เจ้าบ่าวเบี้ยวงานแต่ง เจ้าสาวเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่?

by admin on กรกฎาคม 24, 2018

 

เจ้าบ่าวเบี้ยวงานแต่ง เจ้าสาวเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่?

               จากกรณีโลกโซเชียลมีการแห่แชร์คลิปขณะที่ถ่ายจากงานแต่งงานแห่งหนึ่งในจ.ราชบุรี ซึ่งเจ้าสาวได้ขึ้นเวทีขออภัยแขกที่มาร่วมงานด้วยเสียงสั่นเครือ หลังเจ้าบ่าวไม่มางานแต่ง ทำให้งานแต่งงานมีอันต้องยกเลิกไป โดยมีใจความว่า ขอขอบคุณแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน ตัวเองทำหน้าที่เจ้าสาวได้ดีที่สุดแล้ว ขอบคุณทุกกำลังใจ เหตุการณ์วันนี้ตนไม่ทราบมาก่อนว่าจะเป็นแบบนี้ ขอบคุณเพื่อนๆ ทุกคน เชื่อว่าเพื่อนเจ้าสาวทุกคนคงเป็นกำลังใจให้เจ้าสาวคนนี้ ถ้ามีสิ่งใดบกพร่อง เจ้าภาพดูแลไม่ทั่วถึงต้องขออภัยไว้ด้วย ซึ่งหลังภาพและเรื่องราวถูกเผยแพร่ออกไปชาวเน็ตต่างคอมเมนต์ให้กำลังใจเจ้าสาวกันอย่างล้นหลาม

สำหรับเรื่องเงินสินสอด และเรื่องค่าเสียหาย ที่ฝ่ายเจ้าสาวจะสามารถเรียกร้องจากฝ่ายเจ้าบ่าวได้หรือไม่นั้น ในเรื่องนี้ต้องดูก่อนว่าทั้งสองฝ่ายมีการหมั้นหมายกันแล้วหรือยัง ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ นาย นิติธร แก้วโต ทนายความอิสระ ได้แสดงความคิดเห็นในโดยระบุว่า เรื่องลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาบ่อยครั้ง ฝ่ายเจ้าสาวไม่สามารถเรียกร้องเงินทดแทนจากฝ่ายเจ้าบ่าวได้ เพราะไม่มีการจัดพิธีหมั้น

ซึ่งหากมีการหมั้นไว้แล้วเจ้าบ่าวเบี้ยว ก็จะเรียกค่าเสียหายได้ เช่น ค่าเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น , ค่าเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดามารดา หรือบุคคลผู้กระทำการในฐานะเช่นบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร , ค่าเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพหรือทางทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส และหากมีการหมั้น แล้วฝ่ายชายไปมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่น โดยที่คนอื่นก็รู้ว่าฝ่ายชายหมั้นแล้ว ก็เรียกค่าเสียหายจากหญิงอื่นได้

โดยในทางกฎหมายก่อนที่จะมีการแต่งงานจะต้องมีพิธีหมั้นก่อน เพราะถือว่าเป็นการสัญญา เมื่อหมั้นแล้วฝ่ายชายผิดสัญญาของหมั้นจะตกเป็นของฝ่ายหญิงทันที หากมีค่าเสียหายอื่นเกิดขึ้นสามารถเรียกจากฝ่ายที่ผิดสัญญาหมั้นได้แต่ถ้าไม่มีการหมั้น คงทำไรไม่ได้เลย ส่วนจะไปบังคับให้มาแต่งงานไม่สามารถทำได้ เพราะการแต่งงานจะต้องยินยอมกันทั้ง 2 ฝ่าย

อย่างไรก็ตาม นายสงกรานต์ อัจฉริยะทรัพย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ให้ความเห็นกรณีดังกล่าวว่า แม้กรณีนี้จะไม่มีการหมั้น อย่างที่มีการกล่าวถึงก่อนหน้านี้ว่า น้องมะนาว อาจจะฟ้องร้องไม่ได้ เพราะตามกฎหมาย เมื่อมีการหมั้น ถือเป็นการที่ฝ่ายชายส่งมอบทรัพย์ให้กับฝ่ายหญิง เพื่อเป็นสัญญาว่าทั้งสองฝ่ายจะสมรสกัน ฝ่ายหญิงสามารถเรียกค่าทดแทน เนื่องจากผิดสัญญาหรือข้อตกลงเกี่ยวกับการสมรสนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1439 ก็ตาม

แต่โดยข้อมูลจากทั้งฝ่ายน้องมะนาวและฝ่ายชายระบุตรงกันว่า ทั้ง 2 ฝ่ายมีการตกลงเรื่องงานแต่งงานกันมาก่อนหน้านี้แล้ว มีพยานเป็นพ่อแม่และญาติของทั้ง 2 ฝ่ายที่ยินยอม และมาตกลงกัน จนมีการเตรียมงานแต่งงาน การถ่ายภาพพรีเวดดิ้ง และแจกการ์ดเพื่อเชิญแขกมาร่วมงาน จนเป็นที่รับรู้ของคนจำนวนมาก กระทั่งวันงานฝ่ายเจ้าบ่าวกลับไม่มา มีเพียงคนในครอบครัวมาร่วมงานแต่งงาน

กรณีนี้ น้องมะนาวจึงสามารถฟ้องร้องได้ โดยถือว่าเจ้าบ่าวเข้าข่ายความผิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ “มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น” ฝ่ายชายถือว่าทำให้น้องมะนาวเสื่อมเสียชื่อเสียง และเกิดความอับอาย นอกจากนี้ ยังสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในส่วนของการเตรียมงานแต่งงาน และค่าจ้าง ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างรับรู้ร่วมกันด้วย

นายสงกรานต์ยังระบุว่า กรณีนี้หากฝ่ายหญิงต้องการฟ้องร้อง จะต้องรวบรวมหลักฐาน และรายละเอียดค่าเสียหายที่เกิดขึ้น เช่น ใบเสร็จค่าโต๊ะจีน ใบเสร็จค่าใช้จ่ายที่สูญเสียไป และพยานที่จะสามารถยืนยันว่าทั้ง 2 ฝ่ายยินยอมและรับรู้ว่าจะมีการจัดงานแต่งงาน

 

ที่มา : tnnthailand , khaosod , ch7  , @LawByRachaponsLawyer

Leave a Comment

Previous post:

Next post: