อ่านให้รู้เรื่อง ฟอกเงิน ตามทันปานามาเปเปอร์

by admin on เมษายน 8, 2016

panamapaper2

ประเด็นร้อนแรงในตอนนี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง ปานามาเปเปอร์ เอกสารธุรกรรมการฟอกเงินสะเทือนโลกของบริษัท มอสสัค ฟอนเซกกา (Mossack Fonseca) บริษัทกฎหมายข้ามชาติยักษ์ใหญ่จากปานามาที่เปิดดำเนินการในต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 35 ประเทศรวมถึงประเทศไทย โดยเอกสารฉบับดังกล่าวกว่า 11.5 ล้านหน้าได้รวบรวมรายชื่อของเหล่าคนดังที่ เข้ามามีเอี่ยวด้วย ไม่ว่าจะเป็นบุคคลระดับผู้นำและอดีตผู้นำประเทศจำนวนมาก รวมไปจนถึงนักธุรกิจ, มหาเศรษฐี,  นักกีฬา, ศิลปินและบุคคลมีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆ ทั่วโลกต่างพลอยโดนอ้างถึงกันทั้งสิ้น ไม่ว่าท้ายสุดแล้ว ความจริงจะเป็นเช่นไรคงต้องติดตามกันต่อไป

เมื่อคำว่า ฟอกเงิน เริ่มปรากฎในกระแสข่าวมากขึ้นในปัจจุบัน จึงขอมาทำความเข้าใจถึงลักษณะของการฟอกเงินและในส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยเราเสียหน่อยคงไม่เสียหลาย เมื่อรายชื่อในปานามาเปเปอร์นั้นปรากฎรายชื่อของคนไทยเรามีเอี่ยวเสียด้วย

การฟอกเงิน หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Laundry Money ถ้าหากแปลตามตัวก็คงจะหมายถึงการซักเงิน ซึ่งคงคล้ายกับการซักผ้าเพื่อขจัดคราบสกปรกออกไป ถ้ามองเช่นนี้ก็ไม่ถือว่าผิดไปจากนิยามตามกฎหมายนัก เพราะการฟอกเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หมายถึง การนำทรัพย์สินหรือเงินสกปรกหรือได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เข้าสู่กระบวนการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้เงินหรือทรัพย์สินนั้นกลับมาสะอาดถูกต้องตามกฎหมายและนำกลับมาใช้ได้เสมือนได้สิ่งนั้นมาโดยชอบ เพื่อหมุนเวียนเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจต่างๆ

หากใครทำผิดในส่วนของการฟอกเงินจะถือเป็นความผิดอาญา ในส่วนความผิด ที่เรียกว่า ฐานฟอกเงิน ซึ่งจะต้องมีการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้

(1) โอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพ ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับ การกระทำความผิด เพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ว่าก่อน ขณะ หรือหลังขณะการกระทำความผิด มิให้ต้องรับโทษ หรือรับโทษน้อยลงในความผิดมูลฐาน หรือ

(2) กระทำด้วยประการใดๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะ ที่แท้จริง การได้มาแหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใดๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด

ทรัพย์สินหรือเงินสกปรกอันจะมีความผิดฐานฟอกเงินได้ ในที่นี้ หมายถึง การได้มาจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมี 23 มูลฐานความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในปัจจุบันมี 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย

  1. ความผิดเกี่ยวกับการเข้าร่วมองค์กรอาชญากรรม
  2. ความผิดฐานก่อการร้าย
  3. ความผิดเกี่ยวกับการค้าประเวณีหญิงและเด็ก
  4. ความผิดเกี่ยวกับการค้ายาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
  5. ความผิดเกี่ยวกับการค้าอาวุธ
  6. ความผิดเกี่ยวกับการค้าของโจรและสินค้าอื่น
  7. ความผิดเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นและการรับสินบน
  8. ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกง
  9. ความผิดเกี่ยวกับการปลอมแปลงเงินตรา
  10. ความผิดเกี่ยวกับการปลอมและละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสินค้า
  11. ความผิดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
  12. ความผิดเกี่ยวกับการฆาตรกรรมและการทำร้ายร่างกายจนทำให้เกิดอันตรายสาหัส
  13. ความผิดเกี่ยวการลักพาตัว การกักขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และการจับตัวประกัน
  14. ความผิดเกี่ยวกับการลักทรัพย์
  15. ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบนำเข้าสินค้า
  16. ความผิดเกี่ยวกับการยักยอกทรัพย์
  17. ความผิดเกี่ยวกับการปลอมแปลงเอกสาร
  18. ความผิดเกี่ยวกับโจรสลัด
  19. ความผิดฐานลักลอบค้าอาวุธสงคราม
  20. ความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์
  21. ความผิดฐานการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้าย
  22. การค้ามนุษย์
  23. การลักลอบเข้าเมือง

(ข้อมูลจาก: http://53011310112g12.blogspot.com/2013/02/1-2-23-1.html)

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลายท่านอาจจะมองการฟอกเงินเป็นเรื่องไกลตัวไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราเสียหน่อย แถมการนำเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากๆก็เป็นผลดีไม่ใช่หรือ นอกจากเป็นการกระตุ้นและทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีเสียจนต่างประเทศสนใจอยากเข้ามาลงทุน เป็นการเพิ่มโอกาสใหม่ๆอีก แบบนี้ก็เห็นว่าเป็นข้อดี เสียอีกไม่ใช่หรือ

ใช่ที่หลายคนอาจจะมองว่าการฟอกเงินเป็นเรื่องไกลตัว แต่แท้จริงแล้วเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามากๆจนแทบจะกลืนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำเราเสียทีเดียว เพราะการฟอกเงินอย่างที่รู้คือเป็นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ซึ่งแน่นอนไม่ใช่เป็นแต่เพียงเรื่องของนักเศรษฐศาสตร์เท่านั้น แต่หมายถึงผู้บริโภค ผู้ประกอบการ คนที่ต้องใช้จ่ายอย่างเราๆท่านๆทุกคนด้วย และเป็นเรื่องของสังคมอีกส่วนหนึ่ง เพราะการฟอกเงินโดยเนื้อแท้แล้วเป็นการนำเงินจากการกระทำผิดมาทำให้แลดูเหมือนสะอาดแล้วสุดท้ายก็หมุนวนกลับไปเพื่อนำไปกระทำผิดอีกเช่นเดิม เป็นแหล่งทุนหลักของวงจรอาชญากรรมของประเทศเรานี่เอง

ส่วนการที่เงินหรือทรัพย์สินอันมีมูลค่าที่ไหลเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากๆแท้จริงแล้วนับเป็นเรื่องดี เพราะแสดงให้เห็นว่าประเทศเรามีศักยภาพทางเศรษฐกิจ แต่บางกรณีการที่เงินไหลวนเข้ามามากไปอาจทำให้เกิดภาวะของเศรษฐกิจเงินเฟ้อขึ้น เมื่อเกิดเงินเฟ้อราคาสินค้าหรือบริการต่างๆก็จะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่หากสาเหตุแท้จริงเกิดจากการฟอกเงินซึ่งไม่ได้มีการทำธุรกรรมเช่นนั้นอย่างแท้จริงแล้ว ประชาชนอย่างเราๆก็ย่อมเดือดร้อนเป็นธรรมดาจากราคาขายที่เพิ่มภาระให้แก่ตัวเรา โดยที่เงินได้ก็ไม่เพิ่ม ภาระก็หนักเสียเหลือเกิน จนบางครั้งวัฎจักรของความเป็นหนี้ในไทยคงยากจะหลุดพ้นเสีย

นอกจากนี้ หากประเทศใดมีเรื่องของการฟอกเงินเสียแล้วล่ะก็ ภาพลักษณ์อันดีงามที่สะสมกันมาย่อมติดลบเสียจนนักลงทุนทั้งในและนอกต่างอยากจะลี้หนีหายไปเสียสิ้น และยิ่งเมื่อมีเรื่องของการฟอกเงินบ่อยๆเข้า ความน่าเชื่อถือในสายตาของต่างประเทศก็แทบจะตกดิ่งอย่างฉุดไม่อยู่ แม้จะมีความสัมพันธ์กันมานานเพียงใด แต่เพราะขาดคำว่า trust คำเดียว อาจนำมาสู่จุดสิ้นสุดของความสัมพันธ์ได้ หากไม่เร่งแก้ไขให้ดีขึ้นต่อไป

เช่นนี้จะเห็นได้ว่า การฟอกเงิน ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราเสียเลย และอนาคตปานามาเปเปอร์จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยหรือไม่อย่างไรนั้น เราคงจะรู้คำตอบได้ในเวลาอันใกล้นี้

Leave a Comment

Previous post:

Next post: