Hot! พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526

พระราชบัญญัติ

การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่

พ.ศ. 2526

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2526

เป็นปีที่ 38 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526

มาตรา 2(1) พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 บรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่ขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

คดี หมายความว่า คดีอาญา

คำร้อง หมายความว่า คำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้วขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่

ศาล หมายความว่า ศาลตามกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ศาลตามกฎหมาย ว่าด้วยการ จัดตั้ง ศาลคดีเด็กและเยาวชน หรือศาลตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร แล้วแต่กรณี

ศาลชั้นต้น หมายความว่า ศาลชั้นต้นตามกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ศาลตามกฎหมาย ว่าด้วย การจัดตั้ง ศาลคดีเด็กและเยาวชน หรือศาลทหารชั้นต้นตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร แล้วแต่กรณี

ศาลอุทธรณ์ หมายความว่า ศาลอุทธรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม หรือศาลทหารกลาง ตามกฎหมาย ว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร แล้วแต่กรณี

ศาลฎีกา หมายความว่า ศาลฎีกาตามกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือศาลทหารสูงสุด ตามกฎหมาย ว่าด้วย ธรรมนูญศาลทหาร แล้วแต่กรณี

พนักงานอัยการ หมายความว่า พนักงานอัยการตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานอัยการ หรือ อัยการทหาร ตามกฎหมาย ว่าด้วย ธรรมนูญศาลทหาร แล้วแต่กรณี

มาตรา 5 คดีใดที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้บุคคลใดต้องรับโทษอาญาในคดีนั้นแล้ว อาจมีการร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้ เมื่อปรากฏว่า

(1) พยานบุคคลซึ่งศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิพากษาคดีอันถึงที่สุดนั้นได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในภายหลังแสดงว่าคำเบิกความของพยานนั้น เป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริง

(2) พยานหลักฐานอื่นนอกจากพยานบุคคลตาม (1) ซึ่งศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิจารณาพิพากษาคดีอันถึงที่สุดนั้น ได้มี คำพิพากษา ถึงที่สุดในภายหลัง แสดงว่าเป็นพยานหลักฐานปลอมหรือเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริงหรือ

(3) มีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีซึ่งถ้าได้นำมาสืบในคดีอันถึงที่สุดนั้น จะแสดงว่า บุคคลผู้ต้องรับโทษอาญา โดยคำพิพากษา ถึงที่สุด นั้นไม่ได้กระทำความผิด

มาตรา 6 บุคคลดังต่อไปนี้มีสิทธิยื่นคำร้อง

(1) บุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด

(2)ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลในกรณีที่บุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นเป็นผู้เยาว์ หรือคนไร้ความสามารถ

(3)ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลในกรณีที่นิติบุคคลนั้นต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด

(4) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาของบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดซึ่งถึงแก่ความตายก่อนที่จะมีการยื่นคำร้อง หรือ

(5) พนักงานอัยการในกรณีที่พนักงานอัยการมิได้เป็นโจทก์ในคดีเดิม

มาตรา 7 ภายใต้บังคับมาตรา 6 (5) พนักงานอัยการจะยื่นคำร้องเมื่อเห็นสมควรหรือเมื่อบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา 6 (1) (2) (3) หรือ (4) ร้องขอก็ได้ และเพื่อประโยชน์ ในการรวบรวม พยานหลักฐาน ให้พนักงานอัยการ มีอำนาจ เช่นเดียวกับพนักงานสอบสวน ตามประมวล กฎหมาย วิธีพิจารณา ความอาญา

มาตรา 8 คำร้องให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นที่ได้พิพากษาคดีนั้นหรือศาลอื่นที่ได้มีเขตอำนาจแทนศาลนั้น เว้นแต่

(1) คดีของศาลอาญาศึกหรือศาลประจำหน่วยทหาร ให้ยื่นต่อศาลทหารกรุงเทพ

(2) คดีของศาลตามกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมที่กฎหมายกำหนดให้เป็นศาลทหารและศาลนั้นไม่เป็นศาลทหารสำหรับคดีนั้นแล้ว ให้ยื่นต่อศาลตามกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมที่เคยเป็นศาลทหารนั้น หรือศาลอื่นที่ได้มีเขตอำนาจแทนศาลนั้น

ในคำร้องดังกล่าวในวรรคหนึ่ง ต้องอ้างเหตุตามที่ระบุไว้ในมาตรา 5 โดยละเอียดชัดแจ้ง และถ้าประสงค์ จะขอค่าทดแทน เพื่อการที่ บุคคลใดต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด หรือขอรับสิทธิที่บุคคลนั้นเสียไปอันเป็นผลโดยตรงจากคำพิพากษานั้นคืน ให้ระบุการ ขอค่าทดแทน หรือขอรับสิทธิคืน ไว้ในคำร้องนั้นด้วย คำขอค่าทดแทนหรือขอรับสิทธิคืนนั้นมิให้เรียกค่าธรรมเนียมศาล

สิทธิดังกล่าวในวรรคก่อนมิให้รวมถึงสิทธิในทางทรัพย์สิน

ในกรณีที่ต้องยื่นคำร้องต่อศาลทหาร ให้บุคคลตามมาตรา 6 (1) (2) (3) และ (4) มีสิทธิ ดำเนินคดี ตามกฎหมาย ว่าด้วย ธรรมนูญ ศาลทหาร และแต่งทนายแทนตนได้

เพื่อประโยชน์ในการไต่สวนตามมาตรา 9 และการพิจารณาพิพากษาตามมาตรา 13 หรือการดำเนินการอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าศาลตาม (2) เป็นศาลทหาร

มาตรา 9 ให้ศาลที่ได้รับคำร้องทำการไต่สวนคำร้องนั้นว่ามีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่หรือไม่ เว้นแต่ ในกรณีที่ พนักงานอัยการ เป็นผู้ร้อง ศาลจะไต่สวนคำร้องหรือไม่ก็ได้ ถ้าเห็นว่าไม่จำเป็น ต้องไต่สวนคำร้อง ก็ให้ศาลสั่งรับคำร้อง และ ดำเนินการ พิจารณาคดี  ที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ต่อไป คำสั่งของศาลในกรณีเช่นนี้ให้เป็นที่สุด

ในการไต่สวนคำร้องตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลส่งสำเนาคำร้องและแจ้งวันนัดไต่สวนไปให้โจทก์ในคดีเดิมทราบ ในกรณีที่ โจทก์ในคดีเดิม มิใช่ พนักงานอัยการ ให้ส่ง สำเนา คำร้อง และแจ้งวันนัด ไต่สวน ให้พนักงานอัยการทราบด้วย พนักงานอัยการ และโจทก์ ในคดีเดิม จะมาฟัง การไต่สวน และ ซักค้านพยานของผู้ร้องด้วยหรือไม่ก็ได้ ผู้ร้องและโจทก์ในคดีเดิมมีสิทธิแต่งทนายแทนตนได้

เมื่อได้ไต่สวนคำร้องแล้ว ให้ศาลที่ไต่สวนคำร้องส่งสำนวนการไต่สวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์โดยไม่ชักช้า

ให้ผู้พิพากษา ตุลาการของศาลตามกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมที่กฎหมายกำหนดให้เป็นศาลทหาร หรือ ตุลาการ พระธรรมนูญ คนเดียวมีอำนาจไต่สวนคำร้องและทำความเห็นได้

มาตรา 10 เมื่อศาลอุทธรณ์ได้รับสำนวนการไต่สวนและความเห็นแล้ว ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องนั้นมีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ให้ศาลอุทธรณ์สั่งรับคำร้องและสั่งให้ศาลชั้นต้นที่รับคำร้องดำเนินการพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ต่อไป  แต่ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องนั้นไม่มีมูล ให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องนั้น

คำสั่งของศาลอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งให้เป็นที่สุด

มาตรา 11 เมื่อศาลสั่งรับคำร้องแล้ว ให้ศาลแจ้งวันนัดสืบพยานผู้ร้องไปให้พนักงานอัยการและโจทก์ในคดีเดิมทราบ ในกรณีที่ พนักงาน อัยการ หรือโจทก์ในคดีเดิมยังไม่ได้รับสำเนาคำร้องให้ส่งสำเนาคำร้องไปให้ด้วย พนักงานอัยการหรือโจทก์ในคดีเดิมมีสิทธิยื่นคำคัดค้านได้ก่อนวันสืบพยาน

เมื่อสืบพยานผู้ร้องเสร็จแล้ว พนักงานอัยการและโจทก์ในคดีเดิมมีสิทธินำพยานของตนเข้าสืบได้

เมื่อศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลจะเรียกพยานที่นำสืบมาแล้วมาสืบเพิ่มเติม หรือเรียกพยานอื่นมาสืบก็ได้

มาตรา 12 ในระหว่างดำเนินการพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ หากบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดกำลังรับโทษนั้นอยู่ ศาลชั้นต้นที่รับคำร้องจะสั่งปล่อยบุคคลนั้นชั่วคราวโดยมีประกันหรือมีประกันและหลักประกันด้วยก็ได้

มาตรา 13 การพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ ให้ศาลมีอำนาจ

(1) ในกรณีที่คำพิพากษาถึงที่สุดในคดีเดิมนั้นเป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น หรือ ศาลอาญาศึก ให้ศาลชั้นต้น ที่รับคำร้อง ดำเนินการพิจารณา พิพากษาต่อไป และถ้าเห็นว่าบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญา โดยคำพิพากษา ถึงที่สุด ในคดีเดิม ได้กระทำความผิด ก็ให้พิพากษายกคำร้องนั้นเสีย แต่ถ้าเห็นว่า บุคคลผู้ต้องรับโทษอาญา โดย คำพิพากษา ถึงที่สุดในคดีเดิมมิได้กระทำความผิด ให้พิพากษา ยกคำพิพากษาเดิม และพิพากษา ว่าบุคคลนั้น มิได้ กระทำ ความผิด

(2) ในกรณีที่คำพิพากษาถึงที่สุดในคดีเดิมเป็นคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ให้ศาลชั้นต้น ที่รับคำร้อง ดำเนินการพิจารณา และทำความเห็น ส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี พิจารณาเพื่อพิพากษายกคำร้อง หรือยกคำพิพากษาเดิม และ พิพากษาว่า บุคคลนั้นมิได้กระทำความผิด

ในกรณีที่มีคำขอค่าทดแทนหรือขอรับสิทธิคืนตามมาตรา 8 วรรคสองเมื่อศาลตาม (1) หรือ (2) พิพากษาว่าบุคคลนั้นมิได้กระทำความผิด ให้ศาลกำหนดค่าทดแทนหรือมีคำสั่งเกี่ยวกับการขอรับสิทธิคืนด้วย

มาตรา 14 การกำหนดค่าทดแทนให้กำหนดได้ไม่เกินจำนวนตามคำขอที่ระบุในคำร้องตามมาตรา 8 และตามหลักเกณฑ์ดังนี้

(1) ถ้าต้องรับโทษริบทรัพย์สิน ให้ได้รับทรัพย์สินที่ถูกริบนั้นคืน เว้นแต่ทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติว่าให้ริบ ไม่ว่าเป็นของผู้กระทำความผิดและมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ ถ้าไม่สามารถ คืนทรัพย์สินที่ถูกริบนั้นได้ ให้ได้รับชดใช้ราคา ของทรัพย์สิน ที่ถูกริบนั้น โดยถือราคาในขณะที่ศาลพิพากษาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ และถ้าทรัพย์สินที่ถูกริบเป็นเงิน ให้ได้รับเงินจำนวนนั้นคืน โดยศาล จะคิด ดอกเบี้ยให้ในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีของจำนวนเงินนั้น นับแต่ วันริบ จนถึงวันที่ศาลเห็นสมควรกำหนดก็ได้

(2) ถ้าต้องรับโทษปรับและได้ชำระค่าปรับต่อศาลแล้ว ให้ได้รับเงินค่าปรับคืน โดยศาลจะคิดดอกเบี้ยให้ใน อัตราร้อยละสิบห้า ต่อปี ของจำนวนเงินค่าปรับนับตั้งแต่วันชำระค่าปรับ จนถึงวันที่ศาลเห็นสมควรกำหนดก็ได้

(3) ถ้าต้องรับโทษกักขังหรือกักขังแทนค่าปรับหรือจำคุก ให้ได้รับค่าทดแทน เป็นเงินโดยคำนวณ จากวันที่ถูกกักขังหรือ ถูกจำคุก ในอัตราที่กำหนดไว้สำหรับการกักขังแทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา

(4) ถ้าต้องรับโทษประหารชีวิตและถูกประหารชีวิตแล้ว ให้กำหนดค่าทดแทนเป็นจำนวนเงินไม่เกินสองแสนบาท

(5) ถ้าถูกใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษอาญาให้ศาลกำหนดค่าทดแทนให้ตามที่เห็น สมควร

การสั่งให้ได้รับสิทธิคืนตามคำขอที่ระบุไว้ในคำร้องตามมาตรา 8 ถ้าไม่สามารถคืนสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเช่นว่านั้นได้ ให้ศาลกำหนดค่าทดแทนเพื่อสิทธินั้นให้ตามที่เห็นสมควร

มาตรา 15 เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 13 แล้ว พนักงานอัยการ ผู้ร้องหรือโจทก์ ในคดีเดิม ซึ่งเป็นคู่ความ มีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาได้ ดังนี้

(1) ถ้าคำพิพากษานั้นเป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษานั้นต่อศาลอุทธรณ์ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในกรณีเช่นนี้ให้เป็นที่สุด

(2) ถ้าคำพิพากษานั้นเป็นคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ มีสิทธิฎีกาคำพิพากษานั้นต่อศาลฎีกา

มาตรา 16 ให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีเด็กและ เยาวชน และกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหารมาใช้บังคับแก่การพิจารณาพิพากษาคดีตามพระราชบัญญัตินี้โดยอนุโลม

มาตรา 17 ในกรณีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีเดิมนั้นไม่ได้กระทำความผิด และศาลได้กำหนด ค่าทดแทนตามมาตรา 14 แล้ว ให้กระทรวงการคลังจ่ายค่าทดแทนตามจำนวนที่ระบุไว้ในคำพิพากษานั้น ถ้าผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทน ถึงแก่ความตายก่อนที่จะได้รับค่าทดแทน ให้กระทรวงการคลังจ่ายค่าทดแทนให้แก่ทายาท

มาตรา 18 คำร้องเกี่ยวกับผู้ต้องรับโทษอาญาคนหนึ่งในคดีหนึ่งให้ยื่นได้เพียงครั้งเดียว

มาตรา 19 เมื่อบุคคลต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดได้ยื่นคำร้องแล้ว ถึงแก่ความตาย ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือ ภริยา ของผู้ยื่นคำร้องนั้น จะดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปก็ได้

ในกรณีที่ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาของบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดเป็นผู้ยื่นคำร้องตามมาตรา 6 (4) เมื่อผู้ยื่นคำร้องนั้นถึงแก่ความตาย ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา ของบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญา โดยคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ จะดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปก็ได้

มาตรา 20 คำร้องให้ยื่นได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ปรากฏข้อเท็จจริงตามมาตรา 5 หรือภายในสิบปีนับแต่วันที่คำพิพากษาในคดีเดิมถึงที่สุด แต่เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษศาลจะรับคำร้องที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวข้างต้นนั้นไว้พิจารณาก็ได้

มาตรา 21 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการคลัง รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ป. ติณสูลานนท์

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้บุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดมีสิทธิขอรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ในภายหลังหากปรากฏหลักฐานขึ้นใหม่ว่าบุคคลนั้นมิได้เป็นผู้กระทำความผิดและกำหนดให้มีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทน และได้รับบรรดาสิทธิที่เสียไปเพราะผลแห่งคำพิพากษานั้นคืน หากปรากฏตามคำพิพากษาของศาลที่พิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ว่าบุคคลผู้นั้นมิได้กระทำความผิดจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Weekly Reload Bonus - Neon 54 casino!