Hot! พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2559

พระราชบัญญัติ
ล้มละลาย (ฉบับที่๙)
พ.ศ.๒๕๕๙

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙

เป็นปีที่ ๗๑ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่๙) พ.ศ.๒๕๕๙”

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด ๓/๒ กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มาตรา ๙๐/๙๑ ถึงมาตรา ๙๐/๑๒๘ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓

“หมวด ๓/๒

กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

——————————

ส่วนที่ ๑

บทนิยาม

——————————

มาตรา ๙๐/๙๑ ในหมวดนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

“เจ้าหนี้” หมายความว่า เจ้าหนี้มีประกันหรือเจ้าหนี้ไม่มีประกัน

“ลูกหนี้” หมายความว่า ลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดา คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือนิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งประกอบธุรกิจที่มีลักษณะเป็นวิสาหกิจขนาดกลางหรือขนาดย่อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือที่จดทะเบียนกับหน่วยงานอื่นของรัฐ

“คำร้องขอ” หมายความว่า คำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน

“ผู้ร้องขอ” หมายความว่า ผุ้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน

“แผน” หมายความว่า แผนฟื้นฟูกิจการ

“ผู้ถือหุ้นของลูกหนี้” หมายความว่า ผู้ถือหุ้นของห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือนิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งเป็นลูกหนี้และหมายความรวมถึงผู้มีส่วนได้เสียในคณะบุคคลผู้เป็นลูกหนี้ด้วย

“ผู้บริหารแผน” หมายความว่า ผู้จัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามแผน

“ผู้บริหารของลูกหนี้” หมายความว่า หุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจดำเนินกิจการของลูกหนี้อยู่ในวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน

ส่วนที่ ๒

การขอให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน

——————————

มาตรา ๙๐/๙๒ เมิ่อลูกหนี้ไม่อยู่ในสถานะที่จะชำระหนี้ได้ และเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการซึ่งเป็นหนี้เจ้าหน้คนเดียวหรือหลายคนรวมกัน โดยลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดาต้องมีจำนวนหนี้แน่นอนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท ลูกหนี้ที่คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือนิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ต้องมีจำนวนหนี้แน่นอนไม่น้อยกว่าสามล้านบาท และลูกหนี้ที่เป็นบริษัทจำกัดต้องมีจำนวนหนี้แน่นอนไม่น้อยกว่าสามล้านบาทแต่ไม่ถึงสิบล้านบาท ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม ถ้ามีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ บุคคลตามมาตรา ๙๐/๙๓ อาจยื่นคำร้องขอต่อศาลให้มีการฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนได้

ถ้ามีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้เกิดขึ้น ให้สันนิษฐานว่าลูกหนี้ไม่อยู่ในสถานะที่จะชำระหนี้ได้

(๑) ลูกหนี้มีทรัพย์สินไม่พอกับหนี้สิน

(๒) ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด และเมื่อได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้ให้ชำระหนี้แล้วยังไม่ชำระหนี้ภายในเวลาสามสิบวัน

(๓) ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินที่จะพึงบังคับคดีได้ตามคำพิพากษา หรือเจ้าหนี้ร้องขอบังคับคดีแก่ลูกหนี้แล้ว ไม่มีทรัพย์สินพอชำระหนี้

(๔) ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้เจ้าหนี้รายใดรายหนึ่ง และมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าลูกหนี้ผิดนัด หรืออาจจะผิดนัดชำระหนี้เจ้าหนี้รายอื่นๆ

(๕) ลูกหนี้มีกระเเสเงินสดไม่พอชำระหนี้

มาตรา ๙๐/๙๓ บุคคลซึ่งมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้มีการฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยผนได้แก่บุคคลดังต่อไปนี้

(๑) เจ้าหนี้ในหนี้ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการซึ่งอาจเป็นคนเดียวหรือหลายคนรวมกัน และมีจำนวนหนี้แน่นอนตามมาตรา ๙๐/๙๒ วรรคหนึ่ง

(๒) ลูกหนี้ซึ่่งมีลักษณะตามมาตรา ๙๐/๙๒ วรรคหนึ่ง

มาตรา ๙๐/๙๔ บุคคลตามมาตรา ๙๐/๙๓ จะยื่นคำร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนของลูกหนี้ไม่ได้ ในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด
(๒) ศาลหรือนายทะเบียนได้มีคำสั่งให้เลิกหรือเพิกถอนทะเบียนนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้ หรือ
มีการจดทะเบียนเลิกนิติบุคคลนั้น หรือนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้ต้องเลิกกันด้วยเหตุอื่น ทั้งนี้ ไม่ว่าการชำระบัญชี
ของนิติบุคคลดังกล่าวจะเสร็จแล้วหรือไม่
(๓) ศาลได้เคยมีคำสั่งยกคำร้องขอ ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน หรือยกเลิก

การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ตามความในหมวดนี้ ภายในระยะเวลาหกเดือนก่อนยื่นคำร้องขอ

มาตรา ๙๐/๙๕ คำร้องขอของบุคคลตามมาตรา ๙๐/๙๓ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ
และเห็นชอบด้วยแผน จะต้องแสดงโดยชัดแจ้งถึง
(๑) การที่ลูกหนี้ไม่อยู่ในสถานะที่จะชำระหนี้ได้
(๒) รายชื่อและที่อยู่ของเจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนที่ลูกหนี้เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการและมีจำนวนหนี้แน่นอนตามมาตรา ๙๐/๙๒ วรรคหนึ่ง รวมทั้งรายชื่อและที่อยู่ของเจ้าหนี้ทั้งหลาย
(๓) เหตุอันสมควรและช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการผู้ร้องขอจะต้องแนบแผน พร้อมหลักฐานแสดงว่าเจ้าหนี้ได้ให้ความเห็นชอบในแผนไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนหนี้ทั้งหมด

มาตรา ๙๐/๙๖ ในแผนให้มีรายการต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย
(๑) เหตุผลที่ทำให้มีการฟื้นฟูกิจการ
(๒) รายละเอียดแห่งสินทรัพย์ หนี้สิน และภาระผูกพันต่าง ๆ ของลูกหนี้ในขณะที่ยื่นคำร้องขอ
(๓) หลักการและวิธีการฟื้นฟูกิจการ
(ก) ขั้นตอนของการฟื้นฟูกิจการ
(ข) การชำระหนี้ การยืดกำหนดเวลาชำระหนี้ การลดจำนวนหนี้ลง และการจัดกลุ่มเจ้าหนี้
โดยสิทธิของเจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันต้องได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน เว้นแต่เจ้าหนี้ผู้ได้รับการปฏิบัติ
ที่เสียเปรียบในกลุ่มนั้นจะให้ความยินยอมเป็นหนังสือ
(ค) การลดทุนและเพิ่มทุน
(ง) การก่อหนี้และระดมเงินทุน รวมตลอดถึงแหล่งของเงินทุนและเงื่อนไขแห่งหนี้สิน
และเงินทุนดังกล่าว
(จ) การจัดการและการหาประโยชน์จากทรัพย์สินของลูกหนี้
(ฉ) เงื่อนไขการจ่ายเงินปันผลและประโยชน์อื่นใด
(๔) การไถ่ถอนหลักประกัน ในกรณีที่มีเจ้าหนี้มีประกัน และความรับผิดของผู้ค้ำประกัน
(๕) แนวทางแก้ปัญหาในกรณีขาดสภาพคล่องชั่วคราวระหว่างการปฏิบัติตามแผน
(๖) วิธีปฏิบัติในกรณีที่มีการโอนสิทธิเรียกร้องหรือโอนหนี้
(๗) ชื่อ คุณสมบัติ หนังสือยินยอมของผู้บริหารแผน และค่าตอบแทน
(๘) การแต่งตั้งและการพ้นตำแหน่งของผู้บริหารแผน
(๙) ระยะเวลาดำเนินการตามแผนซึ่งไม่เกินสามปี
(๑๐) การไม่ยอมรับทรัพย์สินของลูกหนี้หรือสิทธิตามสัญญา ในกรณีที่ทรัพย์สินของลูกหนี้
หรือสิทธิตามสัญญามีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้

มาตรา ๙๐/๙๗ ในการร้องขอฟื้นฟูกิจการ ผู้ร้องขอต้องชำระค่าขึ้นศาลหนึ่งพันบาท และ
ต้องวางเงินประกันค่าใช้จ่ายที่ผู้ร้องขอต้องรับผิดชอบในการขอฟื้นฟูกิจการไว้ต่อศาลเป็นจำนวนหนึ่งหมื่นบาท
ในขณะยื่นคำร้องขอหรือตามจำนวนที่ศาลจะเห็นสมควรก็ได้
ในกรณีที่ผู้ร้องขอไม่ยอมวางเงินประกันตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าผู้ร้องขอทิ้งคำร้องขอให้ศาล
จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

มาตรา ๙๐/๙๘ ผู้ร้องขอจะถอนคำร้องขอไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต แต่ถ้าศาลได้มีคำสั่ง
ให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนแล้ว ศาลจะอนุญาตให้ถอนคำร้องขอไม่ได้
ในกรณีที่ผู้ร้องขอทิ้งคำร้องขอ หรือขาดนัดพิจารณา หรือศาลอนุญาตให้ถอนคำร้องขอ ก่อนที่ศาลจะสั่งจำหน่ายคดี ให้โฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายหนึ่งฉบับ เพื่อให้เจ้าหนี้ทั้งหลายและลูกหนี้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

ส่วนที่ ๓
การพิจารณาคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน

——————————

มาตรา ๙๐/๙๙ เมื่อศาลสั่งรับคำร้องขอแล้ว ให้ดำเนินการไต่สวนเป็นการด่วนและให้ศาลประกาศคำสั่งรับคำร้องขอและวันเวลานัดไต่สวนในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายหนึ่งฉบับล่วงหน้าก่อนวันนัดไต่สวนไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน กับให้ส่งสำเนาคำร้องขอและแจ้งวันเวลานัดไต่สวนแก่ลูกหนี้ เจ้าหนี้ทั้งหลายและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และแจ้งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทหรือนายทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อนายทะเบียนจะได้จดแจ้งคำสั่งศาลไว้ในทะเบียนด้วย ทั้งนี้ ให้ส่งก่อนวันนัดไต่สวนไม่น้อยกว่าเจ็ดวันลูกหนี้หรือเจ้าหนี้อาจยื่นคำคัดค้านก่อนวันนัดไต่สวนนัดแรกไม่น้อยกว่าสามวัน

มาตรา ๙๐/๑๐๐ ในการไต่สวนคำร้องขอ ศาลต้องไต่สวนเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๐/๙๒และมาตรา ๙๐/๙๕ และแผนเข้าหลักเกณฑ์ตามที่ศาลสามารถให้ความเห็นชอบได้ตามมาตรา ๙๐/๑๐๑ ถ้าได้ความจริงและมีเหตุอันสมควรที่จะฟื้นฟูกิจการและแผนเข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าว ทั้งผู้ร้องขอยื่นคำร้องขอ
โดยสุจริต ให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน มิฉะนั้นให้มีคำสั่งยกคำร้องขอ
ในกรณีที่ไม่มีผู้คัดค้านคำร้องขอ ถ้าศาลเห็นสมควรจะงดการไต่สวนและมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ
และเห็นชอบด้วยแผนก็ได้

มาตรา ๙๐/๑๐๑ การให้ความเห็นชอบด้วยแผนของศาล ต้องมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) แผนมีรายการครบถ้วนตามมาตรา ๙๐/๙๖
(๒) แผนได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้จำนวนไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนหนี้ทั้งหมด
(๓) ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนนั้นเป็นไปตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลาย เว้นแต่เจ้าหนี้ผู้เสียเปรียบจะให้ความยินยอมเป็นหนังสือกับข้อเสนอชำระหนี้ในลำดับซึ่งแตกต่างออกไป
(๔) เมื่อการดำเนินการตามแผนสำเร็จจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมี
คำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย และ
(๕) เจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันต้องได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน เว้นแต่เจ้าหนี้ผู้ได้รับการปฏิบัติที่เสียเปรียบในกลุ่มนั้นจะให้ความยินยอมเป็นหนังสือ
ในกรณีที่แผนมีรายการไม่ครบถ้วนตามมาตรา ๙๐/๙๖ ให้ศาลสอบถามผู้ร้องขอ ถ้าศาลเห็นว่า
รายการในแผนที่ขาดไปนั้นไม่ใช่สาระสำคัญในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ให้ถือว่าแผนมีรายการครบถ้วนตามมาตรา ๙๐/๙๖

มาตรา ๙๐/๑๐๒ ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอ ให้ศาลประกาศคำสั่งดังกล่าวในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายหนึ่งฉบับ กับให้ศาลแจ้งคำสั่งดังกล่าวไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทหรือนายทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยด่วน เพื่อนายทะเบียนจะได้จดแจ้งคำสั่งศาลไว้ในทะเบียนด้วย

มาตรา ๙๐/๑๐๓ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๑๑ มาใช้บังคับกับการไต่สวนคำร้องขอของศาล
โดยอนุโลม

มาตรา ๙๐/๑๐๔ นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผน หรือวันที่ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนหรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอหรือจำหน่ายคดี หรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน หรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการตามความในหมวดนี้

(๑) ห้ามมิให้ฟ้องหรือร้องขอให้ศาลพิพากษาหรือสั่งให้เลิกนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้ ถ้ามีการฟ้องหรือร้องขอคดีดังกล่าวไว้ก่อนแล้ว ให้ศาลงดการพิจารณาคดีนั้นไว้
(๒) ห้ามมิให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้เลิกหรือจดทะเบียนเลิกนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้ และห้ามมิให้นิติบุคคลนั้นเลิกกันโดยประการอื่น
(๓) ห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้หรือเสนอข้อพิพาทที่ลูกหนี้
อาจต้องรับผิดหรือได้รับความเสียหายให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ถ้ามูลแห่งหนี้นั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน และห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลาย ในกรณีที่มีการฟ้องคดีหรือเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดไว้ก่อนแล้ว ให้งดการพิจารณาไว้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
(๔) ห้ามมิให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ ถ้ามูลแห่งหนี้ตามคำพิพากษานั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน ในกรณีที่ได้ดำเนินการบังคับคดีไว้ก่อนแล้วให้ศาลงดการบังคับคดีนั้นไว้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น หรือการบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะทราบว่าได้มีการยื่นคำร้องขอ หรือการบังคับคดีตามคำพิพากษาให้ลูกหนี้ส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่งเสร็จก่อนวันดังกล่าวนั้น
ในกรณีที่ทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้เป็นของเสียง่าย หรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงต่อความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายจะเกินส่วนแห่งค่าของทรัพย์สินนั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายได้โดยวิธีขายทอดตลาดหรือวิธีอื่นที่สมควร แล้วให้กักเงินไว้ ถ้าศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน ก็ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมอบเงินนั้นแก่ผู้บริหารแผนนำไปใช้จ่ายได้ ถ้าศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอ หรือจำหน่ายคดี หรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน หรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ก็ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา
(๕) ห้ามมิให้เจ้าหนี้มีประกันบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน เว้นแต่จะได้รับ
อนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอ
(๖) ห้ามมิให้เจ้าหนี้ซึ่งบังคับชำระหนี้ได้เองตามกฎหมายยึดทรัพย์สินหรือขายทรัพย์สินของลูกหนี้

(๗) ห้ามมิให้เจ้าของทรัพย์สินที่เป็นสาระสำคัญในการดำเนินกิจการของลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อสัญญาซื้อขายหรือสัญญาอื่นที่มีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาในการโอนกรรมสิทธิ์ หรือสัญญาเช่าที่ยังไม่สิ้นกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ ติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวที่อยู่ในความครอบครองของลูกหนี้หรือของบุคคลอื่นที่อาศัยสิทธิของลูกหนี้ รวมตลอดจนฟ้องร้องบังคับคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินและหนี้ซึ่งเกิดขึ้นจากสัญญาดังกล่าว ถ้ามีการฟ้องคดีดังกล่าวไว้ก่อนแล้ว ให้ศาลงดการพิจารณาคดีนั้นไว้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น หรือหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนลูกหนี้หรือผู้บริหารแผน แล้วแต่กรณี ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ ราคา ค่าตอบแทนการใช้ทรัพย์ หรือค่าเช่าตามสัญญา สองคราวติดต่อกัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นสาระสำคัญ
(๘) ห้ามมิให้ลูกหนี้จำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชำระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สิน นอกจากเป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินต่อไปได้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
(๙) คำสั่งตามวิธีการชั่วคราวของศาลที่ให้ยึด อายัด ห้ามจำหน่าย จ่าย โอนทรัพย์สินของลูกหนี้หรือให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราว ซึ่งมีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้เพื่อพิจารณานั้นให้ศาลที่รับคำร้องขอมีอำนาจสั่งให้ระงับผลบังคับไว้ หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่ถ้าต่อมาศาลนั้นมีคำสั่งยกคำร้องขอ หรือจำหน่ายคดี หรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน หรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ก็ให้มีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวหรือคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราวดังกล่าวตามที่เห็นสมควรต่อไป
(๑๐) ห้ามมิให้ผู้ประกอบการสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ งดให้บริการแก่ลูกหนี้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอ หรือหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนลูกหนี้หรือผู้บริหารแผน แล้วแต่กรณี ไม่ชำระค่าบริการที่เกิดขึ้นหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนสองคราวติดต่อกัน แต่ไม่ห้ามผู้ประกอบการสาธารณูปโภคที่จะมีคำร้องให้ศาลที่รับคำร้องขอมีคำสั่งเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้องตามที่ศาลเห็นสมควร
คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลหรือคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติ
ในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดของวรรคหนึ่งไม่มีผลผูกพันลูกหนี้
การออกคำสั่งของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท นายทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับนิติบุคคลซึ่งเป็นลูกหนี้ การทำนิติกรรมหรือการชำระหนี้ใด ๆ ที่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดของวรรคหนึ่ง การนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา ๙๐/๑๐๕ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๑๓ มาตรา ๙๐/๑๔ และมาตรา ๙๐/๑๕
มาใช้บังคับกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกข้อจำกัดสิทธิของเจ้าหนี้ การดำเนินการที่ถือเป็นการให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหนี้มีประกัน อายุความและระยะเวลาเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาและการบังคับคดีและระยะเวลาเกี่ยวกับการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการโดยอนุโลม

ส่วนที่ ๔
การดำเนินการภายหลังศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน

—————————

มาตรา ๙๐/๑๐๖ เมื่อศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนให้ศาลประกาศคำสั่ง
ให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายหนึ่งฉบับ และแจ้งคำสั่งดังกล่าวไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทหรือนายทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยด่วน เพื่อนายทะเบียนจะได้จดแจ้งคำสั่งศาลไว้ในทะเบียนด้วย กับให้แจ้งคำสั่งดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อนำคำสั่งดังกล่าวไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๙๐/๑๐๗ แผนซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้ว ผูกมัดเจ้าหนี้ที่ได้เข้าร่วมประชุมในการลงมติเห็นชอบด้วยแผนหรือได้รับแจ้งให้เข้าร่วมประชุมในการลงมติดังกล่าว
มิให้นำมาตรา ๑๐๕๕ (๑) (๒) และ (๔) มาตรา ๑๐๕๖ มาตรา ๑๐๕๗ (๑) และ (๒) มาตรา ๑๑๑๗มาตรา ๑๑๑๙ มาตรา ๑๑๔๕ มาตรา ๑๒๒๐ ถึงมาตรา ๑๒๒๘ และมาตรา ๑๒๓๘ ถึงมาตรา ๑๒๔๓แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้บังคับแก่แผนตามมาตรานี้
คำสั่งของศาลที่ให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของบุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกันหรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ ในหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งดังกล่าว และไม่มีผลให้บุคคลเช่นว่านั้นต้องรับผิดในหนี้ที่ก่อขึ้นตามแผนตั้งแต่วันดังกล่าว เว้นแต่บุคคลเช่นว่านั้นจะยินยอมเป็นหนังสือด้วย

มาตรา ๙๐/๑๐๘ ในระหว่างการดำเนินการตามแผน หากมีเจ้าหนี้ยื่นคำร้องต่อศาลเกี่ยวกับ
มูลหนี้ที่ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนว่าลูกหนี้ไม่แสดงรายละเอียดแห่งหนี้สินของตน หรือแสดงจำนวนหนี้ที่ค้างชำระของเจ้าหนี้ทั้งหลายไม่ถูกต้อง ให้ศาลนัดพิจารณาเป็นการด่วนกับให้ส่งสำเนาคำร้องแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้ทั้งหลาย ผู้บริหารแผน และลูกหนี้
หากศาลไต่สวนแล้วได้ความจริงตามที่เจ้าหนี้ร้องขอตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลสอบถามผู้บริหารแผนและลูกหนี้ถึงเหตุดังกล่าว ถ้าศาลเห็นว่าหนี้ที่มิได้แสดงหรือที่ได้แสดงไว้ในรายละเอียดแห่งหนี้สินนั้นเป็นข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย ก็ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้บริหารแผนหรือลูกหนี้แก้ไขแผนสำหรับหนี้ที่ขาดหายไปหรือแก้ไขข้อผิดพลาดเช่นว่านั้นให้ถูกต้อง และให้ถือว่าแผนยังมีผลผูกพันเจ้าหนี้ทั้งหลายต่อไป
ถ้าศาลเห็นว่าหนี้ที่มิได้แสดงหรือที่ได้แสดงไว้ในรายละเอียดแห่งหนี้สินนั้นเป็นข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงในสาระสำคัญ ก็ให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน

มาตรา ๙๐/๑๐๙ ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนให้อำนาจหน้าที่
ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ และบรรดาสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นของลูกหนี้ เว้นแต่สิทธิที่จะได้รับเงินปันผล ตกแก่ผู้บริหารแผน

มาตรา ๙๐/๑๑๐ ผู้บริหารแผนอาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ทำข้อบังคับของลูกหนี้ขึ้นใหม่หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับหรือข้อความในหนังสือบริคณห์สนธิของลูกหนี้ตามแนวทางที่กำหนดในแผน
เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๑๐๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๙๐/๑๑๑ ผู้บริหารแผนพ้นจากตำแหน่งในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) ตาย
(๒) นิติบุคคลซึ่งเป็นผู้บริหารแผนเลิกกัน
(๓) ศาลอนุญาตให้ลาออก
(๔) ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ หรือให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
(๕) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
หรือความผิดลหุโทษ
(๖) พ้นจากตำแหน่งตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผน
(๗) เมื่อระยะเวลาดำเนินการตามแผนสิ้นสุดลง หรือเมื่อได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผน
(๘) ศาลมีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๙๐/๑๑๓

มาตรา ๙๐/๑๑๒ ให้ผู้บริหารแผนจัดทำรายงานการปฏิบัติงานตามแผนเสนอต่อเจ้าพนักงาน
พิทักษ์ทรัพย์ทุกรอบสามเดือนตามรูปแบบที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนด

มาตรา ๙๐/๑๑๓ ในกรณีที่ผู้บริหารแผนไม่ดำเนินการตามแผน หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ หรือมีเหตุอื่นที่ไม่สมควรเป็นผู้บริหารแผนต่อไปเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาล หรือเจ้าหนี้ ผู้บริหารของลูกหนี้ หรือลูกหนี้มีคำร้องต่อศาลศาลจะมีคำสั่งให้ผู้บริหารแผนพ้นจากตำแหน่งหรือมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรก็ได้

มาตรา ๙๐/๑๑๔ เมื่อผู้บริหารแผนพ้นจากตำแหน่งและยังมีกิจการตามแผนที่จะต้องดำเนินต่อไป หากเจ้าหนี้หรือลูกหนี้เสนอชื่อผู้บริหารแผนคนใหม่ต่อศาล และไม่มีผู้คัดค้าน ก็ให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้บริหารแผน
กรณีที่มีการคัดค้านชื่อผู้บริหารแผน ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้โดยเร็วที่สุดเพื่อลงมติเลือกผู้บริหารแผนคนใหม่ โดยมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ต้องไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ซึ่งได้เข้าประชุมด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนในที่ประชุมเจ้าหนี้และได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้นและให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสนอชื่อผู้นั้นต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้บริหารแผน
เมื่อได้มีการประชุมเจ้าหนี้ตามวรรคสองแล้ว แต่ที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่อาจลงมติเลือกผู้บริหารแผนคนใหม่ได้ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาล ในกรณีเช่นนี้ให้ศาลนัดพิจารณารายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นการด่วน และต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีเวลาส่งแจ้งความให้ลูกหนี้ และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน เมื่อศาลได้พิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนและฟังคำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้ และลูกหนี้แล้ว ศาลจะมีคำสั่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นผู้บริหารแผน หรือมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน หรือมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรก็ได้
ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๑๐๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๙๐/๑๑๕ ในกรณีที่มีเหตุทำให้ผู้บริหารแผนทำหน้าที่ไม่ได้เป็นการชั่วคราวหรือในระหว่างที่ ผู้บริหารแผนพ้นจากตำแหน่งและศาลยังมิได้มีคำสั่งตั้งผู้บริหารแผนคนใหม่ ให้ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลใด บุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้บริหารแผนชั่วคราวจนกว่าเหตุเช่นว่านั้นสิ้นสุดลง หรือจนกว่าศาลจะได้มี คำสั่งตั้งผู้บริหารแผนคนใหม่ ทั้งนี้ ให้ผู้บริหารแผนชั่วคราวมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้บริหารแผน
ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๑๐๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ส่วนที่ ๕
การยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน และการยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ

—————————

มาตรา ๙๐/๑๑๖ ถ้าลูกหนี้ ผู้บริหารของลูกหนี้ ผู้บริหารแผน หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
แล้วแต่กรณี เห็นว่าการฟื้นฟูกิจการได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนแล้วให้รายงานขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิก การฟื้นฟูกิจการโดยไม่ชักช้า และให้ศาลนัดพิจารณาหากได้ความว่าการฟื้นฟูกิจการได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จ ตามแผน ก็ให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการโดยไม่ชักช้า แต่ถ้าได้ความว่าการฟื้นฟูกิจการยังไม่เป็นผลสำเร็จ ตามแผน ในกรณีที่ยังเหลือระยะเวลาดำเนินการตามแผน ก็ให้ศาลมีคำสั่งให้ดำเนินการฟื้นฟูกิจการต่อไป ภายในกำหนดระยะเวลาตามแผน ถ้าในระหว่างนั้นระยะเวลาดำเนินการตามแผนสิ้นสุดลงแล้วแต่เป็นที่เห็นได้แน่ชัดว่าแผนได้ดำเนินการมาใกล้จะสำเร็จแล้ว ศาลจะขยายระยะเวลาดำเนินการตามแผนต่อไปอีกตามควรแก่กรณีก็ได้ มิฉะนั้นให้ศาลดำเนินการต่อไปตามวรรคสอง
เมื่อระยะเวลาดำเนินการตามแผนสิ้นสุดลง แต่การฟื้นฟูกิจการยังไม่เป็นผลสำเร็จตามแผน
ให้ผู้บริหารแผนหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แล้วแต่กรณี รายงานให้ศาลทราบภายในสิบสี่วันนับแต่ระยะเวลาดำเนินการตามแผนสิ้นสุด ถ้าศาลเห็นสมควรก็ให้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนหรือมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ
นับแต่ระยะเวลาดำเนินการตามแผนสิ้นสุดลงจนกระทั่งศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ
และเห็นชอบด้วยแผนหรือมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ให้ผู้บริหารแผนคงมีอำนาจหน้าที่จัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไปเท่าที่จำเป็น

มาตรา ๙๐/๑๑๗ ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนหรือ
มีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ให้ศาลแจ้งคำสั่งดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารแผน ลูกหนี้ และผู้บริหารของลูกหนี้ โดยไม่ชักช้า

เมื่อได้ทราบคำสั่งของศาลตามวรรคหนึ่งแล้ว ผู้บริหารแผนต้องส่งมอบทรัพย์สิน ดวงตรา
สมุดบัญชี และเอกสารที่เกี่ยวกับทรัพย์สินและกิจการของลูกหนี้แก่ลูกหนี้หรือผู้บริหารของลูกหนี้โดยเร็วที่สุด

ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๑๐๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๙๐/๑๑๘ ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน
ให้อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้กลับเป็นของลูกหนี้หรือผู้บริหารของลูกหนี้และให้ผู้ถือหุ้นของลูกหนี้กลับมีสิทธิตามกฎหมายต่อไป

มาตรา ๙๐/๑๑๙ คำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความผูกพันในหนี้ของลูกหนี้กับเจ้าหนี้ตามแผน และให้มีผลดังนี้
(๑) ลูกหนี้หรือผู้บริหารของลูกหนี้กลับมีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป
(๒) ผู้ถือหุ้นของลูกหนี้กลับมีสิทธิตามกฎหมายต่อไป
(๓) ค่าตอบแทนของผู้บริหารแผน และหนี้ซึ่งผู้บริหารแผนก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ยกเว้นหนี้ละเมิด เป็นหนี้บุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของลูกหนี้ โดยให้อยู่ในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิลำดับที่ ๑ ตามมาตรา ๒๕๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๙๐/๑๒๐ เมื่อศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนหรือมีคำสั่ง
ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ แต่ลูกหนี้หรือผู้บริหารของลูกหนี้ยังไม่ได้เข้าไปจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ให้ผู้บริหารแผนมีอำนาจจัดการเพื่อรักษาประโยชน์ของลูกหนี้ตามสมควรแก่พฤติการณ์ จนกว่าลูกหนี้หรือผู้บริหารของลูกหนี้จะเข้าจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้
ถ้าตำแหน่งผู้บริหารของลูกหนี้ว่างอยู่ในวันที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนหรือมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการจนเป็นเหตุให้ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมผู้ถือหุ้นของลูกหนี้ หรือดำเนินการตามกฎหมายเพื่อให้มีการแต่งตั้งผู้บริหารของลูกหนี้โดยเร็วที่สุด
ในกรณีที่ต้องมีการประชุมเพื่อดำเนินการตามวรรคสอง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นประธานในการประชุมดังกล่าว และให้ถือว่าเป็นการประชุมของลูกหนี้

มาตรา ๙๐/๑๒๑ คำสั่งศาลที่ให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนและยกเลิก
การฟื้นฟูกิจการไม่กระทบถึงการใดที่ผู้บริหารแผนได้กระทำไปแล้วก่อนศาลมีคำสั่งเช่นว่านั้น

ส่วนที่ ๖
บทกำหนดโทษ

 ——————————

มาตรา ๙๐/๑๒๒ ผู้ใดยื่นคำร้องขอตามมาตรา ๙๐/๙๒ อันเป็นเท็จในสาระสำคัญ ซึ่งอาจทำให้
ลูกหนี้ เจ้าหนี้ ผู้อื่น หรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินสามปีหรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา ๙๐/๑๒๓ ผู้ใดฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งมาตรา ๙๐/๑๐๔ (๘) ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน
สามแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินสามปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา ๙๐/๑๒๔ ลูกหนี้หรือผู้บริหารของลูกหนี้ผู้ใดโดยทุจริตปกปิดรายละเอียดแห่งหนี้สิน
ในสาระสำคัญ หรือแสดงจำนวนหนี้ที่ค้างชำระของเจ้าหนี้ทั้งหลายอันเป็นเท็จในสาระสำคัญ ซึ่งอาจทำให้เจ้าหนี้เสียหาย ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา ๙๐/๑๒๕ ผู้ใดล่วงรู้กิจการหรือข้อมูลใด ๆ ของลูกหนี้ที่ได้รับการฟื้นฟูกิจการเนื่องมาจากการปฏิบัติตามอำนาจและหน้าที่ที่กำหนดในหมวดนี้ อันเป็นกิจการหรือข้อมูลที่ตามปกติวิสัยของลูกหนี้ที่ได้รับการฟื้นฟูจะพึงสงวนไว้ไม่เปิดเผย ถ้าผู้นั้นนำไปเปิดเผยด้วยประการใด ๆ นอกจากตามหน้าที่หรือเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการตามหมวดนี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินสามปีหรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา ๙๐/๑๒๖ ผู้ใดเป็นผู้บริหารแผนหรือผู้บริหารแผนชั่วคราวปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หรือกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งหมวดนี้ โดยมุ่งหมายให้เกิดความเสียหายแก่ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา ๙๐/๑๒๗ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามความในหมวดนี้เป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น เกิดจากการสั่งการหรือไม่สั่งการ หรือกระทำการหรือไม่กระทำการ อันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำของกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย

มาตรา ๙๐/๑๒๘ ให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้เป็นผู้เสียหายในความผิดตามความในหมวดนี้ด้วย”

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ยังไม่ครอบคลุมลูกหนี้ซึ่งประกอบธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่มีทั้งบุคคลธรรมดา คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน และประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราว ดังนั้น เพื่อให้ลูกหนี้ซึ่งไม่อยู่ในสถานะที่จะชำระหนี้ได้มีโอกาสได้รับการฟื้นฟูกิจการและไม่ต้องตกเป็นบุคคลล้มละลาย หากมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Weekly Reload Bonus - Neon 54 casino! Martian Wallet is a secure and user-friendly platform for managing your cryptocurrencies. It supports various assets and offers seamless transactions for both beginners and experts. Learn more at martianwallet.net.