Hot! ข้อกำหนดประธานศาลฎีกาว่าด้วยการขออนุญาตฎีกาในคดีแพ่ง พ.ศ. 2558

ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา
ว่าด้วยการขออนุญาตฎีกาในคดีแพ่ง
พ.ศ. ๒๕๕๘


อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๔๙ วรรคสอง (๖) และมาตรา ๒๕๐ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
(ฉบับที่ ๒๗) พ.ศ. ๒๕๕๘ ประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาออกข้อกำหนดไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ข้อกำหนดนี้เรียกว่า “ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการขออนุญาตฎีกาในคดีแพ่ง พ.ศ. ๒๕๕๘”

ข้อ ๒ ข้อกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ ๓ ในข้อกำหนดนี้ ถ้าข้อความมิได้แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
“คำร้อง” หมายความว่า คำร้องขออนุญาตฎีกาตามมาตรา ๒๔๗
“ผู้ร้อง” หมายความว่า คู่ความผู้ยื่นคำร้อง
“ศาลชั้นต้น” หมายความว่า ศาลซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในชั้นต้น
“องค์คณะผู้พิพากษา” หมายความว่า องค์คณะผู้พิพากษาตามมาตรา ๒๔๘ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและวินิจฉัยคำร้อง

ข้อ ๔ ในกรณีจำเป็นต้องมีวิธีการใดในทางธุรการเพื่อให้การปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้เป็นไปโดยเรียบร้อย ให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้กำหนดวิธีการนั้น

ข้อ ๕ ให้ประธานศาลฎีการักษาการและมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติรวมทั้งออกระเบียบ ประกาศ คำสั่ง หรือคำแนะนำเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้

หมวด ๑
การยื่นคำร้อง

ข้อ ๖ การขออนุญาตฎีกา ให้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นโดยต้องแสดงถึง
(๑) ปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อกฎหมายที่ขออนุญาตฎีกาโดยชัดแจ้ง และ
(๒) ปัญหาที่ขออนุญาตฎีกานั้นเป็นปัญหาสำคัญดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๔๙ หรือในข้อกำหนดนี้ซึ่งศาลฎีกาควรรับวินิจฉัย

ข้อ ๗ ผู้ร้องต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องฎีกาโดยเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาและต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมกับคำฟ้องฎีกานั้นด้วย เว้นแต่จะได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล

ถ้าผู้ร้องไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลชั้นต้นรีบส่งคำร้องพร้อมสำนวนความไปยังศาลฎีกากรณีเช่นว่านี้ ให้องค์คณะผู้พิพากษามีคำสั่งไม่รับคำร้องและไม่รับฎีกาโดยสั่งคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดหากมี ให้แก่ผู้ร้อง

ข้อ ๘ ให้ศาลชั้นต้นมีอำนาจตรวจคำร้องและคำฟ้องฎีกาและมีคำสั่งตามมาตรา ๑๘ หากผู้ร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ให้ศาลชั้นต้นรีบส่งคำร้องและคำฟ้องฎีกาดังกล่าวพร้อมสำนวนความไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาสั่งต่อไป
กรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าองค์คณะผู้พิพากษาเห็นว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นถูกต้อง ให้มีคำสั่งไม่รับคำร้องและไม่รับฎีกา หรือถ้าไม่มีคำร้องก็ให้สั่งไม่รับฎีกาและสั่งคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดหากมี ให้แก่ผู้ร้อง

ข้อ ๙ ในกรณีมีการขอขยายระยะเวลาใด ๆ เช่น การยื่นคำร้องหรือคำฟ้องฎีกา หรือการชำระหรือวางเงินตามข้อ ๗ หากศาลชั้นต้นเห็นสมควรอนุญาตให้ขยาย ให้ศาลชั้นต้นสั่งตามที่เห็นสมควร หากจะไม่อนุญาตให้ศาลชั้นต้นรีบส่งคำร้องขอขยายระยะเวลาพร้อมสำนวนความไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาสั่งโดยเร็วต่อไป

ข้อ ๑๐ เมื่อศาลชั้นต้นได้ตรวจคำร้องและคำฟ้องฎีกาตามข้อ ๘ แล้ว ให้รีบส่งสำเนาคำร้องและคำฟ้องฎีกานั้นให้คู่ความอีกฝ่ายแล้วส่งคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาและสำนวนความไปยังศาลฎีกาโดยเร็ว ทั้งนี้ ไม่จำต้องรอคำคัดค้านของคู่ความฝ่ายนั้น แต่ในกรณีที่คู่ความอีกฝ่ายได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาด้วย ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการเกี่ยวแก่คำร้องดังกล่าวให้เสร็จสิ้นเสียก่อน แล้วจึงส่งคำร้องและคำฟ้องฎีกาของคู่ความทุกฝ่ายไปยังศาลฎีกาในคราวเดียวกัน

ถ้ามีการยื่นคำคัดค้านภายหลังที่ได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว ก็ให้ส่งคำคัดค้านนั้นไปยังศาลฎีกาเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัย

ในกรณีที่มีการยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีในระหว่างฎีกา ให้ศาลชั้นต้นรีบส่งคำร้องนั้นไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาและห้ามมิให้มีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องนั้นจนกว่าศาลฎีกาจะมีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกา ทั้งนี้ ไม่กระทบถึงอำนาจในการสั่งงดการบังคับคดีหรือถอนการบังคับคดีตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

หมวด ๒
การพิจารณาวินิจฉัยคำร้อง การรับฎีกาและการแก้ฎีกา


 

ข้อ ๑๑ การขอแก้ไขคำร้องหรือคำฟ้องฎีกาให้กระทำได้ภายในกำหนดระยะเวลาตามมาตรา ๒๔๗ วรรคสองหรือตามที่ศาลมีคำสั่งให้ขยายออกไป

ข้อ ๑๒ การพิจารณาคำร้องตามมาตรา ๒๔๘ องค์คณะผู้พิพากษาพึงพิจารณาวินิจฉัยและมีคำสั่งให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้รับสำนวนหรือตามระเบียบของประธานศาลฎีกา

ข้อ ๑๓ ปัญหาสำคัญอื่นตามมาตรา ๒๔๙ วรรคสอง (๖) ได้แก่ กรณีดังต่อไปนี้

(๑) คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์มีความเห็นแย้งในสาระสำคัญ
(๒) คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายสำคัญที่ไม่สอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันกับประเทศไทย

ข้อ ๑๔ ในกรณีที่องค์คณะผู้พิพากษาเห็นว่า ปัญหาตามคำร้องทั้งหมดหรือบางข้อเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย ให้มีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาและสั่งรับฎีกาทั้งหมดหรือบางข้อไว้พิจารณาแล้วส่งให้ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งดังกล่าวให้คู่ความฟัง

จำเลยฎีกาอาจยื่นคำแก้ฎีกาต่อศาลชั้นต้นได้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันฟังคำสั่งและภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่จำเลยฎีกายื่นคำแก้ฎีกาหรือนับแต่ระยะเวลาที่กำหนดไว้สำหรับการยื่นคำแก้ฎีกาได้สิ้นสุดลง ให้ศาลชั้นต้นส่งคำแก้ฎีกาไปยังศาลฎีกาหรือแจ้งให้ทราบว่าไม่มีคำแก้ฎีกาเมื่อศาลฎีกาได้รับคำแก้ฎีกาหรือแจ้งความเช่นว่าแล้ว ให้นำคดีลงสารบบความโดยพลัน

การขอขยายระยะเวลายื่นคำแก้ฎีกา ให้ยื่นภายในกำหนดระยะเวลาตามวรรคสอง และให้นำความในข้อ ๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ข้อ ๑๕ ในกรณีที่องค์คณะผู้พิพากษาเห็นว่า คำร้องมิได้ปฏิบัติตามข้อ ๖ หรือปัญหาตามคำร้องทั้งหมดมิใช่ปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย ให้มีคำสั่งยกคำร้องและไม่รับฎีกาแล้วส่งสำนวนความคืนศาลชั้นต้นเพื่อแจ้งให้คู่ความทราบโดยเร็ว

คำสั่งที่ไม่อนุญาตตามวรรคหนึ่งให้แสดงเหตุผลโดยย่อและให้องค์คณะผู้พิพากษามีอำนาจสั่งคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแก่ผู้ร้องได้ตามที่เห็นสมควร

ข้อ ๑๖ ในกรณีที่มีคู่ความหลายฝ่ายต่างยื่นคำร้อง ให้วินิจฉัยโดยทำเป็นคำสั่งฉบับเดียวกันก็ได้

หมวด ๓
การพิจารณาและพิพากษาคดีในศาลฎีกา


ข้อ ๑๗ องค์คณะผู้พิพากษาที่พิจารณาสั่งอนุญาตให้ฎีกาคดีใด อาจเป็นองค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาพิพากษาคดีนั้น
ประกาศ ณ วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๘
วีระพล ตั้งสุวรรณ
ประธานศาลฎีกา

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Weekly Reload Bonus - Neon 54 casino! Immediate Vault Immediate Byte Pro Invest Wave Max Cógaslann ar líne Clonaslee Pharmacy leis na praghsanna is fearr in Éirinn