Hot! พรบ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ.๒๕๔๕

พระราชบัญญัติ
การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต
พ.ศ. ๒๕๔๕
                  
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๕
เป็นปีที่ ๕๗ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๕ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภาดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. ๒๕๔๕”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“ข้อมูล” หมายความว่า สิ่งที่สื่อความหมายให้รู้เรื่องราวข้อเท็จจริงของข้อมูลเครดิตหรือคะแนนเครดิต ไม่ว่าการสื่อความหมายนั้นจะทำได้โดยสภาพของสิ่งนั้นเอง หรือโดยผ่านวิธีการใด ๆ และไม่ว่าจะได้จัดทำในรูปของเอกสาร แฟ้ม รายงาน หนังสือ แผนผัง แผนที่ ภาพวาด ภาพถ่าย ฟิล์ม การบันทึกภาพหรือเสียง การบันทึกโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือวิธีอื่นใดที่ทำให้สิ่งที่บันทึกไว้ปรากฏได้
“การประมวลผลข้อมูล” หมายความว่า การปฏิบัติการใด ๆ กับข้อมูลไม่ว่าจะเป็นการเก็บรวบรวม การบันทึก การจัดเรียบเรียง การเก็บรักษา การแก้ไขเพิ่มเติม การนำกลับมา การใช้ การเปิดเผย การพิมพ์ การทำให้เข้าถึง การลบ หรือการทำลายข้อมูล รวมถึงการจัดทำและเปิดเผยคะแนนเครดิต และรายงานเชิงสถิติ
“คะแนนเครดิต” หมายความว่า ตัวชี้วัดความน่าจะเป็นในการชำระคืนหนี้โดยใช้วิธีการทางสถิติในการประมวลผลข้อมูลโดยบริษัทข้อมูลเครดิต
“ผู้ควบคุมข้อมูล” หมายความว่า บุคคลธรรมดา คณะบุคคลหรือนิติบุคคลใดในภาคเอกชนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานเดียวหรือร่วมกับหน่วยงานอื่นซึ่งทำหน้าที่ควบคุมดูแลการประมวลผลข้อมูลหรือประมวลผลข้อมูลเอง
“ผู้ประมวลผลข้อมูล” หมายความว่า ผู้ควบคุมข้อมูลหรือบุคคลใด ๆ ซึ่งทำการประมวลผลข้อมูลในนามของผู้ควบคุมข้อมูลหรือบริษัทข้อมูลเครดิต
“ข้อมูลเครดิต” หมายความว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าที่ขอสินเชื่อ ดังต่อไปนี้
(๑) ข้อเท็จจริงที่บ่งชี้ถึงตัวลูกค้า และคุณสมบัติของลูกค้าที่ขอสินเชื่อ
(ก) กรณีบุคคลธรรมดา หมายถึง ชื่อ ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด สถานภาพ การสมรส อาชีพ เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหนังสือเดินทาง และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (ถ้ามี)
(ข) กรณีนิติบุคคล หมายถึง ชื่อ สถานที่ตั้ง เลขที่ทะเบียนการจัดตั้งนิติบุคคล หรือเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร
(๒) ประวัติการขอและการได้รับอนุมัติสินเชื่อ และการชำระสินเชื่อของลูกค้าที่ขอสินเชื่อรวมทั้งประวัติการชำระราคาสินค้าหรือบริการโดยบัตรเครดิต
“ข้อมูลห้ามจัดเก็บ” หมายความว่า ข้อมูลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เกี่ยวกับการรับบริการ การขอสินเชื่อ หรือที่มีผลกระทบต่อความรู้สึกหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้เป็นเจ้าของข้อมูลอย่างชัดเจน ดังต่อไปนี้
(๑) ลักษณะพิการทางร่างกาย
(๒) ลักษณะทางพันธุกรรม
(๓) ข้อมูลของบุคคลที่อยู่ในกระบวนการสอบสวนหรือพิจารณาคดีอาญา
(๔) ข้อมูลอื่นใดตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
“สินเชื่อ” หมายความว่า การให้กู้ยืมเงินหรือวงเงินในการให้กู้ยืม หรือให้ยืมหลักทรัพย์ให้เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อแบบลิสซิ่ง ค้ำประกัน รับอาวัล รับรองตั๋วเงิน ซื้อ ซื้อลดหรือรับช่วงซื้อลดตั๋วเงินเป็นเจ้าหนี้ เนื่องจากได้จ่ายหรือสั่งให้จ่ายเงิน เพื่อประโยชน์ของผู้เคยค้าหรือเป็นเจ้าหนี้ เนื่องจากได้จ่ายเงินตามภาระผูกพันตามเล็ตเตอร์ออฟเครดิตหรือภาระผูกพันอื่น การรับเป็นลูกค้าเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ และธุรกรรมอื่นใดตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
“บัตรเครดิต” หมายความว่า บัตรหรือสิ่งอื่นใดที่ผู้ประกอบการออกให้แก่ลูกค้าเพื่อใช้ชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือค่าอื่นใดแทนการชำระด้วยเงินสด หรือเพื่อใช้เบิกถอนเงินสด โดยลูกค้าต้องชำระค่าธรรมเนียม ค่าบริการ ดอกเบี้ย หรือค่าอื่นใด แต่ไม่รวมถึงบัตรที่ได้มีการชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือค่าอื่นใดไว้ล่วงหน้าแล้ว
“ธุรกิจข้อมูลเครดิต” หมายความว่า กิจการเกี่ยวกับการควบคุมหรือการประมวลผลข้อมูลเครดิตเพื่อให้ข้อมูลแก่สมาชิกหรือผู้ใช้บริการ
“บริษัท” หมายความว่า บริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือบริษัทมหาชนจำกัดตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด
“บริษัทข้อมูลเครดิต” หมายความว่า บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต
“ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต
“เจ้าของข้อมูล” หมายความว่า บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลใด ๆ ซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูล หรือเป็นเจ้าของประวัติลูกค้าผู้ขอใช้บริการจากสมาชิกไม่ว่าจะเป็นการขอสินเชื่อหรือบริการอื่นใด
“สถาบันการเงิน” หมายความว่า นิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหรือดำเนินกิจการในราชอาณาจักร ดังนี้
(๑) ธนาคารพาณิชย์
(๒) บริษัทเงินทุน
(๓) บริษัทหลักทรัพย์
(๔) บริษัทเครดิตฟองซิเอร์
(๕) บริษัทประกันวินาศภัย
(๖) บริษัทประกันชีวิต
(๗) นิติบุคคลที่ให้บริการบัตรเครดิต
(๘) นิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการทางการเงิน
(๙) นิติบุคคลอื่นที่ประกอบกิจการให้สินเชื่อเป็นทางการค้าปกติตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
“สมาชิก” หมายความว่า สถาบันการเงินที่บริษัทข้อมูลเครดิตรับเข้าเป็นสมาชิก
“ผู้ใช้บริการ” หมายความว่า สมาชิก หรือนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอันชอบด้วยกฎหมายโดยให้สินเชื่อเป็นทางการค้าปกติ
“แหล่งข้อมูล” หมายความว่า บุคคลธรรมดา คณะบุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลแก่บริษัทข้อมูลเครดิต
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามการเสนอแนะของคณะกรรมการให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๔ พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับกับการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล คณะบุคคลหรือนิติบุคคลใดเพื่อประโยชน์ภายในคณะบุคคลหรือนิติบุคคลนั้นเป็นการเฉพาะหรือใช้ในกิจการตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
ประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
หมวด ๑
การจัดตั้งบริษัทและการขอรับใบอนุญาต
                  
มาตรา ๖ การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตจะกระทำได้ต่อเมื่อได้จัดตั้งในรูปบริษัทและได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรี
การจัดตั้งบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจตามวรรคหนึ่งจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี
การขอความเห็นชอบ การให้ความเห็นชอบ การขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตลอดจนเสียค่าธรรมเนียมตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
มาตรา ๗ บริษัทข้อมูลเครดิตต้องมีจำนวนหุ้นที่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยถืออยู่เกินกึ่งหนึ่งของทุนจดทะเบียนของบริษัทจำกัด หรือทุนชำระแล้วของบริษัทมหาชนจำกัด แล้วแต่กรณี และต้องมีกรรมการเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด
บริษัทข้อมูลเครดิตต้องไม่มีข้อบังคับที่ให้อำนาจคนต่างด้าวในการเสนอแต่งตั้งกรรมการบริหารส่วนใหญ่หรือมีอำนาจในการบริหารจัดการนิติบุคคลนั้นด้วยวิธีการอื่นใด
มาตรา ๘ บริษัทข้อมูลเครดิตต้องใช้คำนำหน้าชื่อว่า “บริษัทข้อมูลเครดิต” และคำว่า “จำกัด” หรือ “จำกัด (มหาชน)” แล้วแต่กรณี ต่อท้าย
หมวด ๒
การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต
                  
มาตรา ๙ ห้ามมิให้ผู้ใดนอกจากบริษัทข้อมูลเครดิตประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต
มาตรา ๑๐ ห้ามมิให้บริษัทข้อมูลเครดิต ผู้ควบคุมข้อมูลและผู้ประมวลผลข้อมูลจัดเก็บข้อมูลห้ามจัดเก็บ
มาตรา ๑๑ ห้ามมิให้ผู้ใดนอกจากบริษัทข้อมูลเครดิตใช้คำนำหน้าชื่อ หรือคำแสดงชื่อในธุรกิจว่า “บริษัทข้อมูลเครดิต” หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกัน
มาตรา ๑๒ ห้ามมิให้บริษัทข้อมูลเครดิต หรือผู้ควบคุมข้อมูล หรือผู้ประมวลผลข้อมูลที่ดำเนินการหรือประกอบธุรกิจในราชอาณาจักรดำเนินกิจการ ทำการควบคุม หรือประมวลผลข้อมูลภายนอกราชอาณาจักร
มาตรา ๑๓ ห้ามมิให้บริษัทข้อมูลเครดิต ผู้ควบคุมข้อมูลหรือผู้ประมวลผลข้อมูลดำเนินการประมวลผลข้อมูลที่มีอายุของข้อมูลเกินกว่าที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
มาตรา ๑๔ ห้ามมิให้ผู้ใดประกาศหรือโฆษณาว่าสามารถแก้ไขข้อมูลให้แตกต่างจากที่บริษัทข้อมูลเครดิตจัดเก็บ
มาตรา ๑๕ ห้ามมิให้บุคคลหรือนิติบุคคลใดทำข้อตกลงหรือกระทำการใด ๆ อันมีผลเป็นการกีดกันหรือขัดขวางการให้ข้อมูลเครดิตแก่บริษัทข้อมูลเครดิตหรือการใช้ข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งใดแห่งหนึ่ง หรือทำให้เกิดการผูกขาดในการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ
หมวด ๓
สิทธิและหน้าที่ของ
บริษัทข้อมูลเครดิต สมาชิกและผู้ใช้บริการ
                  
มาตรา ๑๖ บริษัทข้อมูลเครดิตต้องทำการประมวลผลข้อมูลจากสมาชิกหรือจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
มาตรา ๑๗ ในการประมวลผลข้อมูล บริษัทข้อมูลเครดิตหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประมวลผลข้อมูลแทน ต้องจัดให้มีระบบและข้อกำหนดดังต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย
(๑) ระบบจำแนกข้อมูลที่เก็บรักษาไว้
(๒) ระบบการแก้ไขข้อมูลให้มีความถูกต้องสมบูรณ์และทันสมัยอยู่เสมอ
(๓) ระบบรักษาความลับและความปลอดภัยของข้อมูลเพื่อป้องกันมิให้มีการนำข้อมูลไปใช้ผิดวัตถุประสงค์และมิให้ผู้ไม่มีสิทธิได้รับรู้ข้อมูล รวมทั้งระบบป้องกันมิให้ข้อมูลถูกแก้ไข ทำให้เสียหายหรือถูกทำลายโดยไม่ชอบหรือโดยไม่ได้รับอนุญาต
(๔) ระบบการขอใช้ข้อมูลและระบบการรายงานข้อมูลตามปกติ
(๕) ระบบการตรวจสอบและแก้ไขข้อมูลของเจ้าของข้อมูล
(๖) ระบบบันทึกและรายงานผลทุกครั้งเมื่อมีผู้เข้าถึงข้อมูล โดยมีกำหนดระยะเวลาไม่น้อยกว่าสองปีนับแต่วันที่มีการบันทึกของการเข้าถึงข้อมูลเพื่อให้เจ้าของข้อมูลตรวจสอบได้
(๗) ระบบการทำลายข้อมูลที่มีอายุเกินกว่าที่คณะกรรมการกำหนด
(๘) ระบบหรือข้อกำหนดอื่นใดตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
การจัดระบบและข้อกำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
มาตรา ๑๘ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมและประมวลผลข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิต ให้สมาชิกส่งข้อมูลของลูกค้าของตนแก่บริษัทข้อมูลเครดิตที่ตนเป็นสมาชิกและแจ้งให้ลูกค้าของตนทราบเกี่ยวกับข้อมูลที่ส่งไปเป็นหนังสือหรือโดยวิธีอื่นตามที่ตกลงกัน ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ส่งข้อมูลแก่บริษัทข้อมูลเครดิต ในกรณีที่สมาชิกไม่อาจดำเนินการได้ทันภายในกำหนดเวลาดังกล่าว สมาชิกอาจขอขยายระยะเวลาต่อคณะกรรมการได้อีกไม่เกินสิบห้าวัน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
การส่งข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนของประวัติการชำระสินเชื่อ และประวัติการชำระราคาสินค้าหรือบริการโดยบัตรเครดิตให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิต ให้สมาชิกแจ้งให้ลูกค้าของตนทราบตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๑๙ สมาชิกมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) รายงานและส่งข้อมูลตามมาตรา ๑๘ ให้บริษัทข้อมูลเครดิต และแจ้งให้ลูกค้าของตนทราบถึงการส่งข้อมูลนั้นโดยไม่เลือกปฏิบัติ
(๒) ส่งข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัยอยู่เสมอ ถ้ารู้ว่ามีความไม่ถูกต้อง สมาชิกต้องแก้ไขและจัดส่งข้อมูลที่ถูกต้องให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิต
(๓) ในกรณีที่สมาชิกได้รับรายงานจากบริษัทข้อมูลเครดิตว่าเจ้าของข้อมูลเห็นว่าข้อมูลที่ตนมีอยู่นั้นไม่ถูกต้อง ให้สมาชิกดำเนินการดังต่อไปนี้
(ก) ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่มีคำขอแก้ไข
(ข) รายงานผลการตรวจสอบให้บริษัทข้อมูลเครดิตทราบโดยเร็ว
(ค) หากข้อมูลนั้นไม่สมบูรณ์หรือไม่ถูกต้อง ให้สมาชิกแก้ไขให้ถูกต้องและรายงานข้อมูลที่ถูกต้องให้บริษัทข้อมูลเครดิตทุกแห่งที่รับข้อมูลจากตนทราบ
(ง) การพิจารณาคำขอแก้ไขตาม (ก) ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอแก้ไขจากเจ้าของข้อมูล ในกรณีที่เจ้าของข้อมูลส่งข้อมูลเพิ่มเติมภายในระยะเวลาสามสิบวัน ให้ขยายระยะเวลาให้บริษัทข้อมูลเครดิตเพื่อพิจารณาได้อีกไม่เกินครั้งละสามสิบวันนับแต่ได้รับข้อมูลครั้งสุดท้าย
(จ) ในระหว่างการพิจารณาคำขอแก้ไขตาม (ง) ให้บริษัทข้อมูลเครดิตจัดเก็บข้อมูลซึ่งเป็นคำขอแก้ไขนั้นไว้ในระบบข้อมูลของเจ้าของข้อมูล
(๔) หากมีการโต้แย้งข้อมูลและไม่อาจหาข้อยุติได้ ให้สมาชิกรายงานบริษัทข้อมูลเครดิตเพื่อบันทึกเป็นข้อโต้แย้งในระบบข้อมูลของเจ้าของข้อมูล
(๕) เมื่อมีการผิดนัดชำระหนี้ สมาชิกต้องรายงานให้บริษัทข้อมูลเครดิตทราบวันเดือนปีที่เริ่มมีการผิดนัดชำระหนี้
การรายงานหรือบันทึกข้อโต้แย้งตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
มาตรา ๒๐ ให้บริษัทข้อมูลเครดิตเปิดเผยหรือให้ข้อมูลแก่สมาชิกหรือผู้ใช้บริการที่ประสงค์จะใช้ข้อมูล เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์สินเชื่อและการออกบัตรเครดิต โดยในการเปิดเผยหรือให้ข้อมูลดังกล่าวจะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อนทุกครั้ง เว้นแต่เจ้าของข้อมูลได้ให้ความยินยอมไว้เป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
นอกจากการเปิดเผยหรือให้ข้อมูลแก่สมาชิกหรือผู้ใช้บริการตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทข้อมูลเครดิตเปิดเผยหรือให้ข้อมูลได้ในกรณีดังต่อไปนี้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากเจ้าของข้อมูลก่อน
(๑) เมื่อมีคำสั่งศาลหรือตามหมายศาลหรือเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการฟ้องร้องคดีต่าง ๆ ที่เปิดเผยต่อสาธารณะ
(๒) เมื่อมีหนังสือจากพนักงานสอบสวนเพื่อประโยชน์ในการสอบสวนความผิดอาญาเกี่ยวกับธุรกิจการเงินซึ่งตนเป็นผู้รับผิดชอบการสอบสวนคดีดังกล่าว
(๓) เมื่อมีหนังสือจากกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการในการกำกับดูแลหรือตรวจสอบสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
(๔) เมื่อมีหนังสือจากบรรษัทตลาดรองสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยบรรษัทตลาดรองสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ เพื่อใช้ประโยชน์ในการประเมินฐานะสินทรัพย์ที่นำมาแปลงเป็นหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ตามความจำเป็นแห่งกรณี
(๕) เมื่อมีหนังสือจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยตามกฎหมายว่าด้วยบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยบรรษัทบริหารสินทรัพย์ สถาบันการเงิน หรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ เพื่อใช้ประโยชน์ในการประเมินราคาสินทรัพย์ที่รับซื้อหรือรับโอนตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ตามความจำเป็นแห่งกรณี
ทั้งนี้ การเปิดเผยหรือให้ข้อมูลตาม (๔) หรือ (๕) ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ
เมื่อมีการเปิดเผยหรือให้ข้อมูลตามวรรคสองแล้ว ให้บริษัทข้อมูลเครดิตแจ้งเป็นหนังสือแก่เจ้าของข้อมูลทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันเปิดเผยหรือให้ข้อมูล ในกรณีที่เป็นข้อมูลโดยรวมของสถาบันการเงินแห่งหนึ่งแห่งใดให้แจ้งแก่สถาบันการเงินนั้นทราบ
มาตรา ๒๑ ผู้ใช้บริการประเภทเดียวกันมีสิทธิได้รับข้อมูลอย่างเท่าเทียมกันจากบริษัทข้อมูลเครดิต
มาตรา ๒๒ ผู้ใช้บริการมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ใช้ข้อมูลตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดตามมาตรา ๒๐ เท่านั้น
(๒) ห้ามมิให้เปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลแก่ผู้อื่นที่ไม่มีสิทธิรับรู้ข้อมูล
มาตรา ๒๓ ให้ผู้ที่ได้รับข้อมูลตามมาตรา ๒๐ วรรคสอง ใช้ข้อมูลดังกล่าวนั้นเพื่อประโยชน์แต่เฉพาะการนั้น และต้องเก็บรักษาข้อมูลดังกล่าวนั้นไว้เป็นความลับในที่ปลอดภัยเพื่อมิให้ผู้อื่นได้รับรู้ข้อมูลนั้น
มาตรา ๒๔ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๐ ห้ามมิให้บุคคลดังต่อไปนี้เปิดเผยข้อมูล
(๑) บริษัทข้อมูลเครดิต ผู้ควบคุมข้อมูล ผู้ประมวลผลข้อมูล สมาชิก หรือผู้ใช้บริการ
(๒) ผู้ซึ่งรู้ข้อมูลจากการทำงานหรือปฏิบัติหน้าที่ใน (๑)
(๓) ผู้ซึ่งรู้ข้อมูลจากบุคคลตาม (๑) หรือ (๒)
หมวด ๔
การให้ความคุ้มครองแก่เจ้าของข้อมูล
                  
มาตรา ๒๕ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าของข้อมูล ให้เจ้าของข้อมูลมีสิทธิดังต่อไปนี้
(๑) สิทธิที่จะรับรู้ว่าบริษัทข้อมูลเครดิตเก็บรักษาข้อมูลใดของตน
(๒) สิทธิที่จะตรวจสอบข้อมูลของตน
(๓) สิทธิที่จะขอแก้ไขข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง
(๔) สิทธิที่จะโต้แย้งเมื่อทราบว่าข้อมูลของตนไม่ถูกต้อง
(๕) สิทธิที่จะได้รับแจ้งผลการตรวจสอบข้อมูลของตนภายในระยะเวลาที่กำหนด
(๖) สิทธิที่จะได้รับทราบเหตุแห่งการปฏิเสธคำขอสินเชื่อหรือบริการจากสถาบันการเงิน ในกรณีที่สถาบันการเงินใช้ข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตมาเป็นเหตุแห่งการปฏิเสธคำขอสินเชื่อหรือบริการ
(๗) สิทธิที่จะอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการตามมาตรา ๒๗
เจ้าของข้อมูลอาจเสียค่าธรรมเนียมในการตรวจสอบข้อมูลตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ทั้งนี้ไม่เกินสองร้อยบาท
มาตรา ๒๖ เมื่อเจ้าของข้อมูลใช้สิทธิในการตรวจสอบหรือขอแก้ไขข้อมูลของตนที่มีอยู่กับบริษัทข้อมูลเครดิตหรือสมาชิก ให้บริษัทข้อมูลเครดิตหรือสมาชิกนั้นพิจารณาคำขอและตรวจสอบข้อมูลนั้นโดยเร็ว และให้แจ้งผลการตรวจสอบหรือแก้ไขข้อมูลของตนพร้อมเหตุผลให้เจ้าของข้อมูลทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ
ในกรณีที่บริษัทข้อมูลเครดิตหรือสมาชิกเห็นว่าข้อมูลไม่ถูกต้องไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้บริษัทข้อมูลเครดิตหรือสมาชิกนั้นแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องโดยเร็ว รวมทั้งต้องแจ้งข้อมูลที่แก้ไขให้แก่แหล่งข้อมูลสมาชิกหรือผู้ใช้บริการที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องต่อไปด้วย
มาตรา ๒๗ ในกรณีที่มีข้อโต้แย้งระหว่างเจ้าของข้อมูลกับบริษัทข้อมูลเครดิตเกี่ยวกับความถูกต้องของข้อมูลและไม่อาจหาข้อยุติได้ ให้บริษัทข้อมูลเครดิตบันทึกข้อโต้แย้งพร้อมหลักฐานประกอบของเจ้าของข้อมูลไว้ในระบบข้อมูลของเจ้าของข้อมูล ในการจัดทำรายงานข้อมูลเพื่อให้บริการแก่สมาชิกหรือผู้ใช้บริการ บริษัทข้อมูลเครดิตต้องระบุในรายงานดังกล่าวด้วยว่ามีข้อโต้แย้งของเจ้าของข้อมูลในเรื่องใดบ้าง ในการนี้ เจ้าของข้อมูลอาจอุทธรณ์ข้อโต้แย้งนั้นต่อคณะกรรมการเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด
หากมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นระหว่างสถาบันการเงิน สมาชิก หรือผู้ใช้บริการกับบริษัทข้อมูลเครดิตหรือกับเจ้าของข้อมูลและไม่อาจหาข้อยุติได้ ให้บริษัทข้อมูลเครดิต สถาบันการเงิน สมาชิก หรือผู้ใช้บริการบันทึกข้อโต้แย้งนั้นในระบบข้อมูลของเจ้าของข้อมูลนั้น พร้อมกับแจ้งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องทราบด้วย ในการนี้ เจ้าของข้อมูลอาจอุทธรณ์ข้อโต้แย้งนั้นต่อคณะกรรมการเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดก็ได้
การอุทธรณ์ข้อโต้แย้งต่อคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
เมื่อมีคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้บริษัทข้อมูลเครดิต สถาบันการเงิน สมาชิกและผู้ใช้บริการ ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดนั้น
มาตรา ๒๘ ในกรณีที่สถาบันการเงิน สมาชิก หรือผู้ใช้บริการปฏิเสธการให้สินเชื่อ หรือการดำเนินการอื่นใดที่ก่อให้เกิดการขึ้นค่าบริการแก่ลูกค้าโดยเหตุอันเนื่องมาจากการได้รับรู้ข้อมูลของลูกค้านั้น สถาบันการเงิน สมาชิก หรือผู้ใช้บริการต้องแสดงเหตุผลในการปฏิเสธการให้สินเชื่อ หรือการขึ้นค่าบริการ รวมทั้งแหล่งที่มาของข้อมูลให้ลูกค้ารายนั้นทราบเป็นหนังสือ และให้ลูกค้าซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลมีสิทธิตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลดังกล่าวนั้นของตนโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมหากผู้นั้นใช้สิทธิขอตรวจสอบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำปฏิเสธการขอสินเชื่อหรือการดำเนินการอื่นใดนั้น
ในกรณีที่เจ้าของข้อมูลเห็นว่าข้อมูลดังกล่าวตามวรรคหนึ่งไม่ถูกต้องตามที่เป็นจริง เจ้าของข้อมูลอาจยื่นคำขอพร้อมแสดงหลักฐานประกอบเพื่อให้สถาบันการเงิน สมาชิก หรือผู้ใช้บริการตามวรรคหนึ่งพิจารณาประกอบการให้สินเชื่อ หรือการดำเนินการอื่นใดอีกครั้งหนึ่งก็ได้
ให้นำความในมาตรา ๒๖ และมาตรา ๒๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
หมวด ๕
การกำกับดูแลบริษัทข้อมูลเครดิต
                  
มาตรา ๒๙ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต” ประกอบด้วย ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลังเป็นรองประธานกรรมการ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนห้าคน เป็นกรรมการ
ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยต้องเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองผู้บริโภคสองคน ด้านการเงินการธนาคารหนึ่งคน ด้านคอมพิวเตอร์หนึ่งคน และผู้แทนผู้ประกอบการด้านธุรกิจภาคเอกชนหนึ่งคน โดยมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี และอาจแต่งตั้งใหม่อีกได้ แต่จะแต่งตั้งให้อยู่ในตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระมิได้
ให้คณะกรรมการแต่งตั้งผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือผู้อำนวยการอาวุโสของธนาคารแห่งประเทศไทยคนหนึ่งเป็นเลขานุการ
มาตรา ๓๐ ให้คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต อำนาจและหน้าที่ดังกล่าวให้รวมถึง
(๑) ออกประกาศหรือคำสั่งเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
(๒) ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของบริษัทข้อมูลเครดิต ผู้ควบคุมข้อมูล และผู้ประมวลผลข้อมูล รวมถึงการกำหนดค่าธรรมเนียมและค่าดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจของบริษัทข้อมูลเครดิตและบุคคลดังกล่าวนั้น
(๓) สั่งให้บริษัทข้อมูลเครดิตยื่นรายงานเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของบริษัทเป็นการทั่วไปหรือเป็นการเฉพาะ โดยมีรายการและตามระยะเวลาที่กำหนด
(๔) สั่งให้บริษัทข้อมูลเครดิตทำคำชี้แจงข้อความเพื่ออธิบายหรือขยายความรายงานที่ได้จัดทำขึ้นตาม (๓)
(๕) พิจารณาวินิจฉัยคำอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(๖) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ
(๗) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่มีกฎหมายหรือมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ
ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรานี้ คณะกรรมการอาจมอบหมายให้คณะอนุกรรมการ หรือธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ปฏิบัติการหรือเสนอความเห็นมายังคณะกรรมการเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วยก็ได้
มาตรา ๓๑ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๒๙ กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) คณะรัฐมนตรีให้ออก
(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๕) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๗) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งหรือมีหน้าที่หรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องในบริษัทข้อมูลเครดิต หรือผู้ควบคุมข้อมูล หรือผู้ประมวลผลข้อมูล
ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ คณะรัฐมนตรีอาจแต่งตั้งผู้อื่นเป็นกรรมการแทนได้และให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน
ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังคงมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งไว้แล้ว
มาตรา ๓๒ ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการหรือรองประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อยู่ในที่ประชุม ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมแทน
การประชุมคณะกรรมการทุกคราวต้องมีกรรมการมาประชุมไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา ๓๓ คณะอนุกรรมการต้องประกอบด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในเรื่องที่เกี่ยวข้องตามที่คณะกรรมการแต่งตั้งขึ้นมีจำนวนไม่น้อยกว่าสามคนแต่ไม่เกินห้าคน
คณะอนุกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ และตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
การประชุมของคณะอนุกรรมการ ให้นำมาตรา ๓๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๓๔ คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดส่งเอกสารหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่มีผู้ร้องทุกข์หรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลของเจ้าของข้อมูลมาพิจารณาได้ ในการนี้ จะเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงด้วยก็ได้
มาตรา ๓๕ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการต้องให้โอกาสแก่ผู้ถูกกล่าวหาหรือสงสัยว่ากระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิของเจ้าของข้อมูลเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและแสดงความคิดเห็นตามสมควร เว้นแต่ในกรณีที่จำเป็นและเร่งด่วน
การกำหนดหรือออกคำสั่งในเรื่องใดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการคำนึงถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ทั้งเจ้าของข้อมูล บริษัทข้อมูลเครดิต สถาบันการเงิน ผู้ใช้บริการหรือบุคคลอื่นใดที่เกี่ยวข้อง และในกรณีที่เห็นสมควร คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการจะกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเป็นการชั่วคราวในการบังคับให้เป็นไปตามการกำหนดหรือออกคำสั่งนั้นก็ได้
มาตรา ๓๖ ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) รับเรื่องราวร้องทุกข์จากเจ้าของข้อมูลที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการตามแต่กรณี
(๒) กำกับการทำงานของบริษัทข้อมูลเครดิต ผู้ประมวลผลข้อมูล หรือผู้กระทำการใด ๆ อันมีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิของเจ้าของข้อมูลและให้มีการตรวจสอบข้อมูลตามที่เห็นสมควรและจำเป็นเพื่อคุ้มครองเจ้าของข้อมูลพร้อมกับรายงานต่อคณะกรรมการ
(๓) ประสานกับส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแล หรือตรวจสอบสถาบันการเงิน ผู้ใช้บริการหรือบุคคลอื่นใด
(๔) ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของเจ้าของข้อมูลที่คณะกรรมการเห็นสมควร หรือเมื่อมีผู้ร้องขอตามพระราชบัญญัตินี้
(๕) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการมอบหมาย
มาตรา ๓๗ ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(๑) เข้าไปในสถานที่ประกอบธุรกิจของบริษัทข้อมูลเครดิต หรือในสถานที่ซึ่งประมวลผลข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิต
(๒) เข้าไปในสถานที่ใด ๆ ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำอันเป็นความผิดตามมาตรา ๙ หรือมีหลักฐานหรือเอกสารที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามมาตราดังกล่าวเพื่อตรวจสอบได้ในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตก หรือในระหว่างเวลาทำการของสถานที่นั้น
(๓) ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน เอกสารหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบหรือดำเนินคดี
(๔) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการมอบหมาย
มาตรา ๓๘ ให้คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการและพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกครั้ง
หมวด ๖
การพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาต
                  
มาตรา ๓๙ รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตของบริษัทข้อมูลเครดิตได้เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงใดดังต่อไปนี้
(๑) ประกอบกิจการโดยทุจริตหรืออาจทำให้ประชาชนเสียหาย
(๒) จงใจละเว้นการดำเนินการหรือฝ่าฝืนข้อห้ามตามที่กฎหมายบัญญัติ
(๓) จงใจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขที่รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการกำหนดตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๔๐ เมื่อรัฐมนตรีสั่งเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตของบริษัทข้อมูลเครดิตใดแล้ว ให้คณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตนั้นได้
หมวด ๗
ความรับผิดทางแพ่ง
                  
มาตรา ๔๑ บริษัทข้อมูลเครดิต หรือผู้ควบคุมข้อมูล หรือผู้ประมวลผลข้อมูลผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ถูกต้องแก่ผู้อื่น หรือเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง แต่มิใช่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่สมาชิก ผู้ใช้บริการหรือเจ้าของข้อมูล บริษัทข้อมูลเครดิตนั้นต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
หมวด ๘
บทกำหนดโทษ
                  
มาตรา ๔๒ บริษัทข้อมูลเครดิตใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗ มาตรา ๘ หรือมาตรา ๑๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
มาตรา ๔๓ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๙ มาตรา ๑๔ หรือมาตรา ๑๕ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๔๔ บริษัทข้อมูลเครดิต ผู้ควบคุมข้อมูล หรือผู้ประมวลผลข้อมูลใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๐ หรือมาตรา ๑๒ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๔๕  บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๔๖ บริษัทข้อมูลเครดิต ผู้ควบคุมข้อมูล หรือผู้ประมวลผลข้อมูลใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๓ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
มาตรา ๔๗ บริษัทข้อมูลเครดิตใดหรือผู้ประมวลผลข้อมูลผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๗ วรรคหนึ่ง หรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา ๑๗ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
มาตรา ๔๘ สมาชิกผู้ใดไม่ส่งข้อมูลของลูกค้าของตนแก่บริษัทข้อมูลเครดิตที่ตนเป็นสมาชิกต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
สมาชิกผู้ใดไม่แจ้งให้ลูกค้าของตนทราบเกี่ยวกับข้อมูลที่ส่งให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิต หรือไม่แจ้งภายในระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรา ๑๘ หรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา ๑๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๔๙ สมาชิกผู้ใดปกปิดหรือให้ข้อมูลของลูกค้าของตนที่ไม่ถูกต้องแก่บริษัทข้อมูลเครดิตต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
มาตรา ๕๐ สมาชิกผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๙ (๒) (๓) (๔) หรือ (๕) หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา ๑๙ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
มาตรา ๕๑ บริษัทข้อมูลเครดิตใดหรือผู้ประมวลผลข้อมูลผู้ใดเปิดเผยหรือให้ข้อมูลแก่สมาชิกของตนหรือผู้ใช้บริการ เพื่อประโยชน์อย่างอื่นหรือเปิดเผยหรือให้ข้อมูลแก่ผู้อื่น นอกเหนือจากที่กำหนดในมาตรา ๒๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๕๒ ผู้ใช้บริการผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๒ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๕๓ บุคคลใด หรือกรรมการ หรืออนุกรรมการผู้ใดรับรู้ข้อมูลของบุคคลใดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๓ หรือจากการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าผู้นั้นนำข้อมูลดังกล่าวไปเปิดเผยแก่บุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับแก่การเปิดเผยในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) การเปิดเผยตามหน้าที่
(๒) การเปิดเผยเพื่อประโยชน์แก่การสอบสวนหรือการพิจารณาคดี
(๓) การเปิดเผยเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
(๔) การเปิดเผยเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขการดำเนินงานของบริษัทข้อมูลเครดิต
(๕) การเปิดเผยแก่ทางการหรือหน่วยงานในประเทศที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงินหรือนิติบุคคลอื่นตามกฎหมายเฉพาะว่าด้วยการนั้น
(๖) การเปิดเผยเมื่อได้รับความเห็นชอบจากเจ้าของข้อมูลเป็นหนังสือเฉพาะครั้ง
(๗) การเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับการฟ้องร้องคดีต่าง ๆ ที่เปิดเผยต่อสาธารณะ
มาตรา ๕๔ บริษัทข้อมูลเครดิต ผู้ควบคุมข้อมูล ผู้ประมวลผลข้อมูล สมาชิกหรือผู้ใช้บริการ หรือผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๔ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๕๕ บริษัทข้อมูลเครดิต หรือสมาชิกผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
มาตรา ๕๖ บริษัทข้อมูลเครดิต สถาบันการเงิน สมาชิกหรือผู้ใช้บริการไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๗ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
มาตรา ๕๗ สถาบันการเงิน สมาชิกหรือผู้ใช้บริการไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๘ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
มาตรา ๕๘ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งของคณะกรรมการตามมาตรา ๓๐ (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) หรือมาตรา ๓๔ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๕๙ บริษัทข้อมูลเครดิตใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา ๔๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
มาตรา ๖๐ ผู้ใดกระทำด้วยประการใดต่อข้อมูลในระบบความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัทข้อมูลเครดิต สมาชิก ผู้ใช้บริการหรือเจ้าของข้อมูล หรือเก็บรวบรวม แก้ไข เปิดเผย ลบหรือทำลายข้อมูลในระบบความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๖๑ กรรมการ ผู้จัดการ พนักงาน หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทข้อมูลเครดิต หรือผู้ควบคุมข้อมูล หรือผู้ประมวลผลข้อมูลกระทำการ หรือไม่กระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการเสียหายแก่ผู้อื่นหรือเจ้าของข้อมูล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๖๒ ในกรณีที่ปรากฏว่ามีการกระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งตามพระราชบัญญัตินี้ให้ถือว่าธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และในคดีอาญานั้น ให้พนักงานอัยการมีอำนาจเรียกทรัพย์สิน หรือราคา หรือค่าสินไหมทดแทน เพื่อความเสียหายแทนเจ้าของข้อมูลหรือผู้เสียหายที่แท้จริงได้ ในการนี้ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม
บทบัญญัติมาตรานี้ไม่เป็นการตัดสิทธิเจ้าของข้อมูลหรือผู้เสียหายที่แท้จริงในการใช้สิทธิฟ้องร้องหรือดำเนินการใด ๆ ตามกฎหมายต่อผู้กระทำความผิดนั้น
มาตรา ๖๓ ความผิดตามมาตรา ๔๒ มาตรา ๔๕ มาตรา ๔๖ มาตรา ๔๗ มาตรา ๔๘ มาตรา ๔๙ มาตรา ๕๐ มาตรา ๕๑ มาตรา ๕๕ มาตรา ๕๖ มาตรา ๕๗ มาตรา ๕๘ หรือมาตรา ๕๙ ให้คณะกรรมการเปรียบเทียบที่รัฐมนตรีแต่งตั้งมีอำนาจเปรียบเทียบได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด
คณะกรรมการเปรียบเทียบที่รัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้มีจำนวนสามคนและคนหนึ่งต้องเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
เมื่อคณะกรรมการเปรียบเทียบได้ทำการเปรียบเทียบกรณีใด และผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการเปรียบเทียบกำหนดแล้ว ให้คดีนั้นเป็นอันเลิกกันและให้คณะกรรมการเปรียบเทียบแจ้งให้คณะกรรมการทราบโดยเร็ว
มาตรา ๖๔ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล ให้กรรมการผู้จัดการ หุ้นส่วนผู้จัดการ หรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมหรือตนได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้เกิดความผิดนั้นแล้ว
หมวด ๙
บทเฉพาะกาล
                  
มาตรา ๖๕ ผู้ใดประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตหรือกิจการอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ให้บังคับ ให้ยื่นคำขอตามมาตรา ๖ ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ในระหว่างการพิจารณาคำขอให้ผู้นั้นประกอบธุรกิจต่อไปได้จนกว่ารัฐมนตรีจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
มาตรา ๖๖ ให้ผู้ที่ใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจว่า “บริษัทข้อมูลเครดิต” หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกันอยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับซึ่งต้องห้ามมิให้ใช้ตามมาตรา ๑๑ เลิกใช้ชื่อหรือคำอื่นใดดังกล่าวภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในการให้กู้ยืมหรือให้สินเชื่อของสถาบันการเงินจำเป็นต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับฐานะทางการเงินและประวัติการชำระหนี้ของลูกค้าอย่างเพียงพอว่าลูกค้ารายนั้นมีประวัติเป็นอย่างไร และมีภาระหนี้อยู่กับสถาบันการเงินอื่นมากน้อยเพียงใด เท่าที่ผ่านมาการให้กู้ยืมหรือให้สินเชื่อของสถาบันการเงินยังมีข้อมูลไม่ครบถ้วน ส่งผลให้เกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มมากขึ้นทำให้เกิดปัญหาความมั่นคงแก่สถาบันการเงินนั้น และระบบสถาบันการเงินโดยรวม นอกจากนี้การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการทำธุรกรรมข้อมูลเครดิต รวมทั้งยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองประชาชนผู้เป็นเจ้าของข้อมูลไว้เป็นการเฉพาะ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๙
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. ๒๕๔๕ กำหนดให้การส่งข้อมูลและการแจ้งข้อมูลให้เจ้าของข้อมูลทราบเกี่ยวกับข้อมูลที่ส่งให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิตและการขอรับคำยินยอมของเจ้าของข้อมูลในการเปิดเผยหรือให้ข้อมูลแก่สมาชิก หรือผู้ใช้บริการจะต้องจัดทำเป็นหนังสือและต้องดำเนินการภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ทำให้เป็นภาระแก่บริษัทข้อมูลเครดิตและไม่สอดคล้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งสามารถดำเนินการโดยใช้วิธีการอื่นได้ และอัตราโทษทางอาญาในความผิดที่เกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าวมีความรุนแรงเกินสมควรสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเหมาะสมแก่การบังคับใช้ยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑
มาตรา ๖ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนครบวาระ และเมื่อครบวาระแล้ว หากยังไม่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับบริการสินเชื่อสอดคล้องกับศักยภาพในการชำระคืนหนี้ ซึ่งมีผลต่อความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน และเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ จึงเห็นสมควรให้บริษัทข้อมูลเครดิตสามารถคำนวณคะแนนเครดิต และจัดทำรายงานเชิงสถิติ และให้แก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต ให้เหมาะสมตามสภาพการในปัจจุบัน จึงมีความจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Weekly Reload Bonus - Neon 54 casino! Martian Wallet is a secure and user-friendly platform for managing your cryptocurrencies. It supports various assets and offers seamless transactions for both beginners and experts. Learn more at martianwallet.net. To manage your Solana assets effortlessly, use phantom login for secure access to your wallet and quick interactions with NFTs and decentralized applications. Visit the metamask website to download the wallet extension for securely managing crypto assets and interacting with decentralized apps.