พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.๒๕๕๘
พระราชบัญญัติ
ความเท่าเทียมระหว่างเพศ
พ.ศ. ๒๕๕๘
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘
เป็นปีที่ ๗๐ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ
ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างเพศ
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของ
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ๒๕๕๘”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศ
ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” หมายความว่า การกระทำหรือไม่กระทำการใด
อันเป็นการแบ่งแยก กีดกัน หรือจำกัดสิทธิประโยชน์ใด ๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม โดยปราศจาก
ความชอบธรรม เพราะเหตุที่บุคคลนั้นเป็นเพศชายหรือเพศหญิง หรือมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศ
โดยกำเนิด
“กองทุน” หมายความว่า กองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ
“กรม” หมายความว่า กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รักษาการ
ตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกระเบียบหรือประกาศ เพื่อปฏิบัติการ
ตามพระราชบัญญัตินี้
ระเบียบหรือประกาศตามวรรคหนึ่ง เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
หมวด ๑
คณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ
มาตรา ๕ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียม
ระหว่างเพศ” เรียกโดยย่อว่า “คณะกรรมการ สทพ.” ประกอบด้วย
(๑) นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ
(๒) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นรองประธานกรรมการ
(๓) กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวนสิบเอ็ดคน ได้แก่ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง
กลาโหม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและ
ความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงแรงงาน
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และปลัดกระทรวงสาธารณสุข
(๔) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนเก้าคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้แทนองค์กรสตรี
และองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์
ในการทำงานที่เกี่ยวกับความเท่าเทียมระหว่างเพศไม่น้อยกว่าห้าปี จำนวนหกคน และผู้ทรงคุณวุฒิ
ทางด้านนิติศาสตร์ ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านสังคมศาสตร์ หรือด้านจิตวิทยา จำนวนสามคน
ให้อธิบดีเป็นกรรมการและเลขานุการ และมีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการในกรมจำนวนไม่เกิน
สองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
มาตรา ๖ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์
(๓) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๔) ไม่เคยถูกไล่ออกหรือปลดออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะ
กระทำผิดวินัย
(๕) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิด
ที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๖) ไม่เคยต้องคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ
ว่าได้กระทำการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ
(๗) ไม่เคยต้องคำ พิพากษาหรือคำ สั่งของศาลถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน
เพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
(๘) ไม่เคยเป็นผู้กระทำการล่วงเกิน คุกคาม หรือก่อความเดือดร้อนรำคาญทางเพศ
(๙) ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น
ผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งซึ่งรับผิดชอบการบริหารพรรคการเมือง ที่ปรึกษาพรรคการเมือง
หรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง
มาตรา ๗ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี
เมื่อครบกำหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่
ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่า
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่ง
ติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้
มาตรา ๘ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) คณะรัฐมนตรีให้ออก เพราะบกพร่องหรือไม่สุจริตต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย
หรือหย่อนความสามารถ
(๔) พ้นจากการเป็นผู้แทนองค์กรสตรีหรือองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ
ตามมาตรา ๕ (๔)
(๕) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๖
มาตรา ๙ ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้แต่งตั้งผู้อื่น
ดำรงตำแหน่งแทน เว้นแต่วาระของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเหลือไม่ถึงเก้าสิบวัน จะไม่แต่งตั้งกรรมการ
ผู้ทรงคุณวุฒิแทนก็ได้ และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างนั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่
ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว
ในระหว่างที่ยังไม่ได้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้คณะกรรมการ สทพ.
ประกอบด้วยกรรมการเท่าที่เหลืออยู่
มาตรา ๑๐ คณะกรรมการ สทพ. มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดนโยบาย มาตรการ และแผนปฏิบัติงานเพื่อให้มีการส่งเสริมความเท่าเทียม
ระหว่างเพศในทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น
(๒) เสนอแนะนโยบาย และข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับต่อคณะรัฐมนตรี
เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์แห่งพระราชบัญญัตินี้
(๓) กำหนดแนวทางในการให้ความช่วยเหลือ ชดเชยและเยียวยา หรือบรรเทาทุกข์แก่บุคคล
ซึ่งตกเป็นผู้เสียหายจากการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ
(๔) ตรวจสอบ แนะนำ และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐและ
หน่วยงานของรัฐในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
(๕) ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติ
โดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ
(๖) ส่งเสริมให้มีการเก็บข้อมูลจำแนกเพศ รวมทั้งเสนอรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม
พระราชบัญญัตินี้ต่อคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
(๗) วางระเบียบเกี่ยวกับการกำกับดูแลและตรวจสอบการดำเนินงานของคณะกรรมการวินิจฉัย
การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ และระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
(๘) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ สทพ.
หรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้รวมถึงการกำหนดมาตรการพิเศษดังต่อไปนี้ เพื่อส่งเสริม
ให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างเพศอย่างแท้จริง
(๑) ส่งเสริมโอกาสในการเข้าถึงสิทธิด้านต่าง ๆ ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
(๒) ปรับปรุงแบบแผนความประพฤติทางสังคมและวัฒนธรรมระหว่างเพศเพื่อขจัดอคติ
วิธีปฏิบัติที่อยู่บนพื้นฐานของความเหลื่อมล้ำ และความรุนแรงเพราะเหตุแห่งเพศเพื่อขจัดอุปสรรค
ในการเข้าถึงสิทธิด้านต่าง ๆ
มาตรา ๑๑ การประชุมคณะกรรมการ สทพ. ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
ของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
ในการประชุมคณะกรรมการ สทพ. ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้
ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการและรองประธานกรรมการ
ไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน
ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา ๑๒ คณะกรรมการ สทพ. มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือ
ปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการ สทพ. มอบหมายได้
การประชุมคณะอนุกรรมการ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
หมวด ๒
คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศและกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
มาตรา ๑๓ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติ
โดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” เรียกโดยย่อว่า “คณะกรรมการ วลพ.” ประกอบด้วย ประธานกรรมการ
คนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกจำนวนไม่น้อยกว่าแปดคนแต่ไม่เกินสิบคน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง โดยการสรรหา
จากผู้ซึ่งมิใช่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ สทพ. ที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านการคุ้มครอง
ผู้ถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมหรือส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศจำนวนสามคน และผู้ทรงคุณวุฒิ
ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านนิติศาสตร์ ด้านสังคมศาสตร์ ด้านจิตวิทยา และด้านแรงงาน อย่างน้อย
ด้านละหนึ่งคน
ให้อธิบดีมีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการในกรมเป็นเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ
หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาประธานกรรมการและกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบ
ที่คณะกรรมการ สทพ. กำหนด
มาตรา ๑๔ คณะกรรมการ วลพ. มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) วินิจฉัยปัญหาที่มีการยื่นคำร้องว่ามีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศตามมาตรา ๑๘
(๒) กำหนดมาตรการชั่วคราวก่อนมีคำวินิจฉัยเพื่อคุ้มครองหรือบรรเทาทุกข์ตามมาตรา ๑๙
(๓) ออกคำสั่งตามมาตรา ๒๐
(๔) ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินตามมาตรา ๒๑
(๕) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ วลพ.
มาตรา ๑๕ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๖ มาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๙ มาตรา ๑๑
และมาตรา ๑๒ มาใช้บังคับกับคณะกรรมการ วลพ. โดยอนุโลม
มาตรา ๑๖ ให้กรมรับผิดชอบงานธุรการและงานวิชาการของคณะกรรมการ สทพ.
และคณะกรรมการ วลพ. และมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) รับคำร้องว่ามีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ พร้อมทั้งทำความเห็นเสนอต่อ
คณะกรรมการ สทพ. คณะกรรมการ วลพ. หรือคณะอนุกรรมการ แล้วแต่กรณี
(๒) ดำเนินการให้มีการศึกษา การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันมิให้เกิด
การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ
(๓) ประสานงานกับบุคคล หน่วยงาน หรือองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
เพื่อให้ความคุ้มครองและป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศทั้งในระดับประเทศ
และระหว่างประเทศ
(๔) จัดทำรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ เสนอคณะกรรมการ สทพ.
เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
(๕) ปฏิบัติการอื่นตามที่กฎหมายกำ หนด หรือตามที่รัฐมนตรี คณะกรรมการ สทพ.
คณะกรรมการ วลพ. หรือคณะอนุกรรมการมอบหมาย
หมวด ๓
การตรวจสอบการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ
มาตรา ๑๗ การกำหนดนโยบาย กฎ ระเบียบ ประกาศ มาตรการ โครงการ หรือวิธีปฏิบัติ
ของหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน หรือบุคคลใดในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
ระหว่างเพศจะกระทำมิได้
การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพ
ได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น หรือเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัย หรือการปฏิบัติตามหลักการ
ทางศาสนา หรือเพื่อความมั่นคงของประเทศ ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ
มาตรา ๑๘ บุคคลใดเห็นว่าตนได้รับหรือจะได้รับความเสียหายจากการกระทำในลักษณะ
ที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ และมิใช่เป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล
หรือที่ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเด็ดขาดแล้ว ให้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ วลพ. เพื่อพิจารณา
วินิจฉัยว่ามีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศหรือไม่ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการ วลพ. ให้เป็นที่สุด
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการในการยื่นคำร้อง การพิจารณา และการวินิจฉัยให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรี
กำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ สทพ.
การร้องขอตามวรรคหนึ่ง ไม่เป็นการตัดสิทธิผู้ร้องในอันที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดต่อศาล
ที่มีเขตอำนาจ โดยให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินให้แก่บุคคลซึ่งถูกเลือกปฏิบัติ
โดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศได้ และหากการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศนั้นเป็นการกระทำ
โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ศาลจะกำหนดค่าเสียหายในเชิงลงโทษให้แก่บุคคลซึ่งถูกเลือกปฏิบัติ
โดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศไม่เกินสี่เท่าของค่าเสียหายที่แท้จริงด้วยก็ได้
การใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง บุคคลซึ่งถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ
อาจขอให้องค์กรที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ยื่นคำร้องหรือฟ้องคดีแทนได้
การฟ้องคดีตามวรรคสอง ให้ฟ้องภายในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่คณะกรรมการ วลพ.
มีคำวินิจฉัย หรือนับแต่วันที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณี
มาตรา ๑๙ ในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ
คณะกรรมการ วลพ. อาจกำหนดมาตรการชั่วคราวก่อนมีคำวินิจฉัยเพื่อคุ้มครองหรือบรรเทาทุกข์แก่บุคคล
ซึ่งถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศเท่าที่จำเป็นและสมควรแก่กรณีก็ได้
มาตรา ๒๐ ในกรณีที่คณะกรรมการ วลพ. วินิจฉัยว่า เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
ระหว่างเพศ ให้มีอำนาจออกคำสั่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ให้หน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
ด้วยวิธีใดที่เห็นเหมาะสม เพื่อระงับและป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ
(๒) ให้การชดเชยและเยียวยาผู้เสียหายตามความในหมวด ๔
คำสั่งของคณะกรรมการ วลพ. ตามวรรคหนึ่ง จะต้องแสดงเหตุผลอย่างชัดเจนและอาจกำหนด
เงื่อนไขใด ๆ ได้เท่าที่จำเป็น รวมทั้งจะมีข้อสังเกตเสนอต่อคณะกรรมการ สทพ. เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ
องค์กรเอกชน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีใดตามที่เห็นสมควรก็ได้
มาตรา ๒๑ ในกรณีที่คณะกรรมการ วลพ. วินิจฉัยว่า มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
ระหว่างเพศโดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และยังไม่มีคำวินิจฉัยของ
ศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้คณะกรรมการ วลพ. ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน
เพื่อพิจารณายื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวขัดหรือแย้ง
ต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
มาตรา ๒๒ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กรรมการ วลพ. อนุกรรมการ
หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งคณะกรรมการ วลพ. มอบหมาย มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) เข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ใด ๆ เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องโดยมีหมายค้น
(๒) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งสิ่งของหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องมา
เพื่อประกอบการพิจารณา
ให้ผู้เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวก ชี้แจงข้อเท็จจริง ตอบหนังสือสอบถาม หรือส่งสิ่งของ
หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องแก่กรรมการ วลพ. อนุกรรมการ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าว
ในการปฏิบัติการตามวรรคหนึ่ง
มาตรา ๒๓ ให้กรรมการ วลพ. อนุกรรมการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติการ
ตามพระราชบัญญัตินี้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกครั้ง
บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
หมวด ๔
การชดเชยและเยียวยาผู้เสียหาย
มาตรา ๒๔ เมื่อคณะกรรมการ วลพ. มีคำวินิจฉัยว่ามีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
ระหว่างเพศ ให้ผู้เสียหายมีสิทธิขอรับการชดเชยและเยียวยาโดยยื่นคำขอต่อกรมตามแบบที่อธิบดี
ประกาศกำหนดภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ วลพ.
สิทธิขอรับการชดเชยและเยียวยาตามวรรคหนึ่ง เป็นสิทธิเฉพาะตัวไม่อาจโอนกันได้และไม่ตกทอด
ทางมรดก
มาตรา ๒๕ ในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ คนเสมือนไร้ความสามารถหรือคนไร้ความสามารถ
หรือในกรณีที่ผู้เสียหายไม่สามารถยื่นคำขอรับการชดเชยและเยียวยาด้วยตนเองได้ ผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์
ผู้อนุบาล สามีหรือภริยา ผู้ดูแลหรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหาย แล้วแต่กรณี จะยื่นคำขอแทน
ก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด
มาตรา ๒๖ การชดเชยและเยียวยาผู้เสียหายให้กระทำโดยให้ความช่วยเหลือประการหนึ่ง
ประการใด หรือให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ดังต่อไปนี้
(๑) ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ
(๒) ค่าสูญเสียโอกาสที่เป็นค่าเสียหายในเชิงพาณิชย์ซึ่งสามารถคำนวณเป็นเงินได้
(๓) ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการรักษาพยาบาล รวมทั้งค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ
(๔) การชดเชยและเยียวยาในรูปแบบหรือลักษณะอื่น
หลักเกณฑ์ วิธีการ และจำนวนเงินในการชดเชยและเยียวยาผู้เสียหายตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไป
ตามระเบียบที่คณะกรรมการ สทพ. กำหนด
มาตรา ๒๗ การได้รับการชดเชยและเยียวยาตามมาตรา ๒๖ ไม่เป็นการตัดสิทธิผู้เสียหาย
ในอันที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดต่อศาลที่มีเขตอำนาจ ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๘
วรรคสองและวรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม
หมวด ๕
กองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ
มาตรา ๒๘ ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในกรม เรียกว่า “กองทุนส่งเสริมความเท่าเทียม
ระหว่างเพศ” เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๒๙ กองทุน ประกอบด้วย
(๑) เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี
(๒) เงินสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ
(๓) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้กองทุน
(๔) เงินค่าปรับที่ได้รับจากการลงโทษผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
(๕) ผลประโยชน์ที่เกิดจากกองทุน
(๖) รายได้อื่น
เงินและทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง ให้ส่งเข้ากองทุนโดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
มาตรา ๓๐ เงินในกองทุนนี้ให้ใช้จ่ายภายใต้กรอบวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
(๑) เพื่อกิจกรรมหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ
(๒) เพื่อคุ้มครองและป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ
(๓) เพื่อช่วยเหลือ ชดเชยและเยียวยา หรือบรรเทาทุกข์แก่บุคคลซึ่งตกเป็นผู้เสียหายจาก
การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศตามมาตรา ๒๖
(๔) เพื่อการสอดส่องดูแลและให้คำแนะนำหรือคำปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่
ของรัฐและหน่วยงานของรัฐในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
(๕) เพื่อส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันมิให้มี
การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ
(๖) เพื่อการติดต่อและประสานงานกับบุคคล หน่วยงาน หรือองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ
ภาคเอกชน และภาคประชาชน
(๗) เพื่อการอื่นตามที่คณะกรรมการ สทพ. เห็นสมควร
มาตรา ๓๑ ให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนคณะหนึ่ง ประกอบด้วย อธิบดีเป็นประธานกรรมการ
ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนกรมบัญชีกลาง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะกรรมการ สทพ. แต่งตั้ง
จำนวนสี่คน ในจำนวนนี้จะต้องเป็นผู้แทนจากภาคเอกชน ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ด้านการส่งเสริม
ความเท่าเทียมระหว่างเพศ จำนวนสามคน และด้านการบริหารกองทุน จำนวนหนึ่งคน เป็นกรรมการ
ให้รองอธิบดีซึ่งอธิบดีมอบหมายเป็นกรรมการและเลขานุการ
คณะกรรมการบริหารกองทุนจะแต่งตั้งข้าราชการในกรมจำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการก็ได้
มาตรา ๓๒ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๖ มาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๙ มาตรา ๑๑
และมาตรา ๑๒ มาใช้บังคับกับคณะกรรมการบริหารกองทุนโดยอนุโลม
มาตรา ๓๓ คณะกรรมการบริหารกองทุนมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) บริหารกองทุน การรับ การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินกองทุน รวมทั้งดำเนินการเกี่ยวกับ
การระดมทุน การลงทุน การจัดหาผลประโยชน์ และการจัดการกองทุน ให้เป็นไปตามระเบียบที่
คณะกรรมการ สทพ. กำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
(๒) พิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินชดเชยและเยียวยาแก่ผู้เสียหายเนื่องจากการเลือกปฏิบัติ
โดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศตามระเบียบที่คณะกรรมการ สทพ. กำหนด
(๓) รายงานสถานะทางการเงินและการบริหารกองทุนต่อคณะกรรมการ สทพ.
หมวด ๖
บทกำหนดโทษ
มาตรา ๓๔ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการ วลพ. ตามมาตรา ๒๐ (๑)
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๓๕ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๒ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน
หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๓๖ บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าเจ้าพนักงานดังต่อไปนี้เห็นว่าผู้ต้องหา
ไม่ควรได้รับโทษจำคุกหรือไม่ควรถูกฟ้องร้อง ให้มีอำนาจเปรียบเทียบ ดังต่อไปนี้
(๑) อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย สำหรับความผิดที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร
(๒) ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย สำหรับความผิดที่เกิดขึ้น
ในจังหวัดอื่น
ในกรณีที่มีการสอบสวน ถ้าพนักงานสอบสวนพบว่าบุคคลใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
และบุคคลนั้นยินยอมให้เปรียบเทียบ ให้พนักงานสอบสวนส่งเรื่องให้ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบตาม (๑) หรือ (๒)
แล้วแต่กรณี ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่บุคคลนั้นแสดงความยินยอมให้เปรียบเทียบ
เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระเงินค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายในสามสิบวันแล้วให้ถือว่าคดีเลิกกัน
ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันไม่มีมาตรการป้องกันการเลือกปฏิบัติ
โดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศที่ชัดเจนส่งผลให้บุคคลซึ่งถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศไม่ได้รับ
ความคุ้มครองและไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่าที่ควร สมควรมีกฎหมายเพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ถูกเลือกปฏิบัติ
โดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ และป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ซึ่งสอดคล้องกับ
หลักการสิทธิมนุษยชนสากลตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี จึงจำเป็นต้อง
ตราพระราชบัญญัตินี้