เจาะถ้ำเขาหลวงผิดพรบ.อุทยาน หรือไม่

by admin on กรกฎาคม 5, 2018

                      เจาะถ้ำเขาหลวงผิดพรบ.อุทยาน หรือไม่

เป็นอีกหนึ่งประเด็นถกเถียงล่าสุดในโลกออนไลน์ว่าการเจาะถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนเพื่อช่วยเหลือทีมนักฟุตบอลและผู้ฝึกสอน 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำ สามารถทำได้หรือไม่ อย่างไร

ซึ่งเรื่องนี้เองได้มีคำตอบจาก นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด เกี่ยวกับความกังวลต่อข้อถกเถียงเรื่องการเจาะถ้ำช่วยทั้ง 13 ชีวิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า  “ การเจาะถ้ำหรือกระทำการอื่นใดในเขตอุทยานหรือป่าไม้ แม้จะมีความผิดตาม พรบ.อุทยาน หรือ พรบ.ป่าไม้ แต่ถ้ากระทำเพื่อช่วย 13 ชีวิต ก็เป็นการกระทำความผิดด้วย “ความจำเป็น” เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึง และไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้ เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้นั้นไม่ต้อง รับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 67 ทุกท่านที่กำลังช่วยน้องๆ ทำไปเถอะ ไม่ต้องดูหรอกว่ากฎหมายจะว่าอย่างไร ชีวิตน้องๆ เหล่านั้นสำคัญกว่ามาบังคับใช้กฎหมายในยามนี้ ”

ซึ่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 67  บัญญัติว่า

“ ผู้ใดกระทำความผิดด้วยความจำเป็น
(1) เพราะอยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อำนาจ ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ หรือ
(2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้ เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน
ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ ”

อย่างไรก็ตามการกระทำความผิดด้วยความจำเป็นนั้น เป็นกรณีการกระทำที่กฎหมายยกเว้นโทษให้ หมายความว่า การกระทำนั้นยังคงเป็นความผิด แต่กฎหมายยกเว้นโทษให้ ซึ่งจะต่างกับกรณีการกระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายที่การกระทำนั้นจะไม่เป็นความผิดเลย แต่อย่างไรก็ตาม ผลก็เหมือนกันคือ ไม่ต้องรับโทษ

การกระทำโดยจำเป็นแยกได้เป็น 2 กรณี คือ
กรณีตามมาตรา 67 (1) คือ จำเป็นเพราะอยู่ในที่บังคับ มีหลัก ดังนี้
(1) อยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อำนาจ
(2) ไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้
(3) ผู้กระทำจะต้องมิได้ก่อเหตุการณ์นั้นขึ้นโดยความผิดของตน
(4) กระทำไปไม่เกินขอบเขต ได้แก่ ไม่เกินสมควรแก่เหตุ หรือไม่เกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น

กรณีตามมาตรา 67(2) คือ จำเป็นเพื่อให้พ้นจากภยันตราย มีหลัก ดังนี้
(1) มีภยันตราย
(2) ภยันตรายนั้นใกล้จะถึง
(3) เป็นภยันตรายที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงโดยวิธีอื่นใดได้
(4) ภยันตรายนั้นผู้กระทำโดยจำเป็นมิได้ก่อให้เกิดขึ้น
(5) กระทำไปเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นภยันตราย
(6) กระทำไปไม่เกินขอบเขต ได้แก่ ไม่เกินสมควรแกเหตุ หรือไม่เกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น
ทั้งสองกรณีถ้าการกระทำนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้กระทำยังมีความผิด แต่กฎหมายยกเว้นโทษให้

จึงเห็นได้ว่ากรณีดังกล่าวนี้เป็นการกระทำโดยจำเป็นเพื่อให้เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้ เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน ตามปอ.มาตรา 67(2)  นั่นเอง

 

ที่มา :   , socialjarm ,พีพีทีวี 

Leave a Comment

Previous post:

Next post: