Hot! พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๕๘

พระราชบัญญัติ

แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๖)

พ.ศ. ๒๕๕๘

___________________________________________________

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร

ให้ไว้ ณ วันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘

เป็นปีที่ ๗๐ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคําแนะนําและยินยอม ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๕๘”

มาตรา ๒ ๑ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด ๔ การดําเนินคดีแบบกลุ่ม มาตรา ๒๒๒/๑ ถึงมาตรา ๒๒๒/๔๙ ในลักษณะ ๒ วิธีพิจารณาวิสามัญในศาลชั้นต้น ภาค ๒ วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้นแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

หมวด ๔

การดําเนินคดีแบบกลุ่ม

______________________

ส่วนที่ ๑

บททั่วไป

__________________________

มาตรา ๒๒๒/๑ ในหมวดนี้

“กลุ่มบุคคล” หมายความว่า บุคคลหลายคนที่มีสิทธิอย่างเดียวกันอันเนื่องมาจาก ข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายเดียวกัน และมีลักษณะเฉพาะของกลุ่มเหมือนกัน แม้ว่าจะมีลักษณะของความเสียหายที่แตกต่างกันก็ตาม

“สมาชิกกลุ่ม” หมายความว่า บุคคลใด ๆ ที่อยู่ในกลุ่มบุคคล

“การดําเนินคดีแบบกลุ่ม” หมายความว่า การดําเนินคดีที่ศาลอนุญาตให้เสนอคํา ฟ้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคําพิพากษาแสดงสิทธิของโจทก์และสมาชิกกลุ่ม

“เจ้าพนักงานคดีแบบกลุ่ม” หมายความว่า บุคคลที่เลขาธิการสํานักงานศาลยุติธรรม แต่งตั้งให้ทําหน้าที่ช่วยเหลือศาลในการดําเนินคดีแบบกลุ่ม

มาตรา ๒๒๒/๒ เพื่อความเหมาะสมสําหรับคดีบางประเภท หรือเพื่อให้การดําเนิน กระบวนพิจารณาหรือการบังคับคดีเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรม ประธานศาลฎีกามีอํานาจออกข้อกําหนดใดๆ ที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในหมวดนี้ได้ ดังนี้

๑) กําหนดคุณสมบัติ ส่วนได้เสีย รวมตลอดทั้งการได้มาซึ่งสิทธิการเป็นสมาชิกกลุ่มของโจทก์ ที่จะมีอํานาจฟ้องคดีแบบกลุ่มได้

(๒) กําหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจารณาอนุญาตให้ดําเนินคดี แบบกลุ่ม

(๓) กําหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการแจ้งเรื่องการดําเนินคดีแบบกลุ่มให้สมาชิกกลุ่มทราบ

(๔) กําหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการนัดพร้อม การแก้ไขคําฟ้องและคําให้การ การดําเนิน กระบวนพิจารณาและการรับฟังพยานหลักฐาน ในการดําเนินคดีแบบกลุ่ม

(๕) กําหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบังคับคดีและเงินรางวัลของทนายความฝ่ายโจทก์

(๖) ออกข้อกําหนดเกี่ยวกับเรื่องที่จําเป็นอื่น ๆ ในการดําเนินคดีแบบกลุ่ม ข้อกําหนดนั้น เมื่อได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแลว้ ให้ใช้บังคับได้

มาตรา ๒๒๒/๓ ศาลตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง เว้นแต่ศาลแขวง มีอํานาจในการดําเนินคดีแบบกลุ่ม

มาตรา ๒๒๒/๔ กระบวนพิจารณาส่วนใดที่มิได้บัญญัติไว้ในหมวดนี้โดยเฉพาะ ให้นําบทบัญญัติ ในภาค ๑ บททั่วไป และบทบัญญัติในคดีสามัญมาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติ ในหมวดนี้

ในกรณีที่มีการร้องขอให้ดําเนินคดีแบบกลุ่มในคดีซึ่งมีกฎหมายกําหนดวิธีพิจารณาความไว้เป็น การเฉพาะ ให้ศาลในคดีนั้นมีอํานาจสั่งให้ดําเนินคดีแบบกลุ่มและนําวิธีพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งหมวดนี้ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๒๒๒/๕ ให้มีเจ้าพนักงานคดีแบบกลุ่มทําหน้าที่ช่วยเหลือศาลในการดําเนินคดีแบบกลุ่ม ตามที่ศาลมอบหมาย ดังต่อไปนี้

(๑) ไกล่เกลี่ยคดีแบบกลุ่ม

(๒) ตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐาน

(๓) บันทึกคําพยาน

(๔) ดําเนินการให้มีการคุ้มครองสิทธิของคู่ความและสมาชิกกลุ่มทั้งก่อนและระหว่างการพิจารณา

(๕) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามบทบัญญัติแห่งหมวดนี้หรือตามข้อกําหนดของประธานศาลฎีกา ในการทําหน้าที่ช่วยเหลือนั้น

ในการปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งหมวดนี้ ให้เจ้าพนักงานคดีแบบกลุ่มเป็นเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญาและให้มีอํานาจมีหนังสือเรียกบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาให้ข้อมูลหรือให้จัดส่ง เอกสารเพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามอํานาจหน้าที

หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดีแบบกลุ่มให้เป็นไปตามที่กําหนดไว้ใน ข้อกําหนดของประธานศาลฎีกา

ในกรณีที่กฎหมายวิธีพิจารณาความใดบัญญัติให้มีเจ้าพนักงานคดีทําหน้าที่ช่วยเหลือศาล ในการดําเนินคดีไว้เป็นการเฉพาะ ให้เจ้าพนักงานคดีดังกล่าวนอกจากมีหน้าที่ตามกฎหมายนั้นแล้ว มีหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งหมวดนี้ด้วย

มาตรา ๒๒๒/๖ ผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานคดีแบบกลุ่ม ต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(๑) สําเร็จการศึกษาระดับปริญญาโททางกฎหมายหรือปริญญาเอกทางกฎหมาย

(๒) สําเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางกฎหมาย เป็นสามัญสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภา และได้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายตามที่คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วย ระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมกําหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

(๓) สําเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางกฎหมายและปริญญาในสาขาวิชาอื่นที่คณะกรรมการ ข้าราชการศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมกําหนดซึ่งไม่ต่ํากว่าปริญญาตรี และได้ประกอบวิชาชีพตามที่คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหาร ราชการศาลยุติธรรมกําหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสี่ปี

ให้เลขาธิการสํานักงานศาลยุติธรรมมีอํานาจพิจารณาแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่ง เป็นเจ้าพนักงานคดีแบบกลุ่ม ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมตามกฎหมาย ว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมกําหนด

มาตรา ๒๒๒/๗ ในกรณีที่การฟ้องคดีแบบกลุ่มตามบทบัญญัติแห่งหมวดนี้เป็นคดีแพ่ง เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา แม้ว่าจะมีการฟ้องเป็นคดีอาญาแล้วก็ตาม ศาลที่พิจารณาคดีแบบกลุ่ม อาจพิจารณาคดีต่อไปโดยไม่ต้องรอให้ศาลคดีอาญามีคําพิพากษาก่อน และหากศาลในคดีอาญา ได้มีคําพิพากษาแล้ว

(๑) ในกรณีที่คําพิพากษาคดีส่วนอาญานั้นได้วินิจฉัยว่าจําเลยได้กระทําความผิด ศาลที่พิจารณา คดีแบบกลุ่มต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคําพิพากษาคดีส่วนอาญา

(๒) ในกรณีที่คําพิพากษาคดีส่วนอาญานั้นได้วินิจฉัยเป็นอย่างอื่น ศาลที่พิจารณาคดีแบบกลุ่ม ไม่จําต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคําพิพากษาคดีส่วนอาญา

ส่วนที่ ๒

การขออนุญาตให้ดําเนินคดีแบบกลุ่ม

_______________________________

มาตรา ๒๒๒/๘ คดีที่มีสมาชิกกลุ่มจํานวนมากดังต่อไปนี้ โจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มอาจร้องขอ ให้ดําเนินคดีแบบกลุ่มได้

(๑) คดีละเมิด

(๒) คดีผิดสัญญา

(๓) คดีเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค แรงงาน หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ การแข่งขันทางการค้า

มาตรา ๒๒๒/๙ ในการร้องขอให้ดําเนินคดีแบบกลุ่มให้โจทก์ยื่นคําร้องต่อศาลพร้อมกับคําฟ้องเริ่มคดี เพื่อขอให้ดําเนินคดีแบบกลุ่มได้ตามบทบัญญัติแห่งหมวดนี้

คําร้องขอให้ดําเนินคดีแบบกลุ่มตามวรรคหนึ่ง โจทก์ต้องแสดงเหตุตามสมควรที่ศาลจะอนุญาต ให้ดําเนินคดีแบบกลุ่ม

มาตรา ๒๒๒/๑๐ คําฟ้องของโจทก์ต้องทําเป็นหนังสือและแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คําขอบังคับ รวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์และของกลุ่มบุคคลที่มีลักษณะเดียวกับโจทก์ด้วย และในกรณีที่โจทก์มีคําขอบังคับให้จําเลยชําระหนี้เป็นเงิน คําขอบังคับของกลุ่มบุคคลต้องระบุหลักการ และวิธีการคํานวณเพื่อชําระเงินให้แก่สมาชิกกลุ่มเท่าที่จะระบุได้ แต่ไม่จําเป็นต้องแสดงจํานวนเงินที่สมาชิกกลุ่ม แต่ละรายจะได้รับด้วย

ในการดําเนินคดีแบบกลุ่ม ให้โจทก์ผู้เริ่มคดีเสียค่าขึ้นศาลตามคําขอบังคับเฉพาะในส่วนของโจทก์ ผู้เริ่มคดีเท่านั้น

มาตรา ๒๒๒/๑๑ ในกรณีที่โจทก์ยื่นคําร้องขอให้ดําเนินคดีแบบกลุ่ม หากศาลเห็นว่าคําฟ้อง ของโจทก์ไม่มีข้อขัดข้องที่จะรับไว้ตามมาตรา ๑๘ หรือมีข้อขัดข้องแต่โจทก์ได้แก้ไขให้ถูกต้องแล้ว ก่อนที่ศาลจะมีคําสั่งรับคําฟ้อง ให้ศาลพิจารณาคําร้องของโจทก์ตามมาตรา ๒๒๒/๑๒ แล้วมีคําสั่งอนุญาตหรือ ไม่อนุญาตให้ดําเนินคดีแบบกลุ่มโดยไม่ชักช้า

มาตรา ๒๒๒/๑๒ ในการพิจารณาคําร้องขออนุญาตให้ดําเนินคดีแบบกลุ่ม ให้ศาลจัดส่งสําเนา คําฟ้องและคําร้องเช่นว่านั้นไปให้จําเลย เมื่อศาลได้ฟังคู่ความทุกฝ่ายและทําการไต่สวนตามที่เห็นสมควรแล้ว ศาลจะอนุญาตให้ดําเนินคดีแบบกลุ่มได้ต่อเมื่อเป็นที่พอใจแก่ศาลว่า

(๑) สภาพแห่งข้อหา คําขอบังคับ และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์และ ของกลุ่มบุคคล มีลักษณะตามที่กําหนดไว้ในมาตรา ๒๒๒/๑๐

(๒) โจทก์ได้แสดงให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะที่เหมือนกันของกลุ่มบุคคลที่ชัดเจนเพียงพอ เพื่อให้รู้ได้ว่าเป็นกลุ่มบุคคลใด

(๓) กลุ่มบุคคลมีสมาชิกกลุ่มจํานวนมาก ซึ่งการดําเนินคดีอย่างคดีสามัญจะทําให้เกิดความยุ่งยาก และไม่สะดวก

(๔) การดําเนินคดีแบบกลุ่มจะเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากกว่าการดําเนินคดีอย่างคดีสามัญ

(๕) โจทก์ได้แสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นสมาชิกกลุ่มที่มีคุณสมบัติ ส่วนได้เสีย รวมตลอดทั้ง การได้มาซึ่งสิทธิการเป็นสมาชิกกลุ่ม ตามข้อกําหนดของประธานศาลฎีกา ถ้ามี และโจทก์รวมทั้งทนายความ ที่โจทก์เสนอให้เป็นทนายความของกลุ่มสามารถดําเนินคดีคุ้มครองสิทธิของกลุ่มบุคคลได้อย่างเพียงพอ และเป็นธรรม

คําสั่งศาลที่อนุญาตให้ดําเนินคดีแบบกลุ่ม ศาลอาจจํากัดขอบเขตของกลุ่มบุคคลให้ชัดเจนเพียงพอ เพื่อให้รู้ว่าเป็นกลุ่มบุคคลใดก็ได้

คําสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ดําเนินคดีแบบกลุ่มอาจอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ภายในกําหนดเวลา เจ็ดวันนับแต่วันที่ศาลมีคําสั่ง และให้งดการพิจารณาไว้จนกว่าคําสั่งนั้นจะถึงที่สุด ทั้งนี้ ให้ศาลอุทธรณ์ วินิจฉัยชี้ขาดโดยเร็ว คําวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด

ในกรณีที่ศาลมีคําสั่งอนุญาตให้ดําเนินคดีแบบกลุ่ม ให้ศาลสั่งรับคําฟ้องไว้พิจารณาเมื่อได้ส่ง หมายเรียกให้จําเลยแล้ว ให้จําเลยทําคําให้การเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายในหนึ่งเดือนและให้ถือว่า ทนายความของโจทก์เป็นทนายความของกลุ่มด้วย

ในกรณีที่ศาลมีคําสั่งไม่อนุญาตให้ดําเนินคดีแบบกลุ่ม ให้ศาลดําเนินกระบวนพิจารณาต่อไป อย่างคดีสามัญ

มาตรา ๒๒๒/๑๓ ในกรณีที่มีการยื่นคําร้องขอให้ดําเนินคดีแบบกลุ่มเกี่ยวกับสิทธิอย่างเดียวกัน หลายรายในศาลเดียวกันหรือต่างศาลกัน ให้ศาลรวมการพิจารณาคําร้องขอเหล่านั้นเข้าด้วยกัน และมีคําสั่ง ให้ผู้ร้องรายหนึ่งรายใดเป็นโจทก์ในการดําเนินคดีแบบกลุ่ม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในข้อกําหนดของประธานศาลฎีกาตามมาตรา ๒๒๒/๒ คําสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด เว้นแต่ จะเป็นกรณีตามมาตรา ๒๒๒/๑๒ วรรคสาม

ส่วนที่ ๓

การพิจารณาคดีแบบกลุ่ม

____________________

มาตรา ๒๒๒/๑๔ เมื่อคําสั่งอนุญาตให้ดําเนินคดีแบบกลุ่มถึงที่สุดแล้ว ให้ศาลสั่งให้โจทก์ นําเงินค่าใช้จ่ายในการดําเนินคดีแบบกลุ่มมาวางต่อศาลตามจํานวนที่เห็นสมควรภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ ศาลมีคําสั่ง ในกรณีที่โจทก์เพิกเฉยไม่ดําเนินการตามคําสั่งดังกล่าวและไม่แจ้งให้ศาลทราบเหตุแห่ง การเพิกเฉยเช่นว่านั้น ให้ศาลมีคําสั่งยกเลิกการดําเนินคดีแบบกลุ่มและให้ดําเนินกระบวนพิจารณาต่อไป อย่างคดีสามัญ

หากต่อมาปรากฏว่าค่าใช้จ่ายที่วางไว้มีจํานวนไม่เพียงพอ ศาลจะสั่งให้มีการวางเงินค่าใช้จ่าย ดังกล่าวเพิ่มเติมตามจํานวนที่เห็นสมควรก็ได้ ในกรณีที่โจทก์เพิกเฉยไม่ดําเนินการตามคําสั่งดังกล่าว และไม่แจ้งให้ศาลทราบเหตุแห่งการเพิกเฉยเช่นว่านั้น ให้ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง

มาตรา ๒๒๒/๑๕ ให้ศาลส่งคําบอกกล่าวคําสั่งอนุญาตให้ดําเนินคดีแบบกลุ่มให้สมาชิกกลุ่ม เท่าที่ทราบ และประกาศทางหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายเป็นเวลาสามวันติดต่อกัน รวมทั้งทางสื่อมวลชนอื่น หรือวิธีการอื่นใดเพิ่มเติมตามที่เห็นสมควร คําบอกกล่าวและประกาศอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้

(๑) ชื่อศาลและเลขคดี

(๒) ชื่อและที่อยู่ของคู่ความและทนายความฝ่ายโจทก์

(๓) ข้อความโดยย่อของคําฟ้องและลักษณะของกลุ่มบุคคลที่ชัดเจน

(๔) ข้อความที่แสดงว่าศาลอนุญาตให้ดําเนินคดีแบบกลุ่ม และวันเดือนปีที่ศาลมีคําสั่ง

(๕) สิทธิของสมาชิกกลุ่มตามมาตรา ๒๒๒/๑๖ และมาตรา ๒๒๒/๑๗

(๖) กําหนดวันเพื่อให้สมาชิกกลุ่มแจ้งความประสงค์ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม ทั้งนี้ ตามที่ศาลเห็นสมควรแต่ต้องไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวัน

(๗) ผลของการออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม

(๘) ผลของคําพิพากษาที่จะผูกพันสมาชิกกลุ่ม

(๙) ชื่อและตําแหน่งผู้พิพากษาผู้ออกคําบอกกล่าวและประกาศ

มาตรา ๒๒๒/๑๖ สมาชิกกลุ่มมีสิทธิออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มได้โดยแจ้งความประสงค์ เป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายในระยะเวลาที่ศาลกําหนดตามมาตรา ๒๒๒/๑๕ (๖) และให้ถือว่าสมาชิก กลุ่มดังกล่าวไม่เป็นสมาชิกกลุ่มนับแต่วันที่ได้แจ้งความประสงค์นั้นต่อศาล

เมื่อพ้นกําหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง สมาชิกกลุ่มจะออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล และคําสั่งของศาลให้เป็นที่สุด

บุคคลที่ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มแล้ว จะร้องขอกลับเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มอีกไม่ได้

สมาชิกกลุ่มและบุคคลที่ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มจะร้องสอดเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมในการดําเนินคดี แบบกลุ่มโดยอาศัยสิทธิตามมาตรา ๕๗ ไม่ได

มาตรา ๒๒๒/๑๗ สมาชิกกลุ่มที่ไม่ได้ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มตามมาตรา ๒๒๒/๑๖ ย่อมมีสิทธิดังต่อไปนี้

(๑) เข้าฟังการพิจารณาคดี

(๒) ร้องขอให้ศาลสั่งแสดงว่าโจทก์มิได้มีคุณสมบัติ ส่วนได้เสีย รวมตลอดทั้งการได้มาซึ่งสิทธิ การเป็นสมาชิกกลุ่มตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๒๒/๑๒ (๕)

(๓) ขอตรวจเอกสารทั้งหมดหรือบางส่วนในสํานวนความหรือขอคัดสําเนาเอกสารเหล่านั้น

(๔) จัดหาทนายความคนใหม่มาดําเนินคดีแทนทนายความของกลุ่มตามมาตรา ๒๒๒/๑๙ วรรคสอง

(๕) ร้องขอเข้าแทนที่โจทก์โดยอาศัยสิทธิตามบทบัญญัติในส่วนนี้

(๖) คัดค้านการร้องขอเข้าแทนที่โจทก์ตามมาตรา ๒๒๒/๒๕ การที่โจทก์ขอถอนฟ้อง ตามมาตรา ๒๒๒/๒๘ การที่มีการตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดี ตามมาตรา ๒๒๒/๒๙ และการที่คู่ความตกลงกันเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาด ตามมาตรา ๒๒๒/๓๐

(๗) ตรวจและโต้แย้งคําขอรับชําระหนี้ตามมาตรา ๒๒๒/๔๐

สมาชิกกลุ่มจะแต่งตั้งทนายความเพื่อดําเนินการตามวรรคหนึ่งก็ได้

มาตรา ๒๒๒/๑๘ ห้ามมิให้สมาชิกกลุ่มที่ไม่ได้ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มตามมาตรา ๒๒๒/๑๖ ยื่นฟ้องจําเลยในเรื่องเดียวกันกับที่โจทก์ได้ยื่นฟ้อง

ในกรณีที่สมาชิกกลุ่มที่ไม่ได้ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มได้ยื่นฟ้องคดีไว้ก่อนสิ้นกําหนด ระยะเวลาของการออกจากสมาชิกกลุ่ม ใหศาลท ้ ี่ได้รับฟ้องไว้นั้นมีคําสั่งจําหน่ายคดีออกจากสารบบความ

มาตรา ๒๒๒/๑๙ ในกรณีที่การดําเนินคดีแบบกลุ่มจะไม่คุ้มครองหรือเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกกลุ่ม อย่างเพียงพอ หรือไม่มีความจําเป็นที่จะดําเนินคดีแบบกลุ่มอีกต่อไป เมื่อความปรากฏต่อศาลเอง หรือตามคําแถลงของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ให้ศาลมีอํานาจที่จะสั่งยกเลิกการดําเนินคดีแบบกลุ่ม และดําเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยให้ถือว่ากระบวนพิจารณาที่ได้กระทําไปแล้ว มีผลผูกพันการดําเนินคดีสามัญของโจทก์และจําเลยต่อไปด้วย

หากความปรากฏต่อศาลในระหว่างการพิจารณาว่าทนายความฝ่ายโจทก์ไม่สามารถดําเนินคดี คุ้มครองสิทธิของกลุ่มบุคคลได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม หรือทนายความฝ่ายโจทก์ขอถอนตัวจาก การดําเนินคดีแบบกลุ่ม ศาลอาจมีคําสั่งให้โจทก์และสมาชิกกลุ่มจัดหาทนายความคนใหม่มาดําเนินคดีแทน ภายในระยะเวลาที่ศาลกําหนด หากโจทก์และสมาชิกกลุ่มเพิกเฉยไม่ดําเนินการดังกล่าว ให้นําความ ในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม

คําสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด

มาตรา ๒๒๒/๒๐ เมื่อศาลได้มีคําสั่งอนุญาตให้ดําเนินคดีแบบกลุ่มและจําเลยได้ยื่นคําให้การแล้ว ให้ศาลกําหนดวันนัดพร้อมโดยสั่งให้คู่ความทุกฝ่ายมาศาลเพื่อดําเนินการดังนี้

(๑) ไกล่เกลี่ยหรือนําวิธีอนุญาโตตุลาการมาใช้เพื่อให้คดีเสร็จไปทั้งหมดหรือบางส่วน

(๒) ให้คู่ความนําต้นฉบับพยานเอกสารหรือพยานวัตถุทั้งหมดที่ประสงค์จะอ้างอิงและอยู่ใน ความครอบครองของตนที่สามารถนํามาศาลได้มาแสดงต่อศาล เพื่อให้ศาลและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตรวจดู

ถ้าพยานหลักฐานดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของคู่ความฝ่ายอื่นหรือของบุคคลภายนอก คู่ความฝ่ายที่ประสงค์จะอ้างอิงต้องขอให้ศาลมีคําสั่งเรียกพยานหลักฐานนั้นมาจากผู้ครอบครอง โดยยื่นคําขอ ต่อศาลพร้อมกับการยื่นบัญชีระบุพยานเพื่อให้ได้พยานหลักฐานนั้นมาก่อนวันนัดพร้อม

ในกรณีที่มีเหตุขัดข้องทําให้คู่ความไม่สามารถนําพยานหลักฐานที่อยู่ในความครอบครองของตนมา หรือยังไม่ได้มาซึ่งพยานหลักฐานที่ศาลออกคําสั่งเรียกจากคู่ความฝ่ายอื่นหรือบุคคลภายนอก หรือ มีเหตุจําเป็นอื่นใด ถ้าศาลเห็นสมควร ก็ให้ศาลเลื่อนวันนัดพร้อมออกไปตามที่เห็นสมควร

หากคู่ความฝ่ายใดจงใจไม่ดําเนินการดังกล่าวในวันนัดพร้อมหรือวันอื่นที่ศาลได้เลื่อนไป คู่ความฝ่ายนั้นไม่มีสิทธิที่จะนําพยานหลักฐานดังกล่าวมาสืบในภายหลัง แต่ถ้าศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์ แห่งความยุติธรรมจําเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสําคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสําคัญในคดีโดยฝ่าฝืน ต่อบทบัญญัติแห่งอนุมาตรานี้ ให้ศาลมีอํานาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้

(๓) ให้ศาลตรวจคําคู่ความและคําแถลงของคู่ความแล้วนําข้ออ้าง ข้อเถียง ที่ปรากฏในคําคู่ความ และคําแถลงของคู่ความเทียบกันดูและสอบถามคู่ความทุกฝ่ายถึงข้ออ้าง ข้อเถียง และพยานหลักฐาน ที่ยื่นต่อศาล ว่าฝ่ายใดยอมรับหรือโต้แย้งข้ออ้าง ข้อเถียง นั้นอย่างไร ข้อเท็จจริงใดที่คู่ความยอมรับกัน ก็เป็นอันยุติไปตามนั้น ส่วนข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างแต่คู่ความฝ่ายอื่น ไม่รับและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคําคู่ความ ให้ศาลกําหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท และกําหนดให้คู่ความฝ่ายใดนําพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้

ในการสอบถามคู่ความดังกล่าว คู่ความแต่ละฝ่ายต้องตอบคําถามที่ศาลถามเอง หรือถามตาม คําขอของคู่ความฝ่ายอื่น เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายอื่นยกเป็นข้ออ้าง ข้อเถียง และพยาน หลักฐานต่างๆ ที่คู่ความได้ยื่นต่อศาล ถ้าคู่ความฝ่ายใดไม่ตอบคําถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใด หรือปฏิเสธ ข้อเท็จจริงใดโดยไม่มีเหตุแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้ง ให้ถือว่ายอมรับข้อเท็จจริงนั้นแล้ว เว้นแต่ศาลจะเห็นว่า คู่ความฝ่ายนั้นไม่อยู่ในวิสัยที่จะตอบหรือแสดงเหตุแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้งได้ในขณะนั้นและเป็น ข้อเท็จจริงที่จําเป็นต่อการกําหนดประเด็นข้อพิพาท ศาลจะมีคําสั่งให้เลื่อนวันนัดพร้อมเฉพาะส่วนที่ยัง ไม่เสร็จสิ้นออกไป และให้คู่ความฝ่ายนั้นทําคําแถลงเกี่ยวกับข้อเท็จจริงนั้นมายื่นต่อศาลภายในเวลาที่ศาล เห็นสมควรก็ได้

(๔) กําหนดระยะเวลาทั้งหมดในการดําเนินคดีแบบกลุ่ม

(๕) กําหนดวัน เวลา วิธีการ และขั้นตอนในการดําเนินคดีแบบกลุ่มที่จําเป็น เช่น จํานวน และรายละเอียดเกี่ยวกับพยานที่จะนํามาเบิกความ บันทึกถ้อยคําแทนการสืบพยานบุคคล พยาน ผู้เชี่ยวชาญ พยานเอกสาร และพยานหลักฐานที่ต้องการให้ศาลเรียกจากคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง หรือบุคคลภายนอก รวมทั้งการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ การเดินเผชิญสืบ และการส่งประเด็น ไปสืบยังศาลอื่น

ในกรณีที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาศาลในวันนัดพร้อมหรือวันอื่นที่ศาลได้เลื่อนไป ให้ศาล ดําเนินการตามมาตรานี้โดยให้ถือว่าคู่ความที่ไม่มาศาลได้ทราบการดําเนินการในวันนั้นแล้ว และคู่ความ ที่ไม่มาศาลไม่มีสิทธิขอเลื่อนกําหนดนัดหรือคัดค้านประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นําสืบที่ศาลกําหนด เว้นแต่เป็นกรณีที่ไม่สามารถมาศาลได้ในวันนัดพร้อมหรือวันอื่นที่ศาลได้เลื่อนไปเพราะเหตุจําเป็น อันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้หรือเป็นการคัดค้านประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน

เมื่อศาลได้ดําเนินการตามมาตรานี้เสร็จสิ้นแล้ว ให้ศาลกําหนดวันสืบพยานซึ่งมีระยะเวลา ไม่น้อยกว่าสิบวันนับแต่วันนัดพร้อมวันสุดท้าย

ให้ถือว่าวันนัดพร้อมวันแรกตามมาตรานี้เป็นวันชี้สองสถานตามประมวลกฎหมายนี้

มาตรา ๒๒๒/๒๑ ก่อนวันนัดพร้อมตามมาตรา ๒๒๒/๒๐ ไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน ให้คู่ความยื่นบัญชี ระบุพยานต่อศาลพร้อมสําเนาในจํานวนที่เพียงพอเพื่อให้คู่ความฝ่ายอื่นรับไปจากเจ้าพนักงานศาล และถ้าคู่ความฝ่ายใดมีความจํานงจะยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ให้ยื่นต่อศาลก่อนกระบวนพิจารณา ที่ต้องกระทําในวันนัดพร้อมเสร็จสิ้น

การยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง จะกระทําได้ต่อเมื่อ ได้รับอนุญาตจากศาลเมื่อผู้ร้องขอแสดงเหตุอันสมควรว่าไม่สามารถทราบถึงพยานหลักฐานนั้นหรือ เป็นกรณีจําเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม หรือเพื่อให้โอกาสแก่คู่ความในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

มาตรา ๒๒๒/๒๒ ในกรณีที่จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การหรือขาดนัดพิจารณาศาลจะมีคําพิพากษา หรือคําสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การหรือขาดนัดพิจารณามิได้ ให้ศาล สืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่เห็นว่าจําเป็น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

ถ้าโจทก์ไม่นําพยานหลักฐานมาสืบตามความในวรรคหนึ่งภายในระยะเวลาที่ศาลกําหนด หรือ ในกรณีที่คู่ความทั้งสองฝ่ายหรือโจทก์ขาดนัดพิจารณา ให้บังคับตามบทบัญญัติมาตรา ๒๒๒/๒๕

นอกจากที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้นําบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาโดยขาดนัด มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๒๒๒/๒๓ ในการพิจารณาพิพากษาคดี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมให้ศาลมีอํานาจ แสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ ในการนี้ ศาลจะรับฟังพยานบุคคล พยานเอกสาร หรือพยานหลักฐานอื่นนอกเหนือจากพยานหลักฐานของคู่ความก็ได้ แต่ต้องให้คู่ความทุกฝ่ายทราบและไม่ตัดสิทธิคู่ความในอันที่ จะโต้แย้งพยานหลักฐานดังกล่าว

ศาลอาจขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาคดีได้ แต่ต้องให้คู่ความทุกฝ่ายทราบและไม่ตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะขอให้เรียกผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญฝ่ายตน มาให้ความเห็นโต้แย้งหรือเพิ่มเติมความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว

บุคคลที่ศาลขอให้มาตามวรรคหนึ่งและวรรคสองมีสิทธิได้รับค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง ค่าเช่าที่พัก และการชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไป ตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาโดยได้รับความเห็นชอบของ คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม และไม่ถือว่าเงินที่ศาลสั่งจ่ายตามวรรคนี้เป็นค่าฤชาธรรมเนียม ในการดําเนินคดีแบบกลุ่มที่คู่ความจะต้องชําระ

มาตรา ๒๒๒/๒๔ ไม่ว่าการพิจารณาคดีจะได้ดําเนินไปแล้วเพียงใด ศาลอาจมีคําสั่งให้มี การแบ่งกลุ่มย่อยเนื่องจากมีลักษณะของความเสียหายที่แตกต่างกันระหว่างบุคคลในกลุ่ม และในกรณีเช่นนี้ ศาลอาจสั่งให้มีการนําสืบถึงความเสียหายของกลุ่มย่อยให้ชัดเจนด้วยก็ได้ คําสั่งของศาลให้เป็นที่สุด

มาตรา ๒๒๒/๒๕ ในกรณีดังต่อไปนี้ให้ศาลกําหนดวันตามที่เห็นสมควรแต่ต้องไม่น้อยกว่า สี่สิบห้าวันเพื่อให้สมาชิกกลุ่มยื่นคําขอเข้าแทนที่โจทก์ รวมทั้งกําหนดวันยื่นคําคัดค้าน คําขอเข้าแทนที่โจทก์ วันนัดไต่สวนคําขอเข้าแทนที่โจทก์ และส่งคําบอกกล่าวให้สมาชิกกลุ่มเท่าที่ทราบ กับประกาศโดยใช้วิธีการ ตามที่เห็นสมควร

(๑) เมื่อโจทก์มิได้มีคุณสมบัติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๒๒/๑๒ (๕)

(๒) เมื่อโจทก์มรณะหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ

(๓) เมื่อศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์

(๔) เมื่อโจทก์ทิ้งฟ้อง

(๕) เมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายหรือโจทก์ขาดนัดพิจารณา

(๖) เมื่อโจทก์ไม่นําพยานหลักฐานมาสืบตามมาตรา ๒๒๒/๒๒

(๗) เมื่อโจทก์ร้องขอต่อศาลว่าไม่ประสงค์ที่จะเป็นโจทก์ดําเนินคดีแทนกลุ่มอีกต่อไป

ในกรณีตาม (๒) นอกจากสมาชิกกลุ่มแล้ว บุคคลตามมาตรา ๔๒ หรือมาตรา ๔๕ แล้วแต่กรณี อาจร้องขอเข้าแทนที่โจทก์ได้ด้วย โดยให้นํามาตรา ๒๒๒/๒๖ และมาตรา ๒๒๒/๒๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๒๒๒/๒๖ ในการพิจารณาอนุญาตให้สมาชิกกลุ่มคนใดเข้าแทนที่โจทก์ต้องเป็นที่พอใจ แก่ศาลว่าสมาชิกกลุ่มคนนั้นมีคุณสมบัติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๒๒/๑๒ (๕)

ถ้าศาลอนุญาตให้สมาชิกกลุ่มเข้าแทนที่โจทก์ ให้โจทก์เดิมยังคงมีฐานะเป็นสมาชิกกลุ่มคนหนึ่ง และทนายความของโจทก์เดิมยังคงเป็นทนายความของกลุ่มต่อไป ในกรณีตามมาตรา ๒๒๒/๒๕ (๕) และ (๖) ให้ศาลกําหนดวันสืบพยานใหม่โดยเร็ว ถ้าศาลไม่อนุญาตให้สมาชิกกลุ่มเข้าแทนที่โจทก์ หรือไม่มีการร้องขอเข้าแทนที่โจทก์ ให้ศาลมีคําสั่งยกเลิกการดําเนินคดีแบบกลุ่มและให้ดําเนินกระบวน พิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยให้ถือว่ากระบวนพิจารณาที่ได้กระทําไปแล้วมีผลผูกพันการดําเนินคดีสามัญ ของโจทก์ต่อไปด้วย

คําสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด

มาตรา ๒๒๒/๒๗ ห้ามมิให้สมาชิกกลุ่มที่เข้าแทนที่โจทก์ตามมาตรา ๒๒๒/๒๕ ใช้สิทธิอย่างอื่น นอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่โจทก์ในชั้นพิจารณาเมื่อตนร้องขอเข้าแทนที่โจทก์ และห้ามมิให้ใช้สิทธิเช่นว่านั้น ในทางที่ขัดกับสิทธิของโจทก์เดิม เว้นแต่เป็นที่พอใจแก่ศาลตามคําร้องของสมาชิกกลุ่มที่เข้าแทนที่โจทก์ ว่าการดําเนินกระบวนพิจารณาของโจทก์ที่ได้ทําไปแล้วซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่สมาชิกกลุ่มนั้น เกิดจากความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ ในกรณีเช่นว่านี้ เพื่อประโยชน์แห่ง ความยุติธรรม ศาลอาจมีคําสั่งอย่างใดๆ ตามที่เห็นสมควรก็ได้

มาตรา ๒๒๒/๒๘ เมื่อศาลมีคําสั่งอนุญาตให้ดําเนินคดีแบบกลุ่มแล้วโจทก์จะถอนคําฟ้องไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต

ในกรณีที่จําเลยยื่นคําให้การแล้ว ห้ามไม่ให้ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้องโดยมิได้ฟังจําเลยก่อน

ในกรณีที่ได้มีการส่งคําบอกกล่าวกับประกาศให้สมาชิกกลุ่มตามมาตรา ๒๒๒/๑๕ แล้ว หากศาลจะมีคําสั่งอนุญาตให้ถอนคําฟ้อง ให้ศาลกําหนดวันตามที่เห็นสมควรแต่ต้องไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวัน เพื่อให้สมาชิกกลุ่มคัดค้านโดยทําเป็นหนังสือยื่นต่อศาล และสั่งให้โจทก์นําเงินค่าใช้จ่ายมาวางศาล รวมทั้ง แจ้งเรื่องการถอนฟ้องให้สมาชิกกลุ่มทราบตามวิธีการเช่นเดียวกับที่กําหนดไว้ในมาตรา ๒๒๒/๑๕ วรรคหนึ่ง

ในกรณีที่โจทก์เพิกเฉยไม่นําเงินค่าใช้จ่ายมาวางศาลตามวรรคสามโดยไม่แจ้งให้ศาลทราบเหตุ แห่งการเพิกเฉยเช่นว่านั้น ให้ศาลมีคําสั่งไม่อนุญาตให้ถอนคําฟ้อง

มาตรา ๒๒๒/๒๙ เมื่อศาลมีคําสั่งอนุญาตให้ดําเนินคดีแบบกลุ่มและพ้นระยะเวลา ตามมาตรา ๒๒๒/๑๕ (๖) แล้ว ก่อนที่ศาลจะอนุญาตให้มีการตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกัน ในประเด็นแห่งคดี ให้ศาลกําหนดวันตามที่เห็นสมควรแต่ต้องไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันเพื่อให้สมาชิกกลุ่มคัดค้าน หรือแจ้งความประสงค์ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มโดยทําเป็นหนังสือยื่นต่อศาล และสั่งให้โจทก์นําเงิน ค่าใช้จ่ายมาวางศาล เพื่อแจ้งเรื่องการตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดี ให้สมาชิกกลุ่มทราบตามวิธีการเช่นเดียวกับที่กําหนดไว้ในมาตรา ๒๒๒/๑๕ วรรคหนึ่ง เมื่อศาลมีคําสั่ง อนุญาตให้มีการตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีแล้ว ให้ถือว่าสมาชิก กลุ่มรายที่แจ้งความประสงค์ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มและมิได้ขอถอนความประสงค์ดังกล่าวก่อนศาลมี คําสั่งอนุญาต ไม่เป็นสมาชิกกลุ่มนับแต่วันที่ศาลมีคําสั่งอนุญาต

ในกรณีที่โจทก์เพิกเฉยไม่นําเงินค่าใช้จ่ายมาวางศาลตามวรรคหนึ่งโดยไม่แจ้งให้ศาลทราบเหตุ แห่งการเพิกเฉยเช่นว่านั้น ให้ศาลมีคําสั่งไม่อนุญาตให้มีการตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกัน ในประเด็นแห่งคดี

มาตรา ๒๒๒/๓๐ เมื่อศาลมีคําสั่งอนุญาตให้ดําเนินคดีแบบกลุ่มและพ้นระยะเวลา ตามมาตรา ๒๒๒/๑๕ (๖) แล้ว ก่อนที่ศาลจะอนุญาตให้มีการเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาด ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ ให้นําความในมาตรา ๒๒๒/๒๙ มาใช้บังคับ โดยอนุโลม

มาตรา ๒๒๒/๓๑ คําบอกกล่าวและประกาศตามมาตรา ๒๒๒/๒๘ มาตรา ๒๒๒/๒๙ และ มาตรา ๒๒๒/๓๐ อย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้

(๑) ชื่อศาลและเลขคดี

(๒) ชื่อและที่อยู่ของคู่ความ

(๓) ข้อความโดยย่อของคําฟ้องและลักษณะของกลุ่มบุคคลที่ชัดเจน

(๔) ข้อความโดยย่อของการดําเนินกระบวนพิจารณาที่ได้กระทําไปแล้วและเหตุที่ต้องมี คําบอกกล่าวและประกาศ

(๕) สิทธิของสมาชิกกลุ่มและผลของคําสั่งอนุญาตของศาลตามมาตรา ๒๒๒/๒๘ มาตรา ๒๒๒/๒๙ หรือมาตรา ๒๒๒/๓๐ แล้วแต่กรณี

(๖) ผลของการออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มตามมาตรา ๒๒๒/๒๙ หรือมาตรา ๒๒๒/๓๐ แล้วแต่กรณี

(๗) ชื่อและตําแหน่งผู้พิพากษาผู้ออกคําบอกกล่าวและประกาศ

มาตรา ๒๒๒/๓๒ ในการพิจารณามีคําสั่งตามมาตรา ๒๒๒/๒๘ มาตรา ๒๒๒/๒๙ หรือ มาตรา ๒๒๒/๓๐ ให้ศาลคํานึงถึง

(๑) ความจําเป็นในการดําเนินคดีแบบกลุ่มต่อไป

(๒) ความคุ้มครองหรือประโยชน์ของสมาชิกกลุ่ม

(๓) ความยุ่งยากหรือความสะดวกในการดําเนินคดีแบบกลุ่มต่อไป

(๔) ความเป็นธรรมและความมีประสิทธิภาพในการดําเนินคดีแบบกลุ่มต่อไป

(๕) จํานวนของสมาชิกกลุ่มที่คัดค้าน

(๖) ความสามารถของจําเลยในการชดใช้ค่าเสียหายในกรณีมีการตกลงกันหรือประนีประนอม ยอมความกันในประเด็นแห่งคดี

(๗) การตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีของคู่ความมีความเป็นธรรม และเป็นประโยชน์กับสมาชิกกลุ่ม

มาตรา ๒๒๒/๓๓ ในกรณีที่ศาลมีคําสั่งถึงที่สุดอนุญาตให้ดําเนินคดีแบบกลุ่มให้อายุความ ในการฟ้องคดีของสมาชิกกลุ่มสะดุดหยุดลงนับแต่วันที่โจทก์ยื่นคําร้องขออนุญาตให้ดําเนินคดีแบบกลุ่ม

ในกรณีที่ศาลมีคําสั่งถึงที่สุดไม่อนุญาตให้ดําเนินคดีแบบกลุ่ม หากปรากฏว่าอายุความการฟ้องคดี ของสมาชิกกลุ่มครบกําหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณาคําร้องขออนุญาตให้ดําเนินคดีแบบกลุ่ม หรือจะครบกําหนดภายในกําหนดเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคําสั่งถึงที่สุด ให้สมาชิกกลุ่มมีสิทธิฟ้องคดี เพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชําระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคําสั่งถึงที่สุด

มาตรา ๒๒๒/๓๔ ในกรณีที่อายุความสะดุดหยุดลงเพราะเหตุตามมาตรา ๒๒๒/๓๓ หากมีกรณี ดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง

(๑) ศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง

(๒) ศาลมีคําสั่งยกเลิกการดําเนินคดีแบบกลุ่ม

(๓) ศาลมีคําสั่งจําหน่ายคดีเพราะเหตุถอนฟ้อง

(๔) ศาลยกคําฟ้องเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอํานาจศาลหรือโดยไม่ตัดสิทธิสมาชิกกลุ่มที่จะฟ้องคดีใหม่

(๕) สมาชิกกลุ่มออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มตามมาตรา ๒๒๒/๑๖ มาตรา ๒๒๒/๒๙ หรือ มาตรา ๒๒๒/๓๐

ในกรณีตาม (๒) (๓) (๔) และ (๕) หากปรากฏว่าอายุความการฟ้องคดีของสมาชิกกลุ่ม ครบกําหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณา หรือจะครบกําหนดภายในกําหนดเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่ คําพิพากษาหรือคําสั่งนั้นถึงที่สุด ให้สมาชิกกลุ่มมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ ชําระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คําพิพากษาหรือคําสั่งถึงที่สุดหรือนับแต่วันที่สมาชิกกลุ่มไม่เป็น สมาชิกกลุ่ม แล้วแต่กรณี

ความในวรรคสองให้ใช้บังคับในกรณีที่สมาชิกกลุ่มผู้ใดถูกปฏิเสธคําขอรับชําระหนี้โดยอ้างเหตุว่า ไม่เป็นสมาชิกกลุ่มตามคําพิพากษา เนื่องจากศาลได้มีคําพิพากษาโดยกําหนดลักษณะเฉพาะของกลุ่ม แตกต่างจากลักษณะเฉพาะของกลุ่มตามที่ศาลได้มีคําสั่งอนุญาตให้ดําเนินคดีแบบกลุ่มตามมาตรา ๒๒๒/๑๒ วรรคสอง โดยให้มีสิทธิฟ้องคดีนับแต่วันที่คําสั่งปฏิเสธคําขอรับชําระหนี้ถึงที่สุด

ส่วนที่ ๔

คําพิพากษาและการบังคับคดี

___________________________

มาตรา ๒๒๒/๓๕ คําพิพากษาของศาลมีผลเป็นการผูกพันคู่ความและสมาชิกกลุ่มและในกรณี ที่ศาลมีคําพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ให้โจทก์หรือทนายความฝ่ายโจทก์มีอํานาจดําเนินการบังคับคดี แทนโจทก์และสมาชิกกลุ่ม

สมาชิกกลุ่มมีสิทธิที่จะยื่นคําขอรับชําระหนี้ แต่ไม่มีสิทธิที่จะดําเนินการบังคับคดีตามส่วนนี้ ด้วยตนเอง

หากความปรากฏต่อศาลว่าทนายความฝ่ายโจทก์ไม่สามารถดําเนินการบังคับคดีเพื่อคุ้มครอง ประโยชน์ของสมาชิกกลุ่มได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม ศาลอาจมีคําสั่งให้โจทก์และสมาชิกกลุ่มจัดหา ทนายความคนใหม่มาดําเนินการบังคับคดีต่อไปได้

มาตรา ๒๒๒/๓๖ คําพิพากษาของศาลต้องกล่าวหรือแสดงรายการดังต่อไปนี้

(๑) รายการตามที่กําหนดไว้ในมาตรา ๑๔๑

(๒) ลักษณะโดยชัดเจนของกลุ่มบุคคลหรือกลุ่มย่อยที่จะต้องถูกผูกพันตามคําพิพากษา

(๓) ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้จําเลยชําระหนี้เป็นเงิน ต้องระบุจํานวนเงินที่จําเลยจะต้องชําระ ให้แก่โจทก์ รวมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการคํานวณในการชําระเงินให้สมาชิกกลุ่ม

(๔) จํานวนเงินรางวัลของทนายความฝ่ายโจทก์ตามมาตรา ๒๒๒/๓๗

มาตรา ๒๒๒/๓๗ ในกรณีที่ศาลมีคําพิพากษาให้จําเลยกระทําการหรืองดเว้นกระทําการ หรือส่งมอบทรัพย์สิน ให้ศาลกําหนดจํานวนเงินรางวัลที่จําเลยจะต้องชําระให้แก่ทนายความฝ่ายโจทก์ ตามที่เห็นสมควร โดยคํานึงถึงความยากง่ายของคดีประกอบกับระยะเวลาและการทํางานของทนายความ ฝ่ายโจทก์ รวมทั้งค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดําเนินคดีแบบกลุ่ม ซึ่งมิใช่ค่าฤชาธรรมเนียมที่ทนายความฝ่ายโจทก์ ได้เสียไป และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้ เมื่อการพิจารณาสิ้นสุดลงให้ทนายความฝ่ายโจทก์ยื่นบัญชี ค่าใช้จ่ายดังกล่าวตอศาลโดยให ่ ้ส่งสําเนาแก่จําเลยด้วย

ถ้าคําพิพากษากําหนดให้จําเลยใช้เงิน นอกจากศาลต้องคํานึงถึงหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ศาลคํานึงถึงจํานวนเงินที่โจทก์และสมาชิกกลุ่มมีสิทธิได้รับประกอบด้วย โดยกําหนดเป็นจํานวนร้อยละ ของจํานวนเงินดังกล่าว แต่จํานวนเงินรางวัลของทนายความฝ่ายโจทก์ดังกล่าวต้องไม่เกินร้อยละสามสิบ ของจํานวนเงินนั้น

ถ้าคําพิพากษากําหนดให้จําเลยกระทําการหรืองดเว้นกระทําการหรือส่งมอบทรัพย์สินและให้ใช้ เงินรวมอยู่ด้วย ให้นําความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในการกําหนดจํานวนเงินรางวัลของทนายความฝ่ายโจทก์ตามมาตรานี้ หากมีการเปลี่ยนทนายความ ฝ่ายโจทก์ ใหศาลก ้ ําหนดจํานวนเงินรางวัลของทนายความฝ่ายโจทก์ตามสัดส่วนของการทํางานและค่าใช้จ่าย ที่ทนายความแต่ละคนเสียไป

ให้ถือว่าทนายความฝ่ายโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาและจําเลยเป็นลูกหนี้ตามคําพิพากษา ในส่วนของเงินรางวัลของทนายความฝ่ายโจทก์ด้วย และเงินรางวัลดังกล่าวมิใช่ค่าฤชาธรรมเนียม

มาตรา ๒๒๒/๓๘ ในกรณีที่ศาลมีคําพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ให้ศาลมีอํานาจกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการปฏิบัติตามคําพิพากษา โดยจะกําหนดไว้ในคําพิพากษาหรือโดยคําสั่ง ในภายหลังก็ได้ และในระหว่างการบังคับคดีให้ศาลมีอํานาจออกคําบังคับเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นไปตาม คําพิพากษาได้ตามที่เห็นสมควร

ให้ศาลชั้นต้นมีอํานาจพิจารณาสั่งคําร้องขอทุเลาการบังคับตามคําพิพากษาคําสั่งของศาลชั้นต้น ให้เป็นที่สุด

มาตรา ๒๒๒/๓๙ ให้ศาลแจ้งคําพิพากษาให้สมาชิกกลุ่มทราบตามวิธีการเช่นเดียวกับที่กําหนดไว้ ในมาตรา ๒๒๒/๑๕ วรรคหนึ่ง และให้แจ้งอธิบดีกรมบังคับคดีทราบด้วย

ในกรณีที่ศาลมีคําพิพากษาให้จําเลยชําระหนี้เป็นเงินหรือชําระหนี้เป็นเงินรวมอยู่ด้วย ให้ศาลตั้ง เจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดําเนินการต่อไป รวมทั้งกําหนดวันตามที่เห็นสมควรในคําบอกกล่าวและประกาศ ตามวรรคหนึ่ง เพื่อให้สมาชิกกลุ่มยื่นคําขอรับชําระหนี้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี แต่ถ้าเป็นกรณีที่ศาล มีคําพิพากษาให้จําเลยชําระหนี้อย่างอื่นและจําเป็นจะต้องมีการดําเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อประโยชน์ แก่การบังคับตามคําพิพากษา โจทก์อาจยื่นคําขอต่อศาลเพื่อตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดําเนินการได้

เมื่อพ้นกําหนดระยะเวลาตามวรรคสอง สมาชิกกลุ่มที่ไม่ได้ยื่นคําขอรับชําระหนี้ไม่มีสิทธิขอเฉลี่ย ทรัพย์สินหรือเงินในการบังคับคดีตามส่วนนี้ เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย สมาชิกกลุ่มที่ไม่ได้ยื่นคําขอรับ ชําระหนี้ภายในกําหนดระยะเวลา อาจยื่นคําขอรับชําระหนี้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ภายในสามสิบวัน นับแต่วันพ้นกําหนดระยะเวลา

มาตรา ๒๒๒/๔๐ คู่ความในคดีและสมาชิกกลุ่มรายอื่นอาจขอตรวจและโต้แย้งคําขอรับชําระหนี้ ของสมาชิกกลุ่มผู้ยื่นคําขอรับชําระหนี้ได้ แต่ต้องกระทําภายในกําหนดสามสิบวันนับแต่วันที่พ้นกําหนดเวลา ยื่นคําขอรับชําระหนี้ เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย อาจขอขยายระยะเวลาออกไปอีกได้ไม่เกินสามสิบวัน

มาตรา ๒๒๒/๔๑ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอํานาจเรียกคู่ความในคดี สมาชิกกลุ่ม ผู้มีส่วนได้เสีย ในการบังคับคดี หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง มาสอบสวนในเรื่องคําขอรับชําระหนี้ของสมาชิกกลุ่มเพื่อพิจารณา มีคําสั่งต่อไปได้

มาตรา ๒๒๒/๔๒ คําขอรับชําระหนี้ของสมาชิกกลุ่มรายใด ถ้าคู่ความในคดีและสมาชิกกลุ่มรายอื่น ไม่โต้แย้ง ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอํานาจสั่งอนุญาตให้รับชําระหนี้ได้ เว้นแต่มีเหตุอันสมควรสั่งเป็นอย่างอื่น โดยให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้ศาลทราบถึงการดําเนินการดังกล่าวด้วย

คําขอรับชําระหนี้ของสมาชิกกลุ่มรายใด ถ้ามีผู้โต้แย้ง ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคําสั่งอย่างหนึ่ง อย่างใด ดังต่อไปนี้

(๑) ให้ยกคําขอรับชําระหนี้

(๒) อนุญาตให้ได้รับชําระหนี้เต็มจํานวน

(๓) อนุญาตให้ได้รับชําระหนี้บางส่วน

สมาชิกกลุ่มที่ยื่นคําขอรับชําระหนี้และไม่มีผู้โต้แย้งตามวรรคหนึ่ง สมาชิกกลุ่มท่ียื่นคําขอรับชําระหนี้ และมีผู้โต้แย้งตามวรรคสอง หรือผู้โต้แย้ง อาจยื่นคําร้องคัดค้านคําสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีต่อศาลได้ ภายในกําหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบคําสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี

คําสั่งของศาลตามวรรคสามให้อุทธรณ์และฎีกาได้ภายใต้บทบัญญัติในภาค ๓ อุทธรณ์และฎีกา

มาตรา ๒๒๒/๔๓ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินอย่างใดของลูกหนี้ตาม คําพิพากษาในคดีอื่นไว้แทนเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาแล้ว ให้ทนายความฝ่ายโจทก์ในคดีแบบกลุ่มมีอํานาจ ยื่นคําขอโดยทําเป็นคําร้องต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้น เพื่อให้ศาลมีคําสั่ง ให้เฉลี่ยทรัพย์แก่ทนายความฝ่ายโจทก์ โจทก์ และสมาชิกกลุ่มตามมาตรา ๒๙๐ ตามจํานวนที่มีสิทธิได้รับ

ในกรณีที่จํานวนเงินที่สมาชิกกลุ่มได้ยื่นคําขอรับชําระหนี้ตามมาตรา ๒๒๒/๔๒ ยังไม่เป็นที่ยุติ ให้ศาลที่ได้รับคําร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ตามวรรคหนึ่งรอการมีคําสั่งให้เฉลี่ยทรัพย์ไว้ก่อน และเมื่อได้ข้อยุติ ในจํานวนเงินดังกล่าวแล้ว ให้ทนายความฝ่ายโจทก์แจ้งให้ศาลนั้นทราบ

เมื่อศาลได้มีคําสั่งให้เฉลี่ยทรัพย์แล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีนั้นส่งเงินให้เจ้าพนักงาน บังคับคดีในคดีแบบกลุ่มเพื่อจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิตามมาตรา ๒๒๒/๔๔

มาตรา ๒๒๒/๔๔ เมื่อจําเลยนําเงินหรือทรัพย์สินมาวางต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือเมื่อได้ ขายทอดตลาดหรือจําหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินของจําเลย หรือเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รวบรวม ทรัพย์สินอื่นใดของจําเลยเสร็จ และได้หักค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดี จ่ายเงินให้แก่ผู้มีสิทธิตามลําดับ ดังนี้

(๑) ผู้มีสิทธิได้รับชําระหนี้ก่อนตามมาตรา ๒๘๗ และมาตรา ๒๘๙

(๒) เงินรางวัลของทนายความฝ่ายโจทก์ตามมาตรา ๒๒๒/๓๗

(๓) ค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนโจทก์

(๔) โจทก์ สมาชิกกลุ่ม และเจ้าหนี้อื่นที่มีสิทธิได้รับเฉลี่ยทรัพย์ตามมาตรา ๒๙๐

ส่วนที่ ๕

อุทธรณ์และฎีกา

________________________

มาตรา ๒๒๒/๔๕ ให้คู่ความมีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาล โดยไม่นํา ข้อจํากัดสิทธิเรื่องทุนทรัพย์ของการอุทธรณ์และฎีกาในข้อเท็จจริงมาใช้บังคับ

มาตรา ๒๒๒/๔๖ สมาชิกกลุ่มไม่มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาล ยกเว้น ในกรณตามมาตรา ี ๒๒๒/๔๒

มาตรา ๒๒๒/๔๗ ในกรณีที่จําเลยยื่นคําร้องอุทธรณ์คําสั่งไม่รับอุทธรณ์หรือฎีกาให้จําเลย นําค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลและนําเงินมาชําระตามคําพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาล เฉพาะในส่วนที่จําเลยต้องรับผิดชําระหนี้ให้แก่โจทก์ แต่ไม่ต้องนําเงินมาชําระหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาล สําหรับเงินรางวัลของทนายความฝ่ายโจทก์

มาตรา ๒๒๒/๔๘ คดีที่ศาลชั้นต้นมีคําสั่งรับอุทธรณ์หรือฎีกาส่งมาให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา หากศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาแล้วแต่กรณีพิจารณาเห็นว่าอุทธรณ์หรือฎีกานั้นต้องห้ามอุทธรณ์หรือห้ามฎีกา ให้ยกอุทธรณ์หรือฎีกา โดยไม่จําต้องวินิจฉัยประเด็นที่อุทธรณ์หรือฎีกา แต่ถ้าศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี พิจารณาเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจําเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาดจะรับพิจารณา พิพากษาคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือห้ามฎีกาดังกล่าวนั้นก็ได้

ส่วนที่ ๖

ค่าธรรมเนียม

________________________

มาตรา ๒๒๒/๔๙ ให้คิดค่าธรรมเนียมตามอัตราดังต่อไปนี้

(๑) ค่ายื่นคําขอรับชําระหนี้สองร้อยบาท แต่การขอรับชําระหนี้ที่ไม่เกินสองหมื่นบาทไม่ต้องเสีย ค่าธรรมเนียม

(๒) ค่าคัดค้านคําสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีต่อศาลในเรื่องการขอรับชําระหนี้เรื่องละสองร้อยบาท

(๓) ค่าขึ้นศาลในกรณีที่มีการอุทธรณ์เรื่องการขอรับชําระหนี้ หรือการอุทธรณ์เรื่องเงินรางวัล ของทนายความ เรื่องละสองร้อยบาท

(๔) ค่าธรรมเนียมอื่นนอกจาก (๑) (๒) และ (๓) ให้คิดอัตราเดียวกับค่าธรรมเนียมตามตาราง ท้ายประมวลกฎหมายนี้”

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายกรัฐมนตรี

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Weekly Reload Bonus - Neon 54 casino! Martian Wallet is a secure and user-friendly platform for managing your cryptocurrencies. It supports various assets and offers seamless transactions for both beginners and experts. Learn more at martianwallet.net. To manage your Solana assets effortlessly, use phantom login for secure access to your wallet and quick interactions with NFTs and decentralized applications. Visit the metamask website to download the wallet extension for securely managing crypto assets and interacting with decentralized apps.