ร่างพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า
บันทึกหลักการและเหตุผล
ประกอบร่างพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
หลักการ
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔
และพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
๑. ปรับปรุงคำนิยามให้ชัดเจนขึ้น เช่น คำว่า “เครื่องหมาย” เพื่อให้เกิดความชัดเจน และรองรับสิ่งอื่นๆ ที่ต้องการให้ได้รับความคุ้มครองในอนาคต และ คำว่า “อธิบดี” เพื่อให้มีความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน (ร่างมาตรา ๓)
๒. ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมโดยกำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจในการออกกฎกระทรวงเพื่อลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมได้ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เจ้าของเครื่องหมายการค้ามาจดทะเบียนเพื่อขอรับความคุ้มครองเพิ่มขึ้น (ร่างมาตรา ๔)
๓. ปรับปรุงบัญชีอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติ เพื่อให้เหมาะสมและทันต่อสภาวการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และเพื่อให้สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนบทบัญญัติบางมาตรา เช่น เรื่องการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า โดยเปลี่ยนเป็นการแจ้งการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า ซึ่งไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด
เพิ่มบทบัญญัติให้มีการนำเงินค่าธรรมเนียมมาเป็นทุนใช้จ่ายในการช่วยเหลือ อุดหนุนกิจการและการดำเนินงานของกรมทรัพย์สินทางปัญญาในส่วนที่เกี่ยวกับการพัฒนา การวิจัย การคุ้มครอง การบริหาร และการดำเนินงานด้านเครื่องหมายการค้า เพื่อเป็นการส่งเสริมการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาทั้งในประเทศและต่างประเทศ
(ร่างมาตรา ๕ และบัญชีอัตราค่าธรรมเนียม)
๔. ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการจดทะเบียนและขั้นตอนการจดทะเบียนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่ออำนวยประโยชน์แก่ผู้ขอจดทะเบียนในการขอรับความคุ้มครองเครื่องหมายการค้า เช่น เพิ่มเติมลักษณะบ่งเฉพาะของเครื่องหมายการค้า เพิ่มเติมลักษณะต้องห้ามรับจดทะเบียนของเครื่องหมายการค้า ปรับปรุงหลักเกณฑ์การพิจารณาสินค้าที่ขอจดทะเบียนให้ครอบคลุมถึงสินค้าที่มีลักษณะอย่างเดียวกันและเกี่ยวข้องกัน (ร่างมาตรา ๖ – ๑๑ ร่างมาตรา ๑๕ – ๑๖ ร่างมาตรา ๒๐ – ๒๕ และร่างมาตรา ๔๓)
๕. ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โดยกำหนดให้คำขอจดทะเบียนหนึ่งฉบับ สามารถขอจดทะเบียนสำหรับสินค้าหลายจำพวกได้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้ยื่นคำขอจดทะเบียน และสอดคล้องกับอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ เช่น Madrid Agreement, Madrid Protocol เป็นต้น (ร่างมาตรา ๑๒)
๖. ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการฟ้องคดีต่อศาล โดยกำหนดเพิ่มเติมว่า ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาล ให้ผู้ฟ้องคดีส่งหนังสือแจ้งให้นายทะเบียนทราบ เพื่อแก้ปัญหากรณีที่มีการแจ้งฟ้องคดีต่อศาลเกินกำหนดเวลา และนายทะเบียนได้ดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนนั้นไปแล้ว ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ (ร่างมาตรา ๓๑)
๗. ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าจากระบบการจดทะเบียนเป็นระบบการแจ้งต่อนายทะเบียน เพื่อให้เกิดความสะดวกและไม่เป็นการจำกัดสิทธิของคู่สัญญา (ร่างมาตรา ๔๖ – ๔๗)
๘. ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับระยะเวลาการจดทะเบียนให้เหมาะสมและสอดคล้องกันยิ่งขึ้น เพื่อให้ขั้นตอนการพิจารณาคำขอจดทะเบียนกระชับและรวดเร็วขึ้น (ร่างมาตรา ๑๗ – ๑๙ ร่างมาตรา ๒๔ รางมาตรา ๒๖ – ๒๘ ร่างมาตรา ๓๐ ร่างมาตรา ๓๒ ร่างมาตรา ๓๘ ร่างมาตรา ๔๒ และร่างมาตรา ๕๐)
๙. เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับรายละเอียดในเรื่องการลวงขายสินค้าที่จะถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายเครื่องหมายการค้าให้ชัดเจนยิ่งขึ้น (ร่างมาตรา ๕๑)
๑๐. เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการเปรียบเทียบปรับ โดยกำหนดว่า ในคดีที่ผู้กระทำผิดยินยอมชำระค่าปรับตามที่คณะกรรมการเปรียบเทียบปรับกำหนด ให้ถือว่าคดีเลิกกัน เพื่อเป็นการลดปริมาณคดีความผิดเล็กน้อยที่จะไปสู่ศาล (ร่างมาตรา ๕๒)
๑๑. เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับโทษปรับเป็นรายวัน เพื่อกำหนดโทษแก่ผู้ที่ไม่แจ้งการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า การโอนการอนุญาตตามสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า การยกเลิกการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า และการอนุญาตช่วงให้บุคคลอื่นใช้เครื่องหมายการค้า ให้นายทะเบียนทราบ (ร่างมาตรา ๕๔)
เหตุผล
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางประการของพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ และพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓ เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น และเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการให้ความคุ้มครองในระดับสากล เนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวมีขั้นตอนการจดทะเบียนค่อนข้างมาก ทำให้ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการนาน จึงส่งผลให้การรับจดทะเบียนเกิดความล่าช้า ไม่สามารถสนองตอบต่อความต้องการของผู้ประกอบธุรกิจได้ภายในระยะเวลาจำกัด นอกจากนี้ ยังปรากฏว่าผู้ประกอบธุรกิจไทยที่ส่งสินค้าไปจำหน่ายในต่างประเทศไม่ได้รับความสะดวกในการจดทะเบียนเพื่อขอรับความคุ้มครองเครื่องหมายการค้าในประเทศต่างๆ จึงสมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับขั้นตอนการจดทะเบียน ระยะเวลาและค่าธรรมเนียมใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ร่าง
พระราชบัญญัติ
เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ..)
พ.ศ. ….
………………………..
………………………..
………………………..
………………………………………………….
………………………………………………….
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้า
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า “เครื่องหมาย” และคำว่า “อธิบดี” ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ “เครื่องหมาย” หมายความว่า ภาพ ตรา ชื่อ คำ ข้อความ ตัวหนังสือ ตัวเลข ลายมือชื่อ กลุ่มของสี รูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุ หรือสิ่งเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันหรือสิ่งอื่นใดที่กำหนดในกฎกระทรวง
“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา และให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญามอบหมายด้วย”
มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งนายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียม และกำหนดกิจการอื่น กับออกประกาศ ทั้งนี้ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้”
มาตรา ๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๕/๑ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔
“มาตรา ๕/๑ เงินค่าธรรมเนียมที่ได้จากการดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้นำเข้ากรมทรัพย์สินทางปัญญาร้อยละห้าสิบ เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายในการช่วยเหลือ อุดหนุนกิจการ และการดำเนินงานของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ในส่วนที่เกี่ยวกับการส่งเสริม การพัฒนา การวิจัย การคุ้มครอง การบริหาร และการดำเนินงานด้านเครื่องหมายการค้า การใช้จ่ายเงินตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด”
มาตรา ๖ ให้ยกเลิกความใน (๒) และ (๓) ของมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(๒) คำ ข้อความ หรือภาพอันไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง และไม่เป็นหรือแสดงถึงชื่อทางภูมิศาสตร์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
(๓) กลุ่มของสี ตัวหนังสือ หรือตัวเลข ที่แสดงโดยลักษณะพิเศษ หรือคำที่ประดิษฐ์ขึ้น”
มาตรา ๗ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๗) ของมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔
“(๗) รูปร่าง รูปทรงของวัตถุที่แสดงโดยลักษณะพิเศษ”
มาตรา ๘ ให้ยกเลิกความในวรรคสามของมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“เครื่องหมายที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามวรรคหนึ่ง หรือวรรคสอง หากได้มีการจำหน่าย เผยแพร่ หรือโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นจนแพร่หลายแล้วตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และพิสูจน์ได้ว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์นั้นแล้ว ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ”
มาตรา ๙ ให้ยกเลิกความใน (๒) ของมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(๒) ธงชาติ หรือธงราชการ หรือเครื่องหมายประจำชาติ เครื่องหมายราชการ เครื่องหมายควบคุมและรับรองคุณภาพของสินค้า ของประเทศไทย เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้ซึ่งมีอำนาจหน้าที่”
มาตรา ๑๐ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๒/๑) ของมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔
“(๒/๑) ธงพระอิสริยยศ”
มาตรา ๑๑ ให้ยกเลิกความใน (๗) ของมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(๗) เครื่องหมายกาชาด นามกาชาด หรือกาเจนีวา”
มาตรา ๑๒ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งและวรรคสองของมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๙ การขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น จะขอจดทะเบียนสำหรับสินค้าเฉพาะอย่างในจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันก็ได้ แต่ต้องระบุรายการสินค้าที่ประสงค์จะได้รับความคุ้มครองแต่ละรายการคำขอจดทะเบียนฉบับหนึ่ง จะขอจดทะเบียนสำหรับสินค้าต่างจำพวกกันก็ได้”
มาตรา ๑๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔
“การขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าภายใต้อนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง”
มาตรา ๑๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๑/๑ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔
“มาตรา ๑๑/๑ เพื่อประโยชน์ในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัตินี้ อธิบดีอาจขอให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ องค์กรของรัฐหรือเอกชน หรือบุคคลใดดำเนินการตรวจสอบความเหมือนคล้ายของเครื่องหมายการค้าดังกล่าว และให้ถือว่าการดำเนินการตรวจสอบนั้นเป็นการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา
การอนุญาตให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ องค์กรของรัฐหรือเอกชน หรือบุคคลใดปฏิบัติการตรวจสอบตามวรรคแรก ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด”
มาตรา ๑๕ ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ถ้าเป็นการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันและนายทะเบียนเห็นว่ามีลักษณะอย่างเดียวกันหรือเกี่ยวข้องกัน ห้ามมิให้นายทะเบียนรับจดทะเบียน”
มาตรา ๑๖ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๔ ในกรณีที่เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนนั้น จะใช้สำหรับสินค้าจำพวกเดียวกัน หรือต่างจำพวกกันและนายทะเบียนเห็นว่ามีลักษณะอย่างเดียวกันหรือเกี่ยวข้องกันกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าอีกเครื่องหมายหนึ่งที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว หรือที่อยู่ในระหว่างการขอจดทะเบียนของเจ้าของเดียวกัน ถ้านายทะเบียนเห็นว่าเครื่องหมายการค้าเหล่านั้นเหมือนกันหรือคล้ายกันจนถึงกับว่า ถ้าหากบุคคลอื่นจะเป็นผู้ใช้เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนนั้นแล้ว ก็อาจจะเป็นการทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเหล่านั้นเป็นเครื่องหมายชุด และมีหนังสือแจ้งคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนทราบโดยไม่ชักช้า”
มาตรา ๑๗ ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้น แก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งนั้น และมีหนังสือแจ้งคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนทราบโดยไม่ชักช้า”
มาตรา ๑๘ ให้ยกเลิกความใน (๑) และ (๒) ของมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(๑) สั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนแสดงปฏิเสธว่า ไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้ส่วนดังกล่าวของเครื่องหมายการค้ารายนั้น ทั้งนี้ ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งนั้น
(๒) สั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนแสดงปฏิเสธอย่างอื่น ตามที่นายทะเบียนเห็นว่าจำเป็นต่อการกำหนดสิทธิจากการจดทะเบียนของเจ้าของเครื่องหมายการค้ารายนั้น ทั้งนี้ ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งนั้น”
มาตรา ๑๙ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๘ ผู้ขอจดทะเบียนมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ มาตรา ๑๖ และมาตรา ๑๗ ต่อคณะกรรมการภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของนายทะเบียน คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
ในกรณีที่มีการขอขยายระยะเวลาปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา ๕๕/๑ ผู้ขอจดทะเบียนมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนต่อคณะกรรมการภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดการขอขยายระยะเวลา
ถ้าคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่า คำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา ๑๔ ถูกต้องแล้ว ให้นายทะเบียนดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนรายนั้นต่อไป
ถ้าคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่า คำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา ๑๕ หรือมาตรา ๑๗ ถูกต้องแล้ว ให้ผู้ขอจดทะเบียนปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ
ถ้าคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่า คำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ มาตรา ๑๖ หรือมาตรา ๑๗ ไม่ถูกต้อง ให้นายทะเบียนดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนรายนั้นต่อไป”
มาตรา ๒๐ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๒๐ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๑ มาตรา ๓๕ และมาตรา ๔๑ ในกรณีที่มีผู้ขอจดทะเบียนหลายรายต่างยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่นายทะเบียนเห็นว่าเหมือนกัน หรือที่นายทะเบียนเห็นว่าคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ทั้งนี้ สำหรับสินค้าจำพวกเดียวกัน หรือต่างจำพวกกัน และนายทะเบียนเห็นว่ามีลักษณะอย่างเดียวกันหรือเกี่ยวข้องกัน ผู้ขอจดทะเบียนที่ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้เป็นรายแรกในบรรดาผู้ขอจดทะเบียนซึ่งยังมิได้ละทิ้งคำขอจดทะเบียนย่อมเป็นผู้มีสิทธิได้รับการจดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น”
มาตรา ๒๑ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๒๑ ในบรรดาเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันตามมาตรา ๒๐ นั้น ถ้านายทะเบียนเห็นว่าเครื่องหมายการค้าที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้เป็นรายแรกในบรรดาผู้ขอจดทะเบียนซึ่งยังมิได้ละทิ้งคำขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา ๖ และคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้ประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้นต่อไปตามมาตรา ๒๙”
มาตรา ๒๒ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๒๑/๑ มาตรา ๒๑/๒ และมาตรา ๒๑/๓ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔
“มาตรา ๒๑/๑ ในบรรดาเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันตามมาตรา ๒๐ และเครื่องหมายการค้ารายนั้นเป็นคำขอจดทะเบียนที่ยื่นไว้เป็นรายหลัง ให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้รอการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้นไว้ก่อนจนกว่าเครื่องหมายการค้าที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้เป็นรายแรกในบรรดาผู้ขอจดทะเบียนซึ่งยังมิได้ละทิ้งคำขอจดทะเบียนจะได้รับการจดทะเบียน
ถ้าเครื่องหมายการค้าที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้เป็นรายแรกในบรรดาผู้ขอจดทะเบียนซึ่งยังมิได้ละทิ้งคำขอจดทะเบียนตามมาตรา ๒๑ ไม่ได้รับการจดทะเบียน ให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้ประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้เป็นรายถัดมา ในบรรดาผู้ขอจดทะเบียนซึ่งยังมิได้ละทิ้งคำขอจดทะเบียน เมื่อเครื่องหมายการค้ารายถัดมานั้นมีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา ๖ และคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นถูกต้องตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ต่อไปตามมาตรา ๒๙
มาตรา ๒๑/๒ ผู้ขอจดทะเบียนซึ่งเห็นว่าเครื่องหมายการค้าที่ตนขอจดทะเบียนนั้นมิได้เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้ารายอื่นตามมาตรา ๒๐ มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา ๒๑/๑ วรรคหนึ่ง ต่อคณะกรรมการภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของนายทะเบียน ทั้งนี้ ให้นำมาตรา ๑๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๒๑/๓ ถ้าเครื่องหมายการค้าที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้เป็นรายแรกในบรรดาผู้ขอจดทะเบียนซึ่งยังมิได้ละทิ้งคำขอจดทะเบียนตามมาตรา ๒๑ หรือมาตรา ๒๑/๑ วรรคสอง แล้วแต่กรณี ได้รับการจดทะเบียนแล้ว ให้นายทะเบียนนำเครื่องหมายการค้าที่ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้เป็นรายหลังซึ่งนายทะเบียนมีคำสั่งให้รอการจดทะเบียนไว้ตามมาตรา ๒๑/๑ วรรคหนึ่ง มาพิจารณาตามมาตรา ๑๓ ต่อไป”
มาตรา ๒๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๒ มาตรา ๒๓ มาตรา ๒๔ มาตรา ๒๕ และมาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔
มาตรา ๒๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๗ วรรคหนึ่งและวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๒๗ ในกรณีที่มีผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วตามมาตรา ๑๓ หรือในกรณีที่มีผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันตามมาตรา ๒๐ ทั้งนี้ สำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันและนายทะเบียนเห็นว่ามีลักษณะอย่างเดียวกันหรือเกี่ยวข้องกัน ถานายทะเบียนเห็นว่าเป็นเครื่องหมายการค้าซึ่งต่างเจ้าของต่างได้ใช้มาแล้วด้วยกันโดยสุจริต หรือมีพฤติการณ์พิเศษที่นายทะเบียนเห็นสมควรรับจดทะเบียน นายทะเบียนจะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันดังกล่าวให้แก่เจ้าของหลายคนก็ได้ โดยจะมีเงื่อนไขและข้อจำกัดเกี่ยวกับวิธีการใช้และเขตแห่งการใช้เครื่องหมายการค้านั้น หรือเงื่อนไขและข้อจำกัดอื่นตามที่นายทะเบียนเห็นสมควรกำหนดด้วยก็ได้ ทั้งนี้ ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งคำสั่งพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ขอจดทะเบียนและเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วทราบโดยไม่ชักช้า
ผู้ขอจดทะเบียนหรือเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนตามวรรคหนึ่งต่อคณะกรรมการภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งนายทะเบียน”
มาตรา ๒๕ ให้ยกเลิก (๑) และ (๒) ของมาตรา ๒๘ วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(๑) คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามวรรคสองยังมิได้มีการขอใช้สิทธิในการระบุวันยื่นคำขอจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง และ
(๒) คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามวรรคสองไม่อาจดำเนินการใด ตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าในประเทศที่มีการยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ต่อไป และ”
มาตรา ๒๖ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๓๑ ผู้ขอจดทะเบียนมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนของนายทะเบียนตามมาตรา ๓๐ วรรคหนึ่ง ต่อคณะกรรมการภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของนายทะเบียน”
มาตรา ๒๗ ให้ยกเลิกมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๓๕ เมื่อได้ประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายใดตามมาตรา ๒๙ แล้ว บุคคลใดเห็นว่าตนมีสิทธิดีกว่าผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้น หรือเห็นว่าเครื่องหมายการค้ารายนั้นไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา ๖ หรือการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้นไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ บุคคลนั้นจะยื่นคำคัดค้านต่อนายทะเบียนก็ได้ แต่ต้องยื่นภายในหกสิบวันนับแต่วันประกาศโฆษณาตามมาตรา ๒๙ พร้อมทั้งแสดงเหตุแห่งการคัดค้าน”
มาตรา ๒๘ ให้ยกเลิกมาตรา ๓๖ วรรคสองและวรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ให้ผู้ขอจดทะเบียนยื่นคำโต้แย้งคำคัดค้านตามแบบที่อธิบดีกำหนด โดยแสดงเหตุที่ตนอาศัยเป็นหลักในการขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำคัดค้าน และให้นายทะเบียนส่งสำเนาคำโต้แย้งนั้นไปยังผู้คัดค้านโดยไม่ชักช้า
ในการพิจารณาและวินิจฉัยคำคัดค้าน นายทะเบียนจะมีคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนและผู้คัดค้านมาให้ถ้อยคำ ทำคำชี้แจง หรือแสดงหลักฐานเพิ่มเติมก็ได้ หากผู้ขอจดทะเบียนหรือผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง ให้นายทะเบียนพิจารณาและวินิจฉัยคำคัดค้านต่อไปตามหลักฐานที่มีอยู่”
มาตรา ๒๙ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๓๖/๑ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔
“มาตรา ๓๖/๑ ในกรณีที่นายทะเบียนพิจารณาคำคัดค้านแล้วเห็นว่าผู้คัดค้านไม่มีสิทธิดีกว่าผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้น หรือเห็นว่าเครื่องหมายการค้ารายนั้นมีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา ๖ หรือการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้นถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนมีคำวินิจฉัยดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้นต่อไป
ในกรณีที่นายทะเบียนพิจารณาคำคัดค้านแล้วเห็นว่าผู้คัดค้านมีสิทธิดีกว่าผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้น หรือเห็นว่าเครื่องหมายการค้ารายนั้นไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา ๖ หรือการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้นไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนมีคำวินิจฉัยระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้น”
มาตรา ๓๐ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๗ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ผู้ขอจดทะเบียนหรือผู้คัดค้านมีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนต่อคณะกรรมการภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของนายทะเบียน ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นโดยไม่ชักช้า”
มาตรา ๓๑ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน\
“ผู้ขอจดทะเบียนหรือผู้คัดค้านมีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการโดยฟ้องคดีต่อศาลภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ และให้มีหนังสือแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ฟ้องคดี เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วไม่มีการแจ้งการฟ้องคดี ให้นายทะเบียนดำเนินการทางทะเบียนต่อไป”
มาตรา ๓๒ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๐ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“เมื่อได้มีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนทราบ และให้ชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่ง ถ้าผู้ขอจดทะเบียนไม่ชำระค่าธรรมเนียมภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่าละทิ้งคำขอจดทะเบียน”
มาตรา ๓๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔
“ในกรณีที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองเครื่องหมายการค้า ให้ถือว่าวันที่ยื่นคำขอหรือถือว่ายื่นคำขอจดทะเบียนตามอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศนั้น เป็นวันที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในราชอาณาจักร”
มาตรา ๓๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔
“ในกรณีที่มีการทำสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้น ผู้รับโอนหรือผู้รับมรดกสิทธิดังกล่าวย่อมรับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนที่ได้ทำไว้กับผู้ได้รับอนุญาต เว้นแต่สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าจะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น”
มาตรา ๓๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๐ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๕๐ เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้เป็นเครื่องหมายชุดนั้น จะโอนหรือรับมรดกกันได้ต่อเมื่อเป็นการโอนหรือรับมรดกกันทั้งชุด เว้นแต่มีพฤติการณ์พิเศษ หรือพิสูจน์ให้นายทะเบียนเห็นได้ว่าการโอนเครื่องหมายการค้านั้นจะไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า นายทะเบียนอาจมีคำสั่งให้โอนหรือรับมรดกแยกชุดกันก็ได้ โดยจะมีเงื่อนไขและข้อจำกัดเกี่ยวกับวิธีการใช้และเขตแห่งการใช้เครื่องหมายการค้านั้น หรือเงื่อนไขและข้อจำกัดอื่นตามที่นายทะเบียนเห็นสมควรกำหนดก็ได้
เจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือผู้รับโอนหรือผู้รับมรดกมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนตามวรรคหนึ่งต่อคณะกรรมการภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของนายทะเบียน
คำสั่งของคณะกรรมการตามวรรคสองให้เป็นที่สุด”
มาตรา ๓๖ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามและวรรคสี่ของมาตรา ๕๒ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔
“ในกรณีที่มีการยื่นคำขอจดทะเบียนโอนหรือรับมรดกสิทธิในเครื่องหมายการค้า
ตามมาตรา ๔๙ มาตรา ๕๐ หรือคำขอจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง และนายทะเบียนไม่อาจรับจดทะเบียนได้ เพราะผู้ขอจดทะเบียนไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งให้ผู้ขอจดทะเบียนดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งนั้น
ถ้าผู้ขอจดทะเบียนมิได้ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องตามกำหนดเวลาตามที่นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งตามวรรคสาม ให้ถือว่าผู้ขอจดทะเบียนละทิ้งคำขอโอนหรือรับมรดกสิทธิในเครื่องหมายการค้าหรือคำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการการจดทะเบียนนั้น”
มาตรา ๓๗ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองและวรรคสามของมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้เลื่อนความในวรรคสองเดิมเป็นวรรคสี่ ดังนี้
“ถ้าเจ้าของเครื่องหมายการค้าไม่ต่ออายุการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าภายในกำหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง หากยังประสงค์จะต่ออายุการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นต่อไป จะต้องชำระค่าธรรมเนียมเพิ่มตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยจะต้องยื่นคำขอต่ออายุพร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมเพิ่มภายใน ๑๘๐ วันนับแต่วันสิ้นอายุการจดทะเบียนเดิม หรือนับแต่วันสิ้นอายุ การจดทะเบียนที่ได้ต่อไว้ครั้งสุดท้าย แล้วแต่กรณี
ในระหว่างรอการต่ออายุหรือดำเนินการต่ออายุการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าภายในกำหนดระยะเวลาตามวรรคสอง ให้ถือว่าเครื่องหมายการค้านั้นยังคงอยู่ในทะเบียนเพื่อประโยชน์ในการจดทะเบียนและการต่ออายุการจดทะเบียนเท่านั้น
การขอต่ออายุการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง”
มาตรา ๓๘ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งและวรรคสองของมาตรา ๕๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๕๕ ในกรณีที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าได้ยื่นคำขอต่ออายุภายในกำหนดเวลา
ตามมาตรา ๕๔ วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง และนายทะเบียนเห็นว่าการขอต่ออายุเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงตามมาตรา ๕๔ วรรคสาม ให้นายทะเบียนต่ออายุการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นอีกสิบปีนับแต่วันสิ้นอายุการจดทะเบียนเดิมหรือนับแต่วันสิ้นอายุการจดทะเบียนที่ได้ต่อไว้ครั้งสุดท้าย แล้วแต่กรณี
ในกรณีที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าได้ยื่นคำขอต่ออายุภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๕๔ วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แต่นายทะเบียนเห็นว่าการขอต่ออายุไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงตามมาตรา ๕๔ วรรคสี่ ให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่งนั้นและมีหนังสือแจ้งคำสั่งให้เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นทราบโดยไม่ชักช้า ถ้าเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นมิได้ปฏิบัติตามคำสั่ง
ของนายทะเบียนภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้นายทะเบียนสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น”
มาตรา ๓๙ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๕๕/๑ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔
“มาตรา ๕๕/๑ หากผู้ขอจดทะเบียนประสงค์จะขอขยายระยะเวลาปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา ๑๒ มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ และมาตรา ๕๒ ให้ผู้ขอจดทะเบียนยื่นหนังสือขอขยายระยะเวลาต่อนายทะเบียนก่อนวันสิ้นอายุการปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียน การขอแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือการจดทะเบียนแสดงปฏิเสธ แล้วแต่กรณี และให้ชำระค่าธรรมเนียมเพิ่มตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงการขยายระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้กระทำได้ไม่เกินหกสิบวัน”
มาตรา ๔๐ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๕๖ ในกรณีที่เจ้าของเครื่องหมายการค้ามิได้ยื่นคำขอต่ออายุภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๕๔ วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง หรือไม่แสดงความประสงค์ที่จะขอต่ออายุการจดทะเบียนต่อไปตามวรรคสาม ให้ถือว่าเครื่องหมายการค้านั้นได้ถูกเพิกถอนการจดทะเบียนแล้ว”
มาตรา ๔๑ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๕๘/๑ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔
“มาตรา ๕๘/๑ ในกรณีที่ปรากฏต่อนายทะเบียนภายหลังว่า เครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วไม่เป็นไปตามขั้นตอนการจดทะเบียนตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้
ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นภายในเก้าสิบวันนับแต่ได้รู้ถึงเหตุที่จะให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้านั้น และให้ถือว่าเครื่องหมายการค้านั้นไม่เคยได้รับ
การจดทะเบียนมาก่อน”
มาตรา ๔๒ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งและวรรคสองของมาตรา ๖๐ แห่งพระราชบัญญัติ เครื่องหมายการค้าและให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๖๐ เมื่อนายทะเบียนได้มีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
ตามมาตรา ๕๕ วรรคสอง มาตรา ๕๘ มาตรา ๕๘/๑ หรือมาตรา ๕๙ วรรคหนึ่งแล้ว ให้มีหนังสือแจ้งคำสั่ง
ดังกล่าวพร้อมด้วยเหตุผลให้เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นทราบโดยไม่ชักช้า
เจ้าของเครื่องหมายการค้ามีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนตามวรรคหนึ่ง
ต่อคณะกรรมการภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของนายทะเบียน ถ้าไม่อุทธรณ์
ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่าคำสั่งของนายทะเบียนเป็นที่สุด”
มาตรา ๔๓ ให้ยกเลิกความใน (๓) และ (๔) ของมาตรา ๖๑ แห่งพระราชบัญญัติ
เครื่องหมายการค้าและให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(๓) เป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้
จดทะเบียนไว้แล้ว สำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันและมีลักษณะอย่างเดียวกัน
หรือเกี่ยวข้องกัน หรือ
(๔) เป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันและมีลักษณะอย่างเดียวกันหรือเกี่ยวข้องกัน” มาตรา ๔๔ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๖๗ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๖๗ ภายในห้าปีนับแต่วันที่นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใดตามมาตรา ๔๐ วรรคหนึ่ง ผู้มีส่วนได้เสียอาจร้องขอต่อศาลให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้ หากแสดงได้ว่าตนมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าผู้ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น”
มาตรา ๔๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของมาตรา ๖๗ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔
“กำหนดระยะเวลาการขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับ หากผู้มีส่วนได้เสียที่ร้องขอต่อศาลพิสูจน์ได้ว่า ผู้ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นได้จดทะเบียนโดยไม่สุจริต”
มาตรา ๔๖ ให้ยกเลิกความในวรรคสองและวรรคสามของมาตรา ๖๘ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“การอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าตามวรรคหนึ่ง ต้องทำเป็นหนังสือ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า การโอนการอนุญาตตามสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า และการยกเลิกการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า ผู้อนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าต้องแจ้งต่อนายทะเบียนภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้ทำสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า หรือวันที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า หรือวันที่โอนการอนุญาต
ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า หรือวันที่ยกเลิกการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นในกรณีที่มีการอนุญาตช่วงให้บุคคลอื่นใช้เครื่องหมายการค้า ผู้อนุญาตช่วงต้องแจ้งต่อนายทะเบียนภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้ทำสัญญาอนุญาตช่วงให้บุคคลอื่นใช้เครื่องหมายการค้านั้น”
มาตรา ๔๗ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสี่และวรรคห้าของมาตรา ๖๘ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔
“การแจ้งตามวรรคสองและวรรคสาม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนดสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนต่อนายทะเบียนไว้ก่อนแล้วให้ถือว่าได้แจ้งต่อนายทะเบียนตามวรรคสองและวรรคสามแล้ว”
มาตรา ๔๘ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖๙ มาตรา ๗๑ มาตรา ๗๒ มาตรา ๗๓ มาตรา ๗๔ และมาตรา ๗๕ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔
มาตรา ๔๙ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗๔ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓
มาตรา ๕๐ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๘๙ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๘๙ เจ้าของเครื่องหมายรับรองนั้นหรือบุคคลอื่นใด ที่ได้รับหรือจะได้รับความเสียหายจากคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา ๘๗ หรือมาตรา ๘๘ มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการภายในหกสิบวันนับแต่วันประกาศโฆษณาตามมาตรา ๘๗ หรือนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา ๘๘ แล้วแต่กรณี”
มาตรา ๕๑ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๑๐/๑ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔
“มาตรา ๑๑๐/๑ บุคคลใด
(๑) แสดงเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วม ปลอมตามมาตรา ๑๐๘ หรือที่เลียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่น ตามมาตรา ๑๐๙ บนหีบห่อหรือภาชนะที่ใช้บรรจุสินค้า โดยเจตนาที่จะนำหีบห่อหรือภาชนะนั้นไปใช้บรรจุสินค้า เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของบุคคลอื่นนั้น ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ
(๒) ใช้หีบห่อหรือภาชนะที่แสดงเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายรับรองหรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้ว สำหรับสินค้าของตนเองหรือของบุคคลอื่นเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายรับรองหรือเครื่องหมายร่วม ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๘”
มาตรา ๕๒ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๑๖/๑ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔
“มาตรา ๑๑๖/๑ บรรดาความผิดตามมาตรา ๑๐๗ มาตรา ๑๑๑ มาตรา ๑๑๒ มาตรา ๑๑๒ ทวิ มาตรา ๑๑๒ ตรี มาตรา ๑๑๔ หรือมาตรา ๑๑๖/๓ ในส่วนที่เกี่ยวกับฐานความผิดข้างต้น ให้คณะกรรมการเปรียบเทียบซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งมีอำนาจเปรียบเทียบได้คณะกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งให้มีจำนวนสามคน และคนหนึ่งต้องเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
เมื่อคณะกรรมการเปรียบเทียบได้ทำการเปรียบเทียบกรณีใด และผู้กระทำความผิดได้ชำระค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ถ้าผู้กระทำความผิดไม่ยินยอมตามที่เปรียบเทียบ หรือเมื่อยินยอมแล้วไม่ชำระค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ดำเนินคดีต่อไป”
มาตรา ๕๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๑๖/๒ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔
“มาตรา ๑๑๖/๒ ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามพระราชบัญญัตินี้ ห้ามมิให้ศาลสั่งให้คณะกรรมการ อธิบดี หรือนายทะเบียนชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนฝ่ายอื่น”
มาตรา ๕๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๑๖/๓ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔
“มาตรา ๑๑๖/๓ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖๘ วรรคสองและวรรคสาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และปรับอีกไม่เกินวันละสองพันบาทตลอดเวลาที่ไม่ปฏิบัติตาม”
มาตรา ๕๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๑๗ มาตรา ๑๑๘ มาตรา ๑๑๙ มาตรา ๑๒๐ มาตรา ๑๒๑ มาตรา ๑๒๒ และมาตรา ๑๒๓ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๑๗ เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๔๗๔ พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ และพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓ และยังคงจดทะเบียนอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ถือว่าเป็นเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๑๑๘ ให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่จนถึงวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะได้มีคณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา ๑๑๙ บรรดาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียน คำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำขอจดทะเบียน คำขอจดทะเบียนการโอนหรือรับมรดกสิทธิ และคำขอต่ออายุการจดทะเบียนที่ได้ยื่นไว้แล้วตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓ ถ้าก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
(๑) นายทะเบียนยังมิได้มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับคำขอดังกล่าว ให้ถือว่าเป็นคำขอที่ได้ยื่นตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ดำเนินการเกี่ยวกับคำขอดังกล่าวตามพระราชบัญญัตินี้
(๒) นายทะเบียนได้มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับคำขอดังกล่าวแล้ว การดำเนินการเกี่ยวกับคำขอดังกล่าวให้อยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓ ต่อไปจนกว่าจะถึงที่สุด
มาตรา ๑๒๐ การขอต่ออายุเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓ ซึ่งเจ้าของได้ขอจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวกใดจำพวกหนึ่งทั้งจำพวก ให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าระบุรายการสินค้าที่ประสงค์จะได้รับความคุ้มครองแต่ละรายการ ในกรณีดังกล่าวนี้ให้นำมาตรา ๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๑๒๑ การอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียน และการคัดค้านการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓ ที่ค้างพิจารณาอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓ จนกว่าจะถึงที่สุด
มาตรา ๑๒๒ กำหนดเวลาในการอุทธรณ์ กำหนดเวลาในการคัดค้านการจดทะเบียน กำหนดเวลาให้ผู้ขอจดทะเบียนยื่นคำโต้แย้งที่อาศัยเป็นหลักในการขอจดทะเบียน และกำหนดเวลาการแจ้งให้นายทะเบียนทราบว่าผู้ขอจดทะเบียนได้นำคดีไปสู่ศาลแล้วตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓ ถ้ายังไม่สิ้นสุดลงก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้เริ่มนับกำหนดเวลาดังกล่าวใหม่ตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นต้นไป
มาตรา ๑๒๓ บรรดากฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะมีกฎกระทรวงหรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ”
มาตรา ๕๖ ให้ยกเลิกบัญชีอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓ และให้ใช้บัญชีอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัตินี้แทน
มาตรา ๕๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
นายกรัฐมนตรี