับหลักประกันจะต้องเป็นสถาบันการเงินหรือบุคคลที่กำหนดตามกฎกระทรวง เช่น บริษัทประกันชีวิต, บริษัทประกันวินาศภัย เป็นต้น
  3. หลักประกันได้แก่
    • กิจการ
    • สิทธิเรียกร้อง
    • สังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น เครื่องจักร สินค้าคงคลังหรือวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า
    • อสังหาริมทรัพย์ในกรณีที่ผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง
    • ทรัพย์สินทางปัญญา ทรัพย์สินอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ทั้งนี้ ทรัพย์สินที่ผู้ให้หลักประกันจะได้มาในอนาคตตามสัญญาหรือนิติสัมพันธ์ใดๆอาจนำมาเป็นหลักประกันได้ เช่น สิทธิการเช่า เป็นต้น แต่สิทธิเหนือทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันตามสัญญาดังกล่าวจะมีขึ้นเมื่อผู้ให้หลักประกันได้มาซึ่งทรัพย์สินนั้น

  1. “กิจการ” หมายความว่า ทรัพย์สินที่ผู้ให้หลักประกันใช้ในการประกอบธุรกิจ และสิทธิต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจนั้นที่ผู้ให้หลักประกันนำมาใช้เป็นการประกันการชำระหนี้ ซึ่งผู้ให้หลักประกันอาจโอนทรัพย์สินและสิทธิต่างๆที่เกี่ยวข้องให้บุคคลอื่นในลักษณะที่ผู้รับโอนสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ทันที
  2. สัญญาหลักประกันทางธุรกิจต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานทะเบียน และในสัญญาต้องระบุชื่อผู้รับใบอนุญาตทำการเป็นผู้บังคับหลักประกันด้วย
  3. ผู้รับหลักประกันมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันก่อนเจ้าหนี้สามัญ ไม่ว่าสิทธิในทรัพย์สินจะโอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ ในกรณีที่มีการนำทรัพย์สินสิ่งหนึ่งตราไว้เป็นประกันการชำระหนี้แก่ผู้รับหลักประกันหลายราย ให้ถือลำดับผู้รับหลักประกันเรียงตามวันและเวลาที่ได้รับการจดทะเบียน โดยผู้รับหลักประกันที่ไดรับการจดทะเบียนก่อนมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อน
  4. ผู้ให้หลักประกันมีสิทธิครอบครองใช้สอย แลกเปลี่ยน จำหน่าย จ่ายโอน และจำนองทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันต่อไปได้ แต่จะนำทรัพย์สินนั้นไปจำนำเพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้อื่นอีกไม่ได้
  5. ผู้รับหลักประกันมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันก่อนเจ้าหนี้สามัญ ไม่ว่าสิทธิในทรัพย์สินจะโอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ ในกรณีที่มีการนำทรัพย์สินสิ่งหนึ่งตราไว้เป็นประกันการชำระหนี้แก่ผู้รับหลักประกันหลายราย ให้ถือลำดับผู้รับหลักประกันเรียงตามวันและเวลาที่ได้รับการจดทะเบียน โดยผู้รับหลักประกันที่ได้รับการจดทะเบียนก่อน มีสิทธอได้รับชำระหนี้ก่อน

นอกจากนี้ ยังได้มีการแก้ไข มาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัตินี้ โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา โดยกำหนดให้สิทธิในหลักประกันทางธุรกิจที่มีอยู่เกี่ยวพันกับสิทธิเรียกร้อง ตกแก่ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัตินี้จะเป็นคุณแก่ผู้ประกอบการรายย่อยหรือขนาดกลางมากน้อยอย่างไรนั้น คงต้องติดตามเมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้ต่อไป

อ่านพระราชบัญญัติเต็มได้ที่นี่: พระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558

Leave a Comment

Previous post:

Next post: