พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๓๒) พ.ศ. ๒๕๕๙
พระราชบัญญัติ
แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 32)
พ.ศ. 2559
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ให้ไว้ ณ วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2559
เป็นปีที่ 1 ในรัชกาลปัจจุบัน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 32) พ.ศ. 2559
มาตรา 2[1] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามและวรรคสี่ของมาตรา 198 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2517
ในกรณีที่ตามคำพิพากษาจำเลยต้องรับโทษจำคุกหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้นและจำเลยไม่ได้ถูกคุมขัง จำเลยจะยื่นอุทธรณ์ได้ต่อเมื่อแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะยื่นอุทธรณ์ มิฉะนั้น ให้ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ทั้งนี้ ประธานศาลฎีกาอาจออกข้อบังคับกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแสดงตนของจำเลยก็ได้ ข้อบังคับนั้น เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
ความในวรรคสามมิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่จำเลยได้รับการรอการลงโทษจำคุก หรือรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้ว
มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา 216 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2499 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
ฎีกานั้น ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้น และให้นำบทบัญญัติในมาตรา 198 มาตรา 200 และมาตรา 201 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 5 บรรดาคดีที่ได้ยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา 6 ให้ประธานศาลฎีการักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ได้กำหนดให้จำเลยต้องมาแสดงตนต่อศาลเมื่อประสงค์จะอุทธรณ์หรือฎีกา ส่งผลให้ศาลไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าจำเลยยังมีตัวตนอยู่หรือไม่ และเป็นการเปิดโอกาสให้จำเลยที่อยู่ระหว่างการหลบหนียังคงสามารถยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาได้ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกากรณีที่จำเลยซึ่งไม่ได้ถูกคุมขังเป็นผู้อุทธรณ์หรือฎีกา จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้