กฎหมายเช่าซื้อรถฉบับใหม่ คุ้มครองผู้เช่าซื้อจ่ายดอกเบี้ยน้อยลง

by admin on กรกฎาคม 13, 2018

ปกติที่ผ่านมา การเช่าซื้อรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ ฝ่ายผู้เช่าซื้อส่วนใหญ่มักจะถูกทางไฟแนนซ์ หรือผู้ปล่อยสินเชื่อ ซึ่งมีอำนาจต่อรองที่ดีกว่า กดผู้เช่าซื้อให้เสียเปรียบ ด้วยการกำหนดให้จ่ายดอกเบี้ยแบบ อัตราคงที่ หรือที่เรียกกันว่า Flat Interest Rate  ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่มีการลดทั้งเงินต้น และดอกเบี้ยให้  ทำให้ประชาชนผู้ผ่อนรถอย่างเราๆรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม รู้สึกว่าตัวเองถูกเอารัดเอาเปรียบ ต้องแบกภาระดอกเบี้ยที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง

ด้วยเหตุนี้ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคจึงได้ออก “ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561” มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งมุ่งคุ้มครองผู้ที่เช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ไปใช้เพื่อการส่วนตัวเท่านั้น ไม่คุ้มครองกรณีผู้เช่าซื้อเป็นนิติบุคคล หรือซื้อเพื่อการขนส่ง การค้า ธุรกิจหรือเพื่อสินจ้าง โดยได้กำหนดรูปแบบของสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจในฐานะผู้ให้เช่าซื้อต้องจัดทำให้เป็นไปตามที่ประกาศกำหนด หากผู้ประกอบธุรกิจไม่ปฏิบัติตามจะต้องระวางโทษทั้งจำคุกและปรับ

หลัก ๆ ที่แก้ไขจะเป็นเรื่องการคิดอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัดชำระหนี้ การปรับลดดอกเบี้ยกรณีผู้บริโภคต้องการชำระค่าเช่าซื้อทั้งหมดในคราวเดียวกัน ค่าใช้จ่ายจากการบังคับยึดรถกรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระหนี้เกินกำหนด ซึ่งเดิมผู้ให้สินเชื่อเช่าซื้อหรือบริษัทลีสซิ่งสามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการยึดรถจากผู้บริโภคได้ แต่กฎหมายใหม่กำหนดข้อห้ามไว้ การกำหนดให้แสดงรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเช่าซื้อ อาทิ เงินต้น ดอกเบี้ย ค่างวดเช่าซื้อให้ชัดเจน เป็นต้น

โดยตามประกาศบางข้อ ระบุว่าให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์นั้นจะต้องเป็นการคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก ให้เหมือนกับการคำนวณดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยหรือที่เรียกว่า อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate) โดยการคิดดอกเบี้ยจะต้องคิดจากเงินต้นที่คงเหลือค้างในแต่ละงวด รวมไปถึงเรื่องการคิดเบี้ยปรับ ในประกาศยังกำหนดให้ผู้เช่าซื้อคิดเบี้ยปรับในกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระในแต่ละงวดสัญญาเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate) บวกร้อยละสามต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี

ส่วนเรื่องการผิดนัดชำระ ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชําระค่าเช่าซื้อรายงวด 3 งวดติดๆ กัน และทางผู้ให้สินเชื่อมีหนังสือบอกกล่าวผู้เช่าซื้อให้ใช้เงินรายงวดที่ค้างชําระนั้นภายในระยะเวลาอย่างน้อย 30 วันนับตั้งแต่วันที่ผู้เช่าซื้อได้รับหนังสือ และถ้าผู้เช่าซื้อละเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้

ส่วนในกรณีที่ผู้เช่าซื้อมีความประสงค์จะขอชําระเงินค่าเช่าซื้อทั้งหมดในคราวเดียว โดยไม่ต้องการผ่อนชําระค่าเช่าซื้อเป็นรายงวดตามสัญญาเช่าซื้อเพื่อปิดบัญชีค่าเช่าซื้อ หรือที่เรียกว่าโปะปิดบัญชี ผู้ให้เช่าซื้อหรือไฟแนนซ์จะต้องให้ส่วนลดแก่ผู้เช่าซื้อ ในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกําหนดชําระ โดยให้คิดคํานวณตามมาตรฐานการบัญชีว่าด้วย เรื่อง สัญญาเช่า ที่คณะกรรมการกําหนดมาตรฐานการบัญชี ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชีกําหนดและปรับปรุงมาตรฐานการบัญชี เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการจัดทําบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีและกฎหมายอื่น นั่นหมายความว่าถ้าคุณมีเงินโปะค่างวดรถทีเดียวเหมารวมค่างวดทั้งหมดที่คงค้างเหลืออยู่ ผู้เช่าซื้อจะได้รับส่วนลด เงินคืนดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายจริง ไม่เสียดอกเบี้ยทั้งตามที่สัญญาระบุไว้

และในกรณีที่ผู้เช่าซื้อชำระเงินค่าเช่าซื้อและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ครบถ้วนแล้ว ให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อเป็นของลูกค้าทันที โดยบริษัทลีสซิ่งต้องดำเนินการจดทะเบียนรถให้เป็นชื่อของลูกค้าภายใน 30 วัน หากเกินกำหนด บริษัทลีสซิ่งต้องเสียเบี้ยปรับในอัตราที่เท่ากับเบี้ยปรับที่ลูกค้าต้องชำระเมื่อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ

นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดเรื่องการประมูลและขายทอดตลาด คือ ก่อนนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ออกประมูลหรือขายทอดตลาด บริษัทเช่าซื้อต้องส่งหนังสือแจ้งลูกค้าให้ทราบไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้ลูกค้าใช้สิทธิ์ซื้อก่อน โดยจะซื้อได้ตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ และหากผู้เช่าซื้อไม่ใช้สิทธิ์ บริษัทลีสซิ่งก็ต้องแจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบ เพื่อเปิดโอกาสให้ใช้สิทธิ์เช่นเดียวกับผู้เช่าซื้อ

จากประกาศดังกล่าวทำให้บริษัทไฟแนนซ์ต้องคิดอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกและจะมีผลบังคับใช้สำหรับผู้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่เข้าทำสัญญาเช่าซื้อตั้งแต่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2561 เป็นต้นไป แต่!ในกรณีผู้เช่าซื้อที่เข้าทำสัญญาเช่าซื้อก่อนหน้านี้ยังคิดอัตราดอกเบี้ยแบบเดิมอยู่

 

ที่มา: Thairath , Prachachat , Bangkokbiznews , Money2know , Chobrod , ทนายคู่ใจ

Leave a Comment

Previous post:

Next post: